0

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตกอย่างรุนแรง ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ?
ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบ เท่าที่ดูเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ราคาตกไปที่ 32.5 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลแล้ว ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่บอกว่าราคาน้ำมันใน 5-6 ปีนี้จะอยู่ในระดับไม่เกิน 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาเรล เท่านั้น และโอากาสที่เห็นราคาน้ำมันดิบขึ้นถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาเรลนั้นยากในเวลาสี่ห้าปีข้างหน้านี้
ผมเคยเขียนบทความใน FB หลายครั้งแล้วว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีโอกาสที่จะตกลงมาที่ระดับ 20-30 เหรียญสหรัฐ/บาเรล และอาจต่ำกว่า 20 เหรียญในช่วงเวลาสั้นๆ ด้วย ผมเคยให้เหตุผลว่าราคาน้ำมันดิบนั้น จะไม่ราบเรียบ แต่จะขึ้นถึงที่สุด และต่ำถึงที่สุดเช่นกัน เป็นคุณลักษณะเฉพาะของสินค้าที่มี Marginal Cost ต่ำ แต่ Total Cost สูงมาก ราคาจะไม่มีเสถียรภาพ ราคาน้ำมันดิบเคยตกไปที่ 9.37 เหรียญ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1999 และขึ้นสูงสุดถึง 147 เหรียญ ในปี 2008
นักวิเคราะห์บางสำนักได้ให้เหตุผลถึงสาเหตุที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตกต่ำ มีดังนี้ครับ
1.เกิดจากปัญหาพื้นฐานคือ ความต้องการใช้น้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัว การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และมีพลังงานทดแทนอื่นๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น
2. ภาวะสงครามในอิรัก และลิเบีย ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก 2 ราย แต่ไม่มีผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบของสองประเทศนี้ ทำให้ตลาดคาดการในทิศทางที่ดี ต่อความเสี่ยงเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองจะไม่กระทบต่อการผลิตน้ำมัน
3. อเมริกันกลายเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก จาก Shale Oil และ Shale Gas (แต่ก็บริโภคน้ำมันดิบสูงสุดในโลกเช่นกัน) แม้อเมริกาจะไม่ส่งออกน้ำมันดิบ แต่ก็นำเข้าน้อยลงมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกล้นตลาด
4. ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเปอร์เซีย ไม่ลดกำลังการผลิต เพราะกลัวเสียส่วนแบ่งการตลาด
นั่นเป็นสาเหตุหลักๆ ที่มีผู้รวบรวมไว้ครับ
ผลของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ตกต่ำนี้ แทนที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกเหมือนในอดีตสมัยปี 1980s แต่กลับส่งผลเสียแทน เนื่องจากน้ำมันดิบเป็นสินค้าโภคภันณฑ์ที่มูลค่ารวมสูงที่สุดในโลก ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเมื่อราคาตก ทำให้กำลังซื้อหายไปมากเกินครึ่งของตลาด ส่วนประเทศอุตสาหกรรมเช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เมื่อกำลังซื้อของประเทศผู้ผลิตน้ำมันหายไป การส่งออกในประเทศอุตสาหกรรมก็ลดลงไปด้วย เศรษฐกิจเลยชะลอตัวมากเช่นกัน
นอกจากนี้ ภาษีสรรพสามิตน้ำมันของประเทศอุตสาหกรรมน้ันค่อนข้างสูง (เพื่อให้เกิดการประหยัด) เมื่อราคาน้ำมันตก รายได้จากภาษีของรัฐบาลในยุโรป อเมริกา ก็ลดลงไปจำนวนมากด้วย ส่งผลต่อดุลงบประมาณเช่นกัน
เวเนซุเอล่า ผู้ส่งออกรายใหญ่นั้น รายได้ลดลงไปกว่า 3 เท่า ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ประชาชนถึงกับวิตกว่าเวเนซุเอล่าจะไม่สามารถนำเข้าอาหารได้เพียงพอหากไม่มีรายได้จากน้ำมัน ทั้งนี้ เวเนซุเอล่ายังผลักดันให้ ซาอุดิอารเบียลดกำลังการผลิต เพื่อผลักให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น แต่ซาอุฯ ไม่ยอม เพราะกลัวว่า ประเทศนอกโอเปค เช่น รัสเซีย กับอเมริกา จะเข้ามาแย่งตลาดมากขึ้น ยิ่งสหรัฐอเมริกาที่การผลิตน้ำมันดิบอยู่ในภาคเอกชน หากมีช่องว่างทางการตลาด เอกชนย่อมเพิ่มปริมาณการผลิตแย่งส่วนแบ่งการตลาดนี้
ประเทศไทยนั้น ผลกระทบทางอ้อมจากราคาน้ำมันดิบตกคือ สินค้าหลักทางการเกษตรของไทย เช่น ข้าว ยางพารา และอื่นๆ มีความผูกพันกับราคาน้ำมันดิบมากพอสมควร ข้าวนั้นคาดว่า กำลังซื้อของประเทศผู้ผลิตน้ำมันตกไป ราคาเลยตกตาม ส่วนยางพารานั้น มีความเกี่ยวพันโดยตรงมากกว่าข้าว ประเทศไทยเลยกระทบจากราคาน้ำมันดิบเช่นกัน
ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้มาตรการประหยัดพลังงานต่างๆ ของประเทศไทย จะได้ผลลดลง เพราะเมื่อราคาน้ำมันถูกไปนานๆ คนก็จะลืมยุคน้ำมันแพงไปเช่นกัน (ทางแก้ก็ต้องเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันหรือ เพิ่มเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อให้ราคาน้ำมันยังคงสูง แต่ประชาชนก็จะต่อต้าน)
ข้อจำกัดอื่นๆ ต่อราคาน้ำมันดิบเช่น การพัฒนารถไฟฟ้า และปัญหาเรื่อง การจำกัดการปล่อยก๊าซ CO2 ทำให้ต้องมีมาตรการส่งเสริมพลังงานทดแทน หรือรถไฟฟ้า ส่งผลต่อ "ความต้องการใช้น้ำมันดิบ" ในอนาคตโดยตรงเช่นกัน


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top