0

iLaw
"หมอหยอง" หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ เป็นผู้ต้องหามาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์รายล่าสุดที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว ซึ่งเป็นรายที่ 3 ที่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ
โดยเฉพาะสองรายล่าสุดที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวใน "เรือนจำพิเศษ" ที่จัดตั้งขึ้นในพื้นที่ค่ายทหาร มทบ.11 จึงนำไปสู่การตั้งคำถามของสังคมต่อ การมีเรือนจำพิเศษด้านความมั่นคงเช่นนี้ [http://ilaw.or.th/node/3919]
ในยุครัฐบาลคสช. มีการกวาดล้างขบวนการแอบอ้างสถาบันอย่างหนัก มีข่าวการจับกุมคนใกล้ชิด หรือคนวงในของสถาบันพระมหากษัตริย์และดำเนินคดีมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 36 คน [ดูสถิติย้อนหลังที่ http://freedom.ilaw.or.th/blog/Royalclaim112] ซึ่งรวมถึงคดีที่มีชื่อเสียงอย่าง คดี "หมอหยอง" คดี "พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ หรือคดี "พี่น้องอัครพงศ์ปรีชา"
โดยรูปแบบการดำเนินคดีที่คล้ายกัน ที่พอจะเห็นได้ เช่น มีคำสั่งย้ายด่วนก่อน มีการออกมาปฏิเสธข่าวลือ มีการควบคุมตัวด้วยอำนาจตามกฎหมายพิเศษ และมีการเสียชีวิต
[อ่านเรื่อง ย้อนรอยผลงานกวาดล้างคดีแอบอ้างสถาบันฯ: จาก ‘พงษ์พัฒน์’ ถึง ‘หมอหยอง’http://freedom.ilaw.or.th/Royal%20Cliam]
ประเด็นหนึ่งที่น่ากังวล คือ กรณีการเสียชีวิตขณะอยู่ระหว่างควบคุมตัวก่อนหน้านี้สองกรณี คือ พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา หลังเสียชีวิตญาติก็จัดพิธีศพไปอย่างเงียบๆ โดยไม่ปรากฏการชันสูตรพลิกศพ และการไต่สวนการตาย ตามกระบวนการที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 150 กำหนดไว้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องกระทำโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ [อ่านเรื่อง “ชันสูตรพลิกศพ” และ “ไต่สวนการตาย” ต่อที่ http://ilaw.or.th/node/3913]
การดำเนินคดีบุคคลที่แอบอ้างสถาบันฯ ด้วยมาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้มีให้เห็นน้อยมาก แต่ในรัฐบาลชุดนี้มีให้เห็นเยอะขึ้น ซึ่งการกระทำที่ถูกกล่าวหาหลายกรณีมีลักษณะเข้าข่ายการฉ้อโกง ซึ่งอาจดำเนินคดีด้วยความผิดฐานฉ้อโกงก็ได้ แต่เมื่อเลือกใช้ข้อหามาตรา 112 เป็นเหตุให้คดีต้องพิจารณาที่ศาลทหาร และสร้างความกังวลต่อการขยายปริมณฑลการตีความกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ออกไปอีก [อ่านรายละเอียดการตีความกฎหมาย ที่ http://freedom.ilaw.or.th/blog/falsecliam]


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top