0


ถอนฟ้องจนท.องค์การอนามัยโลกในคดีทำร้ายลูกจ้างหลังยอมความได้

แต่ทนายชี้ไทยต้องติดตามเอาผิดข้อหาค้ามนุษย์เพราะถือเป็นอาญาแผ่นดิน ส่วนเอ็นจีโอด้านแรงงานชี้ปัญหาลูกจ้างทำงานบ้านยังมีอีกมากและต้องแก้ที่กฎหมาย

คดีนี้เป็นคดีที่ลูกจ้างชาวเอธิโอเปีย น.ส.เอมาเบท ฟ้องร้องนายจ้างคือน.พ.โยนัส เทกเก้น โวลเดอแมเรียน เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยพร้อมภรรยาฐานทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว นำคนลงเป็นทาสและค้ามนุษย์ ในระหว่างที่เธอทำงานเป็นลูกจ้างบุคคลทั้งสอง

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนากับมูลนิธิผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่น.ส.เอมาเบทในการฟ้องร้องแจ้งข่าวว่า ล่าสุดจากการขึ้นศาลเมื่อ 16 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ศาลนนทบุรี ผู้ฟ้องได้ยินยอมถอนฟ้องเนื่องจากว่าตกลงกันได้กับคนทั้งสองและมีการจ่ายเงินให้กับน.ส.เอมาเบทในจำนวนที่พอใจ จึงถอนฟ้องทั้งที่ศาลนนทบุรีและศาลแรงงานกลาง

อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ กองจันทึกจากสภาทนายความให้ความเห็นว่า แม้ว่าจะมีการถอนฟ้องไป แต่ข้อหาเรื่องการเอาคนเป็นทาสและการค้ามนุษย์เป็นความผิดที่ถือว่าเป็นอาญาแผ่นดิน ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระบุว่า แม้ผู้เสียหายจะถอนฟ้อง แต่คดีความที่ดำเนินการโดยอัยการยังคงอยู่ พร้อมกับชี้ว่า เนื่องจากเรื่องนี้เป็นกรณีที่ได้รับความสนใจทั้งของคนในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงต้นสังกัด ไทยควรจะต้องสานต่อคือให้มีการสอบสวนอย่างจริงจัง

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและมูลนิธิผู้หญิงต่างก็เรียกร้องให้รัฐบาลดูแลลูกจ้างทำงานบ้านให้ดีขึ้น โดยบอกว่าคดีนี้เป็นตัวอย่างของปัญหาแรงงานที่ทำงานตามบ้านอีกจำนวนมาก โดยหลังจากที่มีการฟ้องร้องในกรณีนายจ้างจากองค์การอนามัยโลกรายนี้แล้ว เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านก็ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ที่เกี่ยวข้องขอให้ปรับปรุงหลายด้านที่เกี่ยวกับลูกจ้างทำงานบ้าน เช่นขอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองลูกจ้างที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ขอให้ปรับปรุงกลไกตรวจสอบเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบการใช้แรงงานเหล่านี้ได้ เป็นต้น

อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิงให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า การดูแลคุ้มครองคนทำงานบ้านในประเทศไทยยังมีช่องว่างอีกมาก ลูกจ้างที่ทำงานตามบ้านในเวลานี้มีถึง 300,000 คน มีปัญหาทั้งเรื่องการได้รับค่าแรงขั้นต่ำ อุบัติเหตุจากการทำงาน ไม่ได้สวัสดิการเหมือนแรงงานด้านอื่น การที่ลูกจ้างส่วนใหญ่อาศัยในบ้านนายจ้าง และแรงงานต่างชาติไม่มีเอกสารเดินทางไม่สามารถจะเข้าออกบ้านได้อย่างเป็นอิสระ การดูแลคนกลุ่มนี้กระทำภายใต้กฎกระทรวงคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ จึงเห็นว่าทางการไทยควรจะยกเลิกกฎกระทรวงที่ว่าแล้วให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองแรงงานเช่นเดียวกับแรงงานด้านอื่นภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

นอกจากนั้น องค์กรทั้งสองแห่งต่างเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาลงนามในอนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านทั้งนี้เพื่อจะขยายสิทธิของลูกจ้างและลดการเลือกปฎิบัติ


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top