0
การเดินอวกาศมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง ?

เมื่อวันจันทร์ (21 ธ.ค.) นักบินอวกาศจากสถานีอวกาศนานาชาติได้ออกเดินอวกาศ เพื่องานซ่อมแซมบางอย่าง งานสำเร็จลงด้วยดี แต่การออกจากสถานีอวกาศซึ่งเป็นสถานที่ปลอดภัยมีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ เจสัน คาฟเฟรย์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีคุยกับผู้เชี่ยวชาญว่า มีเรื่องไหนบ้างที่นักบินอวกาศจำเป็นต้องระมัดระวัง

1. จมน้ำในอวกาศ 
ชุดนักบินอวกาศ มีลักษณะคล้ายกับยานอวกาศขนาดเล็กส่วนบุคคล ซึ่งอาจมีโอกาสทำงานผิดปกติได้ ในการเดินอวกาศเมื่อปี 2556 ลูกา ปาร์มิตาโน นักบินอวกาศชาวอิตาลีพบว่า มีน้ำไหลเข้าไปในหมวกนักบินอวกาศ เนื่องจากระบบหมุนเวียนอากาศในชุด มีรอยรั่ว ของเหลวจึงไม่เคลื่อนที่จนกว่าจะอยู่ในภาวะแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ น้ำจึงแช่อยู่ในหมวกจนเขาเกือบจมน้ำ เขาต้องร่นเวลาเดินอวกาศให้สั้นลง เพื่อกลับเข้าสถานีอวกาศ เขาเผยว่าตอนนั้นพยายามสื่อสารกับศูนย์ภาคพื้นดินว่ามองไม่เห็นทาง แต่ทางภาคพื้นดินไม่ได้ยิน และเขาก็ไม่ได้ยินเสียงทางภาคพื้นดินด้วย เขาจึงต้องพยายามคลำทางกลับเข้าไปที่ห้องแอร์ล็อคของสถานีอวกาศ เพื่อจัดการกับปัญหาน้ำในหมวก

ปาร์มิตาโนไม่ได้เป็นนักบินอวกาศคนแรกที่เจอปัญหาเกี่ยวกับชุดนักบินอวกาศ เมื่อครั้งที่ คริส แฮดฟิลด์ นักบินอวกาศชาวแคนาดากำลังถือเครื่องเจาะทำงาน ขณะออกเดินอวกาศครั้งแรกเมื่อปี 2544 เขารู้สึกระคายเคืองที่ตา ไม่ทันไรก็เหมือนกับมีน้ำตาออกมาจากตาข้างซ้ายและข้างขวา ทำให้เขามองไม่เห็น

ตอนแรกเขาเกรงว่า อาการระคายเคืองที่ตา อาจเป็นเพราะมีก๊าซพิษรั่วอยู่ในชุดนักบิน ศูนย์ภาคพื้นดินแนะให้เขาใช้อากาศสำหรับหายใจ ไล่อากาศที่อาจมีสิ่งปนเปื้อนออกไป แต่เขาไม่อยากทำตาม เพราะอากาศสำหรับหายใจเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินอวกาศ อย่างไรก็ตามสักครู่ น้ำตาช่วยบรรเทาอาการระเคืองให้หายและเขามองเห็นได้อีกครั้ง โดยที่เขาไม่ได้ทำตามคำแนะนำของภาคพื้นดิน และสามารถเดินอวกาศครบตามแผน จากการตรวจสอบพบว่าน้ำยาสำหรับป้องกันการเกิดฝ้าที่อยู่ในกระบังหน้าของหมวกเป็นตัวที่ทำให้เขาระคายเคืองตา

2. ลอยไปในอวกาศ
ที่ผ่านมาไม่เคยมีนักบินอวกาศคนไหนลอยไปในอวกาศ แฮดฟิลด์บอกว่านี่เป็นเรื่องที่เขากลัวมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง นักบินทุกคนที่ออกเดินอวกาศจะต้องผูกสายเคเบิลเหล็กกล้ายาว 26 เมตร ที่โยงติดกับสถานีอวกาศ ไว้กับตัวตลอดเวลา ตามปกติแล้ว ตอนเดินอวกาศ นักบินอวกาศทำงานกันเป็นคู่ โอกาสที่คนใดคนหนึ่งจะหลุดลอยไปในอวกาศมีน้อยมาก แฮดฟิลด์อธิบายว่า นักบินแต่ละคนสวมยานบินส่วนบุคคล หากเกิดการหลุดลอยไป ก็สามารถบังคับยานบินส่วนบุคคลให้พากลับมายังสถานีอวกาศได้ อย่างไรก็ตาม ตอนที่นักบินอวกาศชาวอเมริกัน 2 คน ออกไปซ่อมแผงเซลล์แสงอาทิตย์นอกสถานีอวกาศสกายแลป เมื่อปี 2516 ตอนนั้นยังไม่มียานบินส่วนบุคคล หลังจากที่ซ่อมเสร็จ พวกเขาถูกเหวี่ยงออกไปในอวกาศ โชคดีที่ทั้งสองเกี่ยวสายเคเบิลติดไว้กับตัว จึงรอดจากการลอยไปในอวกาศได

3. เลือดเดือด
ชุดสำหรับการเดินอวกาศเป็นชุดปรับความดันและอุณหภูมิ เพื่อใช้ในภาวะที่เกือบเป็นสุญญากาศในห้วงอวกาศ และหากมีรอยรั่วอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ที่น่าเป็นห่วงเรื่องหนึ่งในกรณีดังกล่าว คือนักบินขาดอากาศหายใจ และหากความดันในชุดลดลงอย่างฮวบฮาบ นักบินอวกาศอาจจะหมดสติในเวลา 15 วินาที

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) เคยทดลองเรื่องดังกล่าวที่ห้องทดลองในเมืองฮุสตันมาแล้ว เมื่อปี 2509 มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งอยู่ในห้องที่เกือบสุญญากาศ เขาบรรยายว่าก่อนหมดสติ รู้สึกได้ว่าน้ำลายในช่องปากกำลังพรายฟองเดือด ส่วนในอวกาศ หากไม่มีชุดอวกาศที่เป็นฉนวนกั้นความแตกต่างระหว่างความดันในร่างกายและภาวะสุญญากาศ ของเหลวในร่างกายจะเดือด เพราะว่าอากาศและก๊าซต่าง ๆ ในร่างกายขยายตัว และเรื่องที่ทำให้เสียชีวิต ไม่ได้มาจากการที่สมองขาดออกซิเจน แต่จากการที่ของเหลวในร่างกายเดือด ซึ่งจะเป็นการตายที่รวดเร็วกว่าภาวะสมองขาดออกซิเจนด้ว

4. ความเหนื่อยล้า
ตอนที่สกอตต์ เคลลี กับคเจลล์ ลินด์เกรน สองนักบินอวกาศจากสหรัฐฯ ออกเดินอวกาศเป็นครั้งแรก พวกเขาใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง ในการเดินอวกาศเพื่อทำงานรอบ ๆ ตัวสถานีอวกาศ แม้ว่าชุดเดินอวกาศที่มีน้ำหนัก 160 กิโลกกรัมจะไร้น้ำหนักเมื่ออยู่ในอวกาศ แต่ก็เป็นชุดที่ใหญ่ เทอะทะ ทำงานได้ไม่คล่อง

แฮดฟิลด์อธิบายว่าหากใช้นิ้วจิ้มไปที่นักบินที่ใส่ชุดเดินอวกาศของนาซา จะรู้สึกเหมือนกับมีแรงต้าน คล้ายกับจิ้มไปที่ลูกวอลเลย์บอล นอกจากนั้นก้าวเดินแต่ละก้าว หลังจากที่สวมชุดเดินอวกาศแล้วนั้น ต้องออกแรงมากด้วย การเดินอวกาศจึงเป็นภารกิจที่ใช้แรงงานมาก และการที่ในอวกาศไม่มีแรงโน้มถ่วงที่ช่วยพยุงนักบินอวกาศ นักบินที่ออกเดินอวกาศจึงไม่สามารถที่จะยืนตรงจุดใดจุดหนึ่งได้ในขณะที่ทำงาน ดังนั้นพวกเขาจึงต้องพยายามบังคับกล้ามเนื้อเพื่อให้ร่างกายอยู่นิ่ง ๆ ตรงที่ทำงานตลอดเวลา และในช่วงเวลาที่เหนื่อยล้า อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได

5. เรื่องที่ไม่คาดคิด
องค์ความรู้เกี่ยวกับการเดินอวกาศมีเพิ่มขึ้นมาก นับตั้งแต่ที่อเล็กซี เลโอนอฟ นักบินอวกาศของสหภาพโซเวียตออกเดินอวกาศเป็นคนแรกของโลกเมื่อปี 2508 เขาใช้เวลาเดินอวกาศนอกยานอวกาศ เพียง 12 นาที แต่เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะวิศวกรที่ออกแบบชุดไม่ได้คำนวณถึงการที่ชุดนักบินขยายตัวภายใต้ภาวะไร้แรงโน้มถ่วงในอวกาศ จังหวะที่เขาพยายามกลับเข้ายาน เขาลอดตัวผ่านประตูของยานไม่ได้ เขาจึงต้องกดปุ่มเพื่อปรับแรงดันในชุด เพื่อให้ชุดหดตัวลง เขาจึงสามารถเข้ายานได้

หลังจากนั้น ในปีเดียวกัน เอด ไวท์ เป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกของนาซาออกเดินอวกาศ เขารู้ดีว่าตัวสปริงที่ประตูของยานเจมินี 4 มีปัญหาทำให้ปิดและเปิดประตูได้ยาก จังหวะที่เขากลับเข้ามาในยานเจมินี หลังจากเดินอวกาศเสร็จ มีช่วงสั้น ๆ ที่เขารู้สึกว่าปิดประตูให้สนิทไม่ได้ ซึ่งถ้าหากเป็นจริง ยานเจมินีจะเดินทางกลับสู่โลกไม่ได้ ตอนนั้นนักบินอวกาศที่เป็นผู้บังคับการยาน ที่อยู่ในส่วนของยานที่จะใช้เดินทางกลับโลก ออกคำสั่งไปแล้วว่าให้ปล่อยไวท์ทิ้งไว้ หากเขาขาดอากาศหรือหมดสติ

แฮดฟิลด์ชี้ว่า สมัยนี้เรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ว่าจะเกิดขึ้น ได้ลดลงไปมากแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้น #SpaceExploration #SpaceWalk

ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) การเดินอวกาศของนักบินนาซา

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top