0

เหตุโจมตีปารีส ปฏิกิริยาคนอ่าน
ช่วงนี้เรื่องที่มีผู้อ่านมากสุดของเว็บไซต์บีบีซีคือเรื่องเกี่ยวกับการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย แต่ไม่ใช่เรื่องการโจมตีปารีสที่เพิ่งเกิดขึ้น
สถิติบอกว่ามีผู้อ่านเกือบ 7 ล้านคนคลิกพาดหัวข่าว "มีผู้ถูกสังหาร 147 รายจากการโจมตีมหาวิทยาลัยเคนย่า" ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มติดอาวุธอัล-ชาบับ ในประเทศโซมาเลีย โจมตีมหาวิทยาลัยการิสซา (Garissa University) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเคนยา 3 ใน 4 ของจำนวนผู้คลิกอ่านเรื่องนี้มาจากโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้ เมื่อข่าวเก่า ๆ ที่เคยมีการนำเสนอวนกลับขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับแรกที่มีคนคลิกมากสุดของเว็บไซต์บีบีซีนั้น จะมีวันที่ประทับอยู่ด้วย
แต่บางคนที่คลิกอ่านเรื่องนี้สับสนกับเรื่องเวลา มีหลายคนแชร์เรื่องนี้เพื่อสร้างประเด็น พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์สื่อตะวันตกที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวเหตุการณ์สังหารหมู่ในเคนยาชิ้นนี้มากเท่ากับข่าวโจมตีกรุงปารีส ซึ่งจะเห็นว่าบางความเห็นนั้นบอกว่าการใช้ข่าวของบีบีซีไปสร้างประเด็นแบบนี้เป็นเรื่องย้อนแย้ง
ใครกันหรือที่สนใจข่าวเหตุการณ์ที่การิสซาหลังที่เกิดการโจมตีกรุงปารีส? ความสนใจนี้ไม่ได้เริ่มต้นมาจากเคนย่า แต่ครึ่งหนึ่งของผู้คลิกอ่านเรื่องนี้มาจากอเมริกาเหนือ และอีก 1 ใน 4 มาจากสหราชอาณาจักร
โดยรวม เรื่องนี้มีจำนวนการคลิกเข้ามาชมมากกว่า 10 ล้านครั้งภายในสองวัน หรือราว 4 เท่าของจำนวนคลิกเมื่อตอนที่เกิดเหตุการณ์นี้ที่เคนยาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ขณะที่มีการติดแฮชแท็ก "Pray For the World" มากกว่า 400,000 ครั้งนับจากเกิดเหตุการณ์โจมตีปารีส โดยบางคนพยายามที่จะขยายประเด็นมากไปกว่าการรำลึกถึงการโจมตีที่กรุงปารีส และใช้แฮชแท็กนี้เน้นไปถึงเหตุการณ์โจมตีที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงในเม็กซิโก และแบกแดด
มีการติดแฮชแท็ก "Pray for Lebanon" มากกว่า 800,000 ครั้งของข้อความทวิตเตอร์ สำหรับเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพที่สังหารชีวิตผู้คนอย่างน้อย 41 รายในกรุงเบรุต ที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์โจมตีปารีสเพียงหนึ่งวัน แต่การติดแฮชแท็กส่วนใหญ่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาที่เกิดเหตุการณ์ที่เลบานอน แต่เพิ่งมาติดแฮชแท็กนี้กันหลังเกิดเหตุที่กรุงปารีส และแฮชแท็ก "Pray for Paris" นั้นถูกใช้มากกว่า 10 ล้านครั้งแล้ว
ความนิยมติดแฮชแท็ก "Pray for..." นั้นใช้กันมากในเรื่องอื่น ๆ ด้วย มีผู้ทวีตข้อความ "Pray for Japan" มากกว่า 1.6 ล้านคนเมื่อมีข่าวแผ่นดินไหวใต้ทะเลซึ่งไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ต่างจากตอนที่เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่เมื่อปี 2554
ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนตั้งคำถามว่าทำไมเฟซบุ๊กถึงเปิดการตรวจสอบสถานะความปลอดภัย (Safety Check) สำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในกรุงปารีส แต่ไม่ได้ทำเช่นกันเดียวกันนี้เมื่อเกิดเหตุระเบิดพลีชีพที่กรุงเบรุต ทั้งนี้ นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก บอกว่าก่อนเหตุการณ์โจมตีปารีสเมื่อวันศุกร์ เครื่องมือการตรวจสอบสถานะความปลอดภัยนี้ใช้สำหรับเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติเท่านั้น
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องสองมาตรฐานเมื่อเปิดให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถคาดลายธงชาติฝรั่งเศสที่รูปภาพประจำตัวได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กเคยเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถใช้สีรุ้งคาดที่รูปภาพประจำตัว หลังจากที่ศาลสูงสหรัฐฯ พิพากษาให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้ และยังเปิดให้ผู้ใช้สามารถคาดสีธงชาติอินเดียที่รูปภาพประจำตัวเมื่อนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดียไปเยือนซิลิคอน แวลลีย์ (Silicon Valley)ได้ด้วย
ผู้อ่านในหน้าเพจบีบีซีไทยเองก็แสดงปฏิกิริยากันหลากหลาย มีทั้งที่ประนามความรุนแรง เห็นใจผู้สูญเสีย หลายรายแสดงความรู้สึกติดลบกับมุสลิมซึ่งอาการเช่นนี้มีให้เห็นบ่อยครั้งมากขึ้นในข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุก่อการร้ายที่มีผู้ก่อเหตุเป็นมุสลิม ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยตำหนิบีบีซีและสื่อตะวันตกที่ไม่นำเสนอข่าวการโจมตีในที่อื่น ๆ อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะความสูญเสียในประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก
‪#‎ParisAttack‬ ‪#‎PrayforParis‬ ‪#‎Prayfortheworld‬




แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top