0

แถลงการณ์'ราชทัณฑ์'แจง นาทีพบหยองก่อนเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกแถลงการณ์ชี้แจงการเสียชีวิตของนายสุริยัน สุจริตพลวงค์ หรือ "หมอหยอง" 

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ข.ช.สุริยัน สุ จริตพลวงค์ ผู้ต้องขังคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างฝากขังผัดที่ 2 เวรรักษาการณ์ ไปตรวจพบ ขณะนอนอยู่ในห้องขัง เรียกชื่อไม่ขานตอบ มองจากภายนอกห้องขังเห็นว่า มีอาการหายใจเฮือก จึงได้รีบแจ้งให้หน่วยเสนารักษ์ประจำ มทบ.11 มาตรวจสอบพบว่า ชีพจรอ่อน ไม่รู้สึกตัว จึงได้รีบนำตัวส่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่เมื่อไปถึงทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เวลา 22.20 น. ห้องฉุกเฉินแรกรับพบว่า ผู้ต้องขังดังกล่าวไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองใดๆ วัดสัญญาณชีพจรไม่ได้ ม่านตาขยาย 4 มม. ไม่ตอบสนองต่อแสงทั้งสองข้าง โรงพยาบาลจึงได้ดำเนินการช่วยฟื้นคืนชีพเป็นเวลาชั่วโมงเศษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แพทย์เวรลงความเห็นว่าเสียชีวิต 

ทั้งนี้ การเสียชีวิตครั้งนี้เป็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว เจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวน แพทย์ พนักงานอัยการ และพนักงาน ฝ่ายปกครอง รวม 4 ฝ่าย มาชันสูตรพลิกศพ ซึ่งในกรณีนี้ได้แจ้งพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ซึ่งเป็นท้องที่ที่พบศพ เข้ามาดำเนินการ ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งชันสูตรโดยสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ได้ทำการตรวจ พิสูจน์ศพเรียบร้อยเอกสารลงวันที่ 8 พ.ย. 2558 ปรากฏสาเหตุการเสียชีวิต “สันนิษฐานว่า ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากติดเชื้อในกระแสโลหิต” เรือนจำได้แจ้งญาติผู้เสียชีวิตให้มาขอรับศพ เพื่อไปดำเนินการตามประเพณีต่อไป 

สำหรับการดำเนินการภายหลังการเสียชีวิตเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครฯ ได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อรายงานผลมาให้กรมราชทัณฑ์พิจารณา ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกรณีเสียชีวิตในสถานที่คุมขังนั้น พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น จะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการไต่สวนการเสียชีวิตต่อไป 

สรุปเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ต่อเนื่องถึงวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ต้องขังมีอาการไข้สูง กระสับกระส่าย ไอ พยาบาลเสนารักษ์ประจำเรือนจำ ได้จ่ายยาลดไข้ ยาลดอาการไอ แล้วให้นอนพักที่ 7 พ.ย. เวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่เวรไปตรวจ พบว่าผู้ต้องขังมีอาการเรียกไม่รู้สึกตัว หายใจเฮือกยาว เสนารักษ์จึงแจ้งให้นำส่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ทันที เมื่อไปถึงทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แพทย์เวรได้พยายามช่วยชีวิตตามหลักเกณฑ์และจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ทำกระบวนการฟื้นคืนชีพ (Advanced CPR: Cardio Pulmonary Resuscitation) ใช้เวลาดำเนินกระบวนการ ตั้งแต่แรกพบตัว โดยใส่ท่อช่วยหายใจ ปั้มหัวใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจและความดันโลหิต ฯลฯ โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้แจ้งพนักงานสอบสวนท้องที่มาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

ทั้งนี้ มีความเป็นได้หรือไม่ว่า มีเชื้อใดที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันทีได้อย่างรวดเร็วเท่าที่สอบถามกับแพทย์พบว่า มีเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ระบบหายใจล้มเหลวแล้วเสียชีวิตอย่างรวดเร็วได้ เช่น เชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเดินหายใจ สายพันธุ์รุนแรง ผู้รับเชื้อจะเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน ยากแก่การประเมินหรือรักษาไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่ได้รับสารสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิต้านทาน หรือผู้เป็นโรคที่ยังไม่ได้ระบุการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอจากการเป็นโรคประจำตัวบางอย่าง หรือภาวะภูมิต้านทานบกพร่องจากโรคเฉพาะตัวที่ยังไม่ได้รับการค้นพบ หากได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าว จะมีอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่รุนแรง ในกรณีข.ช.สุริยัน มีความเป็นไปได้ที่ผู้ต้องขังอาจมีภูมิต้านทานอ่อนแอ โดยตรวจพบจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ว่า มีภาวะไขมันสะสมในตับสูง ประกอบกับผลการตรวจเลือดในขณะการช่วยฟื้นคืนชีพ เมื่อคืนวันที่ 7 พ.ย. พบมีเอนไซม์การทำงานของตับสูง ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดพบว่า มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ มีเพียง 60,000 คิวบิกมิลลิเมตร (ค่าปกติ ตั้งแต่ 140,000-400,000/คิวบิกมิลลิเมตร) สันนิษฐานว่าเมื่อได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดเข้าไป จึงอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว 

สำหรับศพของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง" ได้ประสานให้ญาติรับศพออกจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปบำเพ็ญกุศลแล้วตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยญาติไม่ติดใจสงสัยสาเหตุการเสียชีวิต“

source :- http://www.dailynews.co.th/crime/359735

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top