แหล่งน้ำเปลี่ยนชีวิต
"ปัญหายาเสพติด เมื่อก่อนยอมรับว่าเคยมี แต่ไม่มากแค่ 2-3 คน เพราะเขาไม่มีทางเลือก ทำการเกษตรรายได้ไม่พอ" พิพัฒน์ ขวัญธนธีระวุฒิ ผู้ใหญ่บ้าน หรือที่ชาวไทยภูเขาเรียกว่า "พ่อหลวง" แห่งบ้านคำหล้า ต.บ้านร้อง อ.งาว จังหวัดลำปาง บอกกับบีบีซีไทย
สอดคล้องกับ พล.อ.ธนยศ พริ้งทองฟู ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ซึ่งทำโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านของชาวไทยภูเขา เขตอำเภองาว และพบว่า แนวทางแก้ปัญหาที่ได้ผลอย่างยั่งยืน คือต้องทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
บ้านคำหล้า ต.บ้านร้อง อ.งาว จังหวัดลำปาง มีประชากรราว 400 คน เกือบทั้งหมดเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า หรืออีก้อ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดอยสูง เส้นทางทุรกันดารเข้าถึงได้ด้วยรถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ อาชีพหลักคือทำการเกษตร ปลูกข้าวไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในลักษณะของการทำไร่เลื่อนลอย เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานจำกัดพื้นที่ทำกินไม่ให้บุกรุกป่า ชาวบ้านยิ่งประสบปัญหาผลผลิตข้าวโพดลดลง ต้นทุนการใช้สารเคมีสูงขึ้น คุณภาพดินเริ่มเสีย รวมทั้งมีปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ลาดชัน ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้
ช่วงเวลาสาย ท่ามกลางอากาศแจ่มใสในฤดูหนาวต้นเดือนพฤศจิกายน คนหนุ่มสาวแห่งบ้านคำหล้าหลายสิบคน ทยอยมารวมตัวกัน ณ จุดนัดหมาย ด้วยความตั้งใจตรงกันที่จะทำแหล่งน้ำสาธารณะของหมู่บ้าน โดยใช้ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยียางพาราและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งได้ทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ผศ.ดร.อดิศัย เริ่มงานวิจัยเมื่อปี 2550 โดยใช้ผ้าใบที่ผลิตจากด้ายดิบ ซึ่งสามารถหาได้ง่ายในประเทศ ปูพื้นบ่อ แล้วทาทับด้วยน้ำยางพาราเข้มข้นผสมสารเคมี จะช่วยกักเก็บน้ำไม่ให้รั่วซึมได้ อายุใช้งานยาวนานกว่า 10 ปี มีต้นทุนเพียงตารางเมตรละ 200-300 บาท พอ ๆ กับการใช้แผ่นพลาสติก ซึ่งอายุใช้งานเพียง 2-3 ปี และถูกกว่าปูนซีเมนต์ที่มีต้นทุนตารางเมตรละราว 5,000 บาท ด้วยอายุใช้งานใกล้เคียงกัน
"นอกจากช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้ชาวบ้านแล้ว ยังมีผลทางอ้อมที่จะเพิ่มความต้องการใช้ผลผลิตยางพาราในประเทศ และการทำเป็นน้ำยางข้นแบบนี้ ยังช่วยให้ชาวสวนยางขายได้ราคาดีกว่าแบบเศษยางก้อน" ผศ.ดร.อดิศัย บอกว่า วิธีนี้สามารถทำแหล่งน้ำขนาดเล็กเป็นเครือข่ายแบบเตาขนมครก ซึ่งทำได้ง่ายกว่าโครงการขนาดใหญ่ ที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
พ่อหลวงพิพัฒน์ วัย 38 ปี เชื่อว่า เมื่อมีแหล่งน้ำชีวิตของชาวบ้านจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน โดยขณะนี้ หลายคนกำลังศึกษาแนวทางเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไปทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกทั้งไม้ยืนต้น และพืชอายุสั้น โดยมีนักวิชาการจาก สกว.มาช่วยแนะนำ
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น