
อ่อง เมียวมิน อดีตผู้นำนักศึกษาเมียนมาร์ยุค 888 ชี้ เมียนมาร์มีพัฒนาการด้านสิทธิมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีนักโทษการเมืองในรูปแบบใหม่
อ่อง เมียวมิน ผู้อำนวยการองค์การ Equality Myamnar นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางเพศ ซึ่งลี้ภัยนอกประเทศเมียนมาร์กว่า 24 ปี และเพิ่งเดินทางกลับประเทศตามคำเชิญของรัฐบาลเมียนมาร์ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กล่าวในการเสวนาที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร บ่ายวันนี้ว่า 8 สิงหาคม เป็นวันที่สำคัญสำหรับเขามาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพราะเขาตัดสินใจหนีเข้าร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยและกองทัพนักศึกษาในแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ หลังเกิดเหตุการณ์การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลทหารในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 หรือที่รู้จักในเหตุการณ์ 888
เขาชี้ว่าโดยภาพรวมแล้ว เมียนมาร์มีพัฒนาการด้านสิทธิ มีกฎหมายใหม่ๆ ที่รับรองสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการชุมนุม แต่ตัวกฎหมายเองก็สร้างเงื่อนไขข้อจำกัดเอาไว้ เช่น ต้องขออนุญาตทางการก่อนการชุมนุม ไม่เช่นนั้นถือว่าเป็นการชุมนุมผิดกฎหมาย
เขาบอกด้วยว่า แม้รัฐบาลเมียนมาร์จะปล่อยนักโทษการเมืองจำนวนหลายร้อยคนเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งด้านหนึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่อีกด้าน เขาเห็นว่า คำว่านักโทษการเมืองได้เปลี่ยนรูปไปแล้วด้วยกฎหมายใหม่ๆ ที่กล่าวมา และกลุ่มเป้าหมายกลายเป็นนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งชาวนาที่ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องที่ดินของตนเอง การใช้กฎหมายที่สร้างข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ทำให้เกิดการจับกุมคุมขังและสร้างกลุ่มนักโทษการเมืองกลุ่มใหม่ๆ
เขาเห็นว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนแบบที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ เช่น ทหารเด็ก หรือการค้ามนุษย์อาจจะค่อยๆ ลดลง แต่ประเด็นที่จะมาแทนที่ก็คือประเด็นสิทธิในที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากนโยบายการพัฒนาประเทศ
เขายังมองว่า โดยสภาพสังคมแล้ว แม้ประชาชนจะมีความตื่นตัวมากขึ้นในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังขาดความเข้าใจและขาดโอกาสในการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงยังมีทัศนคติด้านลบในบางประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสิทธิทางเพศ และความหลากหลายทางเพศ อันเนื่องมาจากสภาพสังคมที่เคร่งครัดยึดถือประเพณี และมีการตีความหลักศาสนาแบบผิดๆ เห็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือโฮโมเซ็กชวลเป็นเรื่องผิดหลักศาสนา ผิดธรรมชาติ และยังมีการตีตราและสร้างภาพตอกย้ำว่า คนเหล่านี้เป็นคนที่น่าขยะแขยง หรือไม่ก็เป็นแค่ตัวตลก
เขาชี้ว่าการทำงานในประเด็นสิทธิของคนหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ต้องทำใน 2 ระดับ คือทั้งระดับนโยบายที่ต้องพยายามผลักดันและทำงานร่วมกับผู้แทนในสภา ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายและออกกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานกับประชาสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมไปพร้อมกันด้วย