ไม่ว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์
มีทั้งจุดที่ "ต่าง" และจุดที่"เหมือน"
ต่าง 1 ตรงที่เป็นคณะกรรมาธิการกับตรงที่เป็นคณะกรรมการ ต่าง 1 ตรงที่ประธานชุดแรกอาจเป็น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ชุดหลังอาจเป็น นายมีชัย ฤชุพันธุ์
คนละคน "กระดูก" คนละ "เบอร์"
กระนั้น ภายในความต่างก็ยังมีความเหมือนซึ่งมีผลทำให้ "คณะกรรมการ" แทบจะเป็นอย่างเดียวกับ "คณะกรรมาธิการ"
นั่นก็คือ 1 คลอดมาจาก "ท้อง"เดียวกัน
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจผ่านเวทีสภาปฏิรูปประเทศไทย ขณะที่คณะกรรมการอาจมิได้ผ่าน
แต่ "เนรมิต" ขึ้นโดย "คสช." แม่เดียวกัน
ยิ่งกว่านั้น 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ เพียงประชุมไม่กี่ครั้งสังคมก็สรุปได้อย่างรวบรัดว่า ไม่ว่าคณะกรรมาธิการ ไม่ว่าคณะกรรมการล้วนหายใจจาก "รูจมูก" อย่างเดียวกัน
คือ รูจมูกแห่ง "ความกลัว"
ถามว่าอะไรคืออารมณ์ "ร่วม" อันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในบุคคลซึ่งมีส่วนกับกระบวนการของการรัฐประหาร
ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
คำตอบอันเด่นชัดและทวีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับคือ ความหวาดกลัวต่อ"ศัตรูร่วม" ในทางการเมือง
อันทำให้เกิด "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"
อันทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของ "องค์การพิทักษ์สยาม" ต่อเนื่องมายังองค์การ"กปปส." พร้อมกับคำขวัญ "ชัตดาวน์" กทม. "ปิดประเทศ"
เป็น "ความกลัว" ต่อ "ความพ่ายแพ้" ในทางการเมือง
เนื่องจากในสนามการเลือกตั้งนับแต่เมื่อเดือนมกราคม 2544 ต้องตกอยู่กับความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง ความพ่ายแพ้อย่างซ้ำซาก
รัฐประหารที่เกิดขึ้น 2 ครั้งภายในไม่ถึง 7 ปีก็หวังจะปิดประตูไม่ให้ "แพ้"
มาตรการต่างๆ ภายหลังการรัฐประหารไม่ว่าจะเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะกระทำอยู่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ด้วยเจตนประสงค์อย่างเดียวกัน
การ "ร่าง" รัฐธรรมนูญก็เพื่อ "เป้าหมาย" นี้
จะเห็นได้จาก มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2550 ก็เพื่อเป็น"โรดแมป" ไปสู่พิมพ์เขียวนี้ ขณะเดียวกัน การยก "ร่าง" รัฐธรรมนูญฉบับ "บวรศักดิ์" ก็เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนี้
แล้วทำไมจึงต้อง "คว่ำ" ตั้งแต่ยังเป็น "ร่าง" เล่า
ทุกอย่างวกวนอยู่ใน "เขาวงกต" แห่งการลงมือ "ร่าง" เอง และตัดสินใจ "คว่ำ"เองก็จากพื้นฐานแห่ง "ความกลัว" นั้นเอง
ที่กำหนดให้ "ร่าง" ดำเนินไปอย่างนี้ก็เพราะ "กลัว"
ที่จำเป็นต้องกลับลำสั่งการให้มีการ "คว่ำ" ในวินาทีสุดท้ายไม่ให้ผ่านความเห็นชอบของ สปท.ออกไปก็เพราะ "กลัว"
แล้วก็มาเริ่ม "ร่าง" กันใหม่อีกครั้ง 1 ด้วยอาการ "ขนพอง สยองเกล้า"
แทนที่ "36 มหาปราชญ์" จะครุ่นคิดว่าทำอย่างไรให้ร่างรัฐธรรมนูญออกไปเป็นประชาธิปไตย ให้ "อำนาจ" และ "ความเป็นใหญ่" อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง
กลับมิได้ "คิด" และลงมือ "ปฏิบัติ" อย่างนั้น
ตรงกันข้าม อาการหมกมุ่นครุ่นคิดกลับวนเวียนอยู่แต่กับ "กระบวนทัศน์" ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้อำนาจยังอยู่ในกำมือทำอย่างไรถึงจะกีดกันและกลั่นแกล้งทำให้"ศัตรูร่วม" อันเติบใหญ่มาจากชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544
หมดโอกาสและ "ตายดับ" ไปในทางการเมือง
ท่วงทำนองของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อาจแลดูนวลเนียน สดใสงามตากว่าท่วงทำนองนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
แต่เมื่อท่วงทำนองนี้ดำรงอยู่ภายใต้ "เนื้อหา" แห่งความหวาดกลัวอย่างเดียวกัน และทำงานอย่างมี "ธงนำ" จากชุดแห่งการสืบทอดอำนาจอย่างเดียวกัน
ชะตากรรมก็จะเป็นเช่นเดียวกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
source :- (ที่มา:มติชนรายวัน 3 พ.ย.2558)
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น