กลุ่มตรวจสอบธุรกิจของสวีเดนชี้มีการละเมิดสิทธิคนงานในโรงงานผลิตเนื้อไก่เพื่อส่งออกของไทย
รายงานโดยกลุ่ม Swedwatch และ Finnwatch ของสวีเดน ออกเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา เจาะปัญหาการใช้แรงงานในโรงงานผลิตเนื้อไก่เพื่อส่งออกของไทย ชี้มีการละเมิดสิทธิคนงานซึ่งเป็นคนต่างชาติ กัมพูชาและเมียนมาอย่างหนักไม่ว่าจะตามกฎหมายไทยหรือตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ขณะที่ปลายทาง ธุรกิจนำเข้าในสวีเดนก็ไม่กระตือรือร้นในการทำตามคำแนะนำให้วางเงื่อนไขในการดูแลสิทธิคนงานไว้ในการทำธุรกิจ ด้านผู้ส่งออกไทยยืนยันทำตามกฎหมาย หากจะมีปัญหาก็อยู่ในส่วนของนายหน้า
รายงานเรื่อง Trapped in the kitchen of the world: the situation for migrant workers in Thailand’s poultry industry. จัดทำโดย Swedwatch ที่เป็นกลุ่มตรวจสอบการทำงานของภาคธุรกิจสวีเดนในต่างประเทศ และ Finnwatch ซึ่งจับตาการแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจ รายงานเป็นผลจากการสัมภาษณ์แรงงาน 98 คนมีทั้งหญิงและชายจาก 6 โรงงานของ 4 กิจการส่งออกเนื้อไก่ของไทย
รายงานระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้สวีเดนซึ่งเป็นผู้นำเข้าเนื้อไก่รายใหญ่จากไทย ได้เริ่มประกาศใช้ “แผนปฏิบัติการระดับชาติสำหรับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” หรือ National Action Plan for Business and Human Rights แผนนี้คาดหวังให้กิจการของสวีเดนทำธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนและทำตามคำแนะนำของสหประชาชาติในเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP) ซึ่งเป็นที่มาของการที่ Swedwatch เข้าตรวจสอบการทำงานของธุรกิจสวีเดนในการค้าขายกับคู่ค้าคือไทยที่ป้อนสินค้าให้ว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่
แรงงานทั้งหมดที่ถูกสัมภาษณ์บอกว่า หนังสือเดินทางของพวกเขาและใบอนุญาตทำงานล้วนถูกนายจ้างหรือนายหน้ายึดไว้ แต่ละคนมีหนี้สินผูกพันในระดับต่างๆกันไปอันเนื่องมาจากการเรียกเก็บค่านายหน้าซึ่งถือว่าผิดกฎหมายรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่มีใครได้ประกันสุขภาพแม้ว่าจะมีการหักเงินจากเงินเดือนของคนงานก็ตาม นอกจากนี้ยังมีคนงานในโรงงานบางแห่งบอกว่ามีการใช้แรงงานเด็ก บางคนอายุ 14 ปีก็มี ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายแรงงานของไทยเอง การเก็บเอกสารของพวกเขาเอาไว้ก็ทำให้คนงานเหล่านี้ขาดอิสระ เดินทางได้ยาก หากทำก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินเพราะไม่มีเอกสารสำคัญ รายงานบอกว่า โรงงานทุกแห่งที่ศึกษามีการละเมิดแรงงานในระดับต่างๆกันไป และมีการใช้ความรุนแรงโดยผู้คุมคนงานและนายหน้า ซึ่งขัดทั้งต่อกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ การเอารัดเอาเปรียบและทำร้ายคนงานทั้งหมดนี้ทำให้คนงานแต่ละคนอยู่ในสภาพอับจนและไม่มีทางไป
รายงานบอกว่าวิธีการละเมิดหลายอย่างเมื่อตรวจสอบกับข้อบัญญัติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศแล้วพบว่าทำให้พฤติกรรมการนำคนมาจ้างงานนี้เข้าข่ายการลักลอบขนคนเข้าเมืองเพื่อนำมาฉวยประโยชน์ใช้แรงงาน
อีกด้านรายงานของ Swedwatch และ Finnwatch บอกว่า ธุรกิจนำเข้าไก่ของสวีเดนเองก็ละเลยไม่ดูแลสิทธิคนงาน นำเข้าโดยไม่ตั้งเงื่อนไขกับผู้ผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของรัฐบาลและยูเอ็น มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ทำตามคือ บริษัท Axfood ที่บรรจุข้อแนะนำในการปฏิบัติ UNGP เข้าไว้ในแผนการจัดหาสินค้าซึ่งก็เพิ่งทำเมื่อปีที่แล้วนี้เอง
ในเนื้อหาของรายงานส่วนที่อาจกล่าวได้ว่าจะมีผลให้มีการสนับสนุนการเข้มงวดแก่ผลิตภัณฑ์ต่างชาติมากขึ้น คือส่วนที่ระบุว่า การแยกผลิตภัณฑ์จากภายนอกอียูออกจากผลิตภัณฑ์ภายในทำได้ยากมาก โดยรายงานบอกว่า ผลของการสำรวจโดย Swedwatch ที่สำรวจเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่สุด 5 ราย มีรายหนึ่งบอกว่า ได้ใช้เนื้อไก่จากไทยแต่ไปบรรจุหีบห่อใหม่ในชื่อของตัวเอง ผู้ค้าปลีกอีกหลายรายก็มีเนื้อไก่จากไทยผสมผสานในผลิตภัณฑ์ไก่ในชื่อที่ไม่ใช่ของตนเอง รายงานระบุว่าผลการสำรวจทำให้เห็นชัดว่า แม้แต่สินค้าที่เขียนว่ามาจากอียูก็ยังอาจจะมาจากประเทศที่สามเช่นไทยก็ได้ ทำให้ยากจะบอกได้ว่าสินค้าจากไทยเข้าไปยังตลาดเช่นสวีเดนปีละเท่าไหร่แน่
รายงานดังกล่าวนี้ได้รวมเอาคำชี้แจงจากบริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่ของไทย 4 รายเข้าไว้ด้วย โดยมีการสอบถามหลายเรื่อง ประเด็นใหญ่ๆคือเรื่องของการเก็บเงินค่านายหน้า การยึดเอกสาร การข่มขู่ทำร้ายคนงานโดยซูเปอร์ไวเซอร์ในโรงงาน ในเรื่องของการเก็บค่านายหน้า เจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีตอบว่าขณะนี้บริษัทแก้ปัญหาด้วยการจ้างตรงเพื่อไม่ให้คนงานถูกเอาเปรียบ แต่เนื่องจากเป็นนโยบายใหม่ อาจมีคนที่ยังไม่รู้ ส่วนเรื่องว่ามีการข่มขู่คนงานนั้น บริษัทจะเฝ้าระวังไม่ให้มีปัญหานี้เกิดขึ้น สำหรับเรื่องที่คนงานบ่นว่าไม่ได้รับการประกันภัย บริษัทบอกว่าต้องจ่ายเงินเข้าระบบ 90 วันก่อนจึงจะได้รับบัตร แต่ในระหว่างนั้นก็ยังถือว่าได้รับการคุ้มครอง
ซีพีและสหฟาร์มต่างระบุว่า การเก็บเอกสารคนงานนั้นทำเฉพาะเวลาที่จะนำไปต่อใบอนุญาตให้กับคนงานซึ่งสหฟาร์มระบุว่า ต้องใช้เวลาถึง 105 วัน ขณะที่ซีพีบอกว่า 90 วัน แต่ต้องบวกเวลาในการรวบรวมและส่งเรื่องซึ่งกินเวลาเกือบ 20 วัน พวกเขาปฏิเสธว่าไม่เคยเรียกเก็บเงินจากคนงาน
ผู้ทำรายงานมีคำถามถึงเซนทาโก้/สกายฟูดอ้างที่คนงานบอกว่าต้องจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้นายหน้า 1,000 บาท ซึ่งได้รับคำตอบว่าเป็นเงินที่ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นเรียกเก็บเป็นค่าขยายพื้นที่การทำงาน นอกจากนั้นอีกหลายเรื่องบริษัทต่างๆเช่นเซ็นทาโก้ และสหฟาร์มต่างชี้แจงว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของบริษัทแต่เป็นเรื่องระหว่างซับคอนแทรคเตอร์หรือผู้เช่าเหมาช่วงกับคนงาน เช่นการยึดสมุดบัญชีคนงาน การเรียกเก็บเงินพิเศษ กับคำถามเรื่องมีการจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 สหฟาร์มและแหลมทองต่างปฎิเสธ ในเรื่องของการทำร้ายหรือใช้ถ้อยคำรุนแรงกับคนงาน ผู้ผลิตรายใหญ่ๆต่างบอกว่า มีการอบรมซูเปอร์ไวเซอร์และตรวจสอบเสมอหากมีการกระทำดังกล่าวจะถูกลงโทษ
ผู้ทำรายงานได้ตั้งคำถามเรื่องคนงานบอกว่าไม่มีสัญญาจ้าง บริษัทแหลมทองระบุว่าบริษัทเป็นผู้เก็บไว้เพราะตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องให้กับลูกจ้าง พร้อมกับปฎิเสธเรื่องอื่นๆที่คนงานกล่าว ไม่ว่าเรื่องบังคับทำงานล่วงเวลา หรือไม่ให้หยุดในบางวัน มีคำถามถึงแหลมทองด้วยว่า คนงานระบุเงื่อนไขการทำงานเช่นห้ามพักเข้าห้องน้ำนานเกินวันละ 15 นาที นานเกินนั้นจะถูกหักเงิน โดยบอกว่าในทุกโรงงานมีห้องน้ำ และคนงานสามารถไปใช้ได้ในระหว่างที่ทำงาน ส่วนเรื่องไม่มีน้ำดื่มที่สะอาดไว้ให้นั้น แหลมทองปฏิเสธว่าไม่จริงแต่ก็บอกว่า พนักงานที่ทำความสะอาดอุปกรณ์ประกอบไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องนี้ดังนั้นเมื่อไม่นานมานี้ได้ตัดสินใจจ้างคนนอกเข้าไปจัดการแทน
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น