ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไทยรบฝรั่งเศส
วิลาส นิรันดร์สุขศิริ
๑๑๒ ปีวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ สยามกำสรวล ฝรั่งเศสกำทรัพย์
หมายเหตุของผู้เขียน
วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒
เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนและมองได้หลายแง่มุม
การพลิกฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมามองเป็นครั้งคราวคือการเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่ง
บทความเรื่องนี้ไม่ใช่บทภาพยนตร์ที่ต้องมีพระเอกผู้ร้าย
การกล่าวถึงบุคคลและประเทศต่างๆ
ในบทความจึงไม่มีเจตนาที่จะโยนความรับผิดชอบหรือตำหนิติเตียน
แต่เป็นการบรรยายเหตุการณ์ตามสายตาของผู้บันทึก
ซึ่งเป็นเพียงปุถุชนและอาจมีความลำเอียงได้
เสียงปืนยิงต่อสู้ดังก้องแหวกบรรยากาศตอนย่ำค่ำของวันอาทิตย์ที่ ๑๓
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) ไปทั่วบริเวณปากน้ำ และคงทำให้มือของชาวสยามที่กำลังเปิบข้าวเย็นในเวลานั้นต้องชะงักลงกลางคัน วันพระที่ควรจบลงด้วยความสงบสุขกลับกลายเป็นวันที่ชาวบ้านหวั่นวิตกว่า บางทีสยามอาจต้องทำศึกใหญ่อีกครั้งหลังจากที่ห่างเหินไปนาน ส่วนผู้ที่อยู่ในแวดวงใกล้ชิดเหตุการณ์มากกว่านั้น ตระหนักดีว่าสยามจะหลีกเลี่ยงความสูญเสียในครั้งนี้ไม่พ้น คำถามอยู่ที่ว่า จะเป็นการสูญเสียเพียงดินแดนบางส่วน
หรือสูญเสียเอกราชของประเทศ
วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เป็นผลพวงจากความขัดแย้งที่มีมาก่อนหน้านั้น แล้วคุกรุ่นขึ้นในเดือนมีนาคม และกล่าวได้ว่าจบลงในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน การยิงต่อสู้ที่ปากน้ำระหว่างทหารฝรั่งเศสกับทหารสยาม ซึ่งกินเวลานานถึง ๒๕ นาทีนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่งในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยลงเอยที่การแลกชีวิตทหารสยามจำนวน ๑๕๑ นาย ด้วยชีวิตทหารฝรั่งเศส ๓๒ นาย พร้อมทั้งทหารสยามและทหารฝรั่งเศสที่บาดเจ็บจำนวน ๓๐๓ นาย และ ๓ นาย ตามลำดับ มีบันทึกด้วยว่า สตรีชาวสยามนางหนึ่งถูกลูกหลงจากการยิงของฝ่ายฝรั่งเศสและเสียชีวิตในระหว่างการต่อสู้ด้วย ความสูญเสียไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่นั้น สยามยังต้องจ่ายค่าเสียหายที่ไม่เป็นธรรมจำนวน ๓ ล้านฟรังก์ และเฉือนเนื้อที่ประมาณ ๔๐, ๐๐๐-๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตรให้แก่ฝรั่งเศสในวันที่ ๓ ตุลาคมของปีเดียวกัน หนำซ้ำฝ่ายหลังยังยึดเอาจันทบุรีกับตราดไปไว้ในอารักขาอีกนานกว่า ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๔๗)
บันทึกเหตุการณ์การเสียดินแดนของสยามและการยิงต่อสู้ที่ปากน้ำ มีให้อ่านกันหลายแหล่ง ที่น่าสนใจได้แก่ หนังสือ ๔ เล่มที่พิมพ์ขึ้นในยุคนั้น คือ Five years in Siam ของเฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ๔ Peoples and politics of the Far East ของเฮนรี นอร์แมน๕ Siam in the Twentieth century ของ เจ.จี. ดี. แคมป์เบลล์๖ และ Blue Book หรือหนังสือปกน้ำเงิน (เอกสารอ้างอิงลำดับที่ ๕) ซึ่งประมวลจดหมายโต้ตอบของรัฐบาลอังกฤษในระหว่างวิกฤตการณ์ครั้งนี้เอาไว้ นักประพันธ์เจ้าของหนังสือ ๓ เล่มแรกล้วนเป็นชาวอังกฤษ แต่ความเห็นเกี่ยวกับสยามและเหตุการณ์ครั้งนี้แตกต่างกันไปบ้าง นายสมิธได้วิจารณ์บันทึกของนายนอร์แมนว่า “เหตุการณ์ที่บรรยายไว้ใน The Far East โดยนายเอช. นอร์แมน ได้รับการแต่งแต้มสีสันอย่างหนักหน่วง โดยไม่ปกปิดความรู้สึกต่อต้านชาวสยามแต่อย่างใด และน่าแปลกที่ขัดกับข้อเขียนก่อนหน้านั้นใน Pall Mall๗ โดยผู้เขียนคนเดียวกัน”
ส่วนนายแคมป์เบลล์ก็พูดถึงหนังสือของนายนอร์แมนด้วยสำนวนทำนองเดียวกันว่า “บันทึกเหตุการณ์ที่ดีที่สุดคือ บันทึกของนายวาริงตัน สมิธ ใน Five years in Siam บทบรรยายของนายเฮนรี นอร์แมน (ในหนังสือ Far East) เป็นเรื่องที่มีสีสันสดใส แต่เขียนด้วยความรู้สึกต่อต้านสยามอย่างลำเอียงมากเกินไป” กรมศิลปากรได้จัดแปลหนังสือของนายนอร์แมนในตอนที่เกี่ยวกับสยามไว้ในหนังสือรวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์
ชุดที่ ๔ เรื่อง
“ชีวิตความเป็นอยู่และการเมืองการปกครองของชาวตะวันออกไกล : ตอนประเทศสยาม” และหนังสือของนายสมิธในชื่อว่าห้าปีในสยามอย่างไรก็ตามบันทึกเหตุการณ์ของนายนอร์แมนก็มีเกร็ดประวัติศาสตร์และรายละเอียดที่อ่านแล้วชวนให้คิด และไม่พบในหนังสือของนายสมิธหรือนายแคมป์เบลล์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะนายสมิธและนายแคมป์เบลล์ทำงานให้กับรัฐบาลสยาม ส่วนนายนอร์แมนเป็นผู้สังเกตการณ์ แม้ว่าเขาอาจเล่าเรื่องด้วยความรู้สึกต่อต้านสยาม แต่คำบอกเล่าหลายอย่างของนักเขียนผู้นี้ก็เป็นสิ่งที่นักเขียนอื่นๆ กล่าวถึงไว้เหมือนกัน
ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดของเหตุการณ์การเสียดินแดนหรือเหตุการณ์ที่ปากน้ำ
แต่จะขอสรุปเกร็ดและประเด็นที่น่าสนใจโดยอาศัยหนังสือต่างๆ ดังกล่าว เพื่อให้เห็นแง่มุมต่างๆ รอบด้านขึ้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเหตุให้สยามจำต้องสูญเสียดินแดนในครั้งนี้ คือการขาดแผนที่ ซึ่งระบุเขตแดนของประเทศไว้อย่างชัดเจน
ถึงแม้ปัจจัยดังกล่าวเป็นมูลเหตุอย่างหนึ่งก็จริง แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า การไร้แผนที่ไม่ใช่ “ต้นเหตุ” ที่ทำให้สยามเสียดินแดน แต่เป็นข้ออ้างของฝ่ายฝรั่งเศสที่ยกขึ้นมาเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งมากกว่า ทั้งนี้เพราะในกรณีหลวงพระบาง ซึ่งสยามก็สูญเสียไปด้วยนั้น ดินแดนส่วนนี้เป็นดินแดนที่ใครๆ ต่างรับรู้ว่าเป็นของสยามมานาน แม้แต่ฝรั่งเศสเอง กระนั้น ฝ่ายหลังก็ยังฉกชิงไปจนได้ ข้อความในโทรเลขฉบับหนึ่งซึ่งเอิร์ลแห่งโรสเบอรี๘ ได้รับมีใจความดังนี้
“มองซิเออร์ เดอแวลล์๙ ทราบแก่ใจดีพอๆ กับผมว่า ในสารบบทั้งหมดของฝรั่งเศส ในแผนที่ของฝรั่งเศสทุกแผ่น ในอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ของฝรั่งเศสทุกเล่มนั้น หลวงพระบางเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสยามจนกระทั่งถึงปีที่แล้วนี้เอง จริงอยู่ที่ว่า ภายในช่วง ๑๒ เดือนที่แล้ว
การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ลึกลับได้เกิดขึ้นในจิตใจของเจ้าหน้าที่ด้านภูมิศาสตร์ของฝรั่งเศส
แต่ในฐานะที่เป็นคนซื่อสัตย์ เขาก็ต้องเชื่ออย่างที่ผมเชื่อว่า เขตแดนที่เป็นปัญหานั้นเป็นของสยามโดยสุจริตมาเกือบศตวรรษหนึ่งแล้ว และฝรั่งเศสไม่สามารถยึดครองโดยไม่ละเมิดสิทธิ์ที่ได้ยืนยันไว้อย่างเป็นทางการกับเราว่า จะไม่บั่นทอนบูรณภาพของสยาม”
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ผู้บันทึกหลายคนระบุไว้ว่าเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของสยาม
คือวิธีการทูตที่ใช้ในครั้งนั้น ดังเช่นข้อความในโทรเลขที่มาร์คีส์แห่งดัฟเฟอริน๑๐
ส่งถึงเอิร์ลแห่งโรสเบอรี ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ความว่า “ผมสังเกตเห็นว่า
ฝ่ายสยามขาดความช่ำชองในการใช้ภาษาอันแยบยลทางการทูตอย่างชาวยุโรป” ข้อความนี้ตรงกับความเห็นของนายสมิธที่ว่า “ท่าทีและภาษาที่ฝ่ายสยามใช้ตอบข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสนั้น
ปั้นปึ่งถือดีเกินขีดการแสดงออกถึงศักดิ์ศรีจนเกินไป และทำให้ฝ่ายศัตรูโกรธ” ส่วนนายเฮนรี นอร์แมน นั้นกล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า ข้อเสียอย่างหนึ่งของฝ่ายสยามคือ “ความรู้สึกต่อต้านอิทธิพลของยุโรปในสยามที่รุนแรงเกินไป”
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว กองกำลังของสยามเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ด้วย หากมองในแง่อาวุธยุทโธปกรณ์อย่างเดียวแล้ว
โอกาสที่สยามจะเป็นฝ่ายชนะฝรั่งเศสในการต่อสู้ที่ปากน้ำมีความเป็นไปได้ แต่ถ้ามองด้านความสามารถ และมองถึงการศึกระยะยาวแล้ว โอกาสดังกล่าวมีไม่สูงนัก เรื่องราวในบันทึกต่อไปนี้คงช่วยให้เห็นภาพกำลังทหารสยามในครั้งนั้นได้ชัดเจนขึ้น
จอร์จ นาธาเนียล เคอร์ซอน๑๑ ซึ่งต่อมากลายเป็นรัฐบุรุษคนหนึ่งของอังกฤษ เล่าเกี่ยวกับบางกอกที่เขาผละจากไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) ไว้ โดยกล่าวถึงกองทหารของสยามว่ามีขนาดเล็ก และประกอบด้วยทหารประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ นาย
ซึ่งเข้าประจำการที่บางกอกช่วงละ ๓ เดือนต่อปี การฝึกอบรมทหารอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ตรวจการณ์ชาวเดนมาร์ก นายเคอร์ซอนเห็นด้วยกับการที่สยามไม่มีกองกำลังทหารขนาดใหญ่ เขาคิดว่า หากสยามต้องรับมือกับประเทศทางยุโรปแล้ว ฝ่ายหลังจะได้เปรียบและมีชัยชนะอย่างไม่ต้องสงสัย แม้ในภาวะที่สยามระดมกำลังทหารเกณฑ์ไว้อย่างเต็มที่ก็ตาม นายเคอร์ซอนเชื่ออีกด้วยว่า นโยบายป้องกันประเทศของสยามควรเป็นไปเพื่อให้มีกำลังเพียงพอที่จะรักษาพรมแดนและรักษาความสงบสุขภายใน และหันไปพึ่งพากำลังต่างประเทศเมื่อเกิดภาวะสงครามขึ้นจริงๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน ร.ศ. ๑๑๒ พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนและเจ็บปวดว่า แม้ความเห็นของนายเคอร์ซอนอาจมีความเหมาะสมกับภาวะของประเทศสยามในยามนั้น แต่นโยบายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานดังกล่าว เป็นนโยบายที่ล้มเหลว เพราะไม่มีประเทศใดยื่นมือเข้าช่วยเหลืออย่างที่หวังไว้ ส่วนกองกำลังทหารเรือของสยามนั้น นายเคอร์ซอนเห็นว่า แม้มีขนาดเล็ก แต่ก็มีประสิทธิภาพ โดยประกอบด้วยกองทหารเรือ เรือปืน และเรือลาดตระเวน ซึ่งส่วนใหญ่มีนายทหารเรือชาวเดนมาร์กเป็นผู้ดูแลสั่งการ และได้รับการจัดเตรียมให้เหมาะสมกับการดูแลน่านน้ำชายฝั่งและแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีเรือลาดตระเวนลำใหม่๑๒ ที่มีระวางขับน้ำ ๒,๔๐๐ ตัน พร้อมปืนใหญ่อาร์มสตรอง (ปืนเสือหมอบ) ๒ กระบอก และปืนฮอตช์คิสส์ ๘ กระบอก จอดอยู่ใกล้พระราชวัง
นายเฮนรี นอร์แมน
แสดงความเห็นเกี่ยวกับกำลังทหารไว้อย่างไม่รักษาน้ำใจเท่านายเคอร์ซอน
เขาเล่าถึงข้อสังเกตหลายอย่างที่น่าเชื่ออยู่เหมือนกัน เป็นต้นว่า
เรื่องอาวุธปืนของกองทหารปืนใหญ่
“ที่เล็งเป้าทำด้วยทองเหลืองถูกขโมยไปจำนำภายในเวลา ๒
อาทิตย์ที่มาถึงและตามคืนไม่ได้ ส่วนดินปืนกับปลอกกระสุนก็อยู่กันคนละที่
และไม่มีใครรู้ว่าจะใส่ดินปืนในปลอกกระสุนได้อย่างไร” ในด้านกองทหารราบ
เขาเล่าว่า “ทหารมาฝึกตามสะดวก แล้วหายหน้าไปสัปดาห์ละหลายโหล
และบ่นหรือเริ่มก่อกวนนายทหารที่พยายามสร้างวินัยในกอง” และ “หลายคนไม่เคยยิงปืนไรเฟิลที่ตนถือ” นายนอร์แมนกล่าวอีกด้วยว่า “ลองจินตนาการดูสิ โรงเรียนนายทหารที่มีอาคารและการจัดการอันน่าเกรงขาม มีครูฝึกชาวยุโรปสี่หรือห้านายที่มีอำนาจจำกัด
เด็กหนุ่มชาวสยามได้พักอาศัยอย่างสะดวกสบาย ได้รับการเลี้ยงดู และรับเงินเดือน เดือนละ ๓๐ ชิลลิง เพื่อให้สวมเครื่องแบบและเล่นในโรงเรียนที่ไม่มีการฝึกอบรมใดๆ” แถมลงท้ายด้วยการจิกชาวสยามจนเจ็บด้วยว่า “สยามรับวิธีการของฝรั่งมา โดยไม่เอาจิตวิญญาณของฝรั่งติดมาด้วย” และ “จริงๆ แล้ว ไม่มีคำว่า “วินัย” ในภาษาสยาม” สำหรับเหตุการณ์ที่ปากน้ำนั้น เขาเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า “ผู้บังคับการริเชอลิเออ๑๓ ทำหน้าที่บัญชาการที่ป้อมปืน ในช่วงวิกฤตนั้น
เขาต้องวิ่งจากปืนกระบอกหนึ่งไปยังอีกกระบอกหนึ่งเพื่อยิงฝ่ายตรงข้ามด้วยปืนทีละกระบอก
คงไม่จำเป็นต้องบอกว่า ยิงไม่ถูกอะไรสักอย่าง จากนั้นเขาก็ขึ้นเรือลำเล็กข้ามแม่น้ำ
แล้วกลับบางกอกด้วยรถไฟเที่ยวพิเศษ” และ “เมื่อทดสอบการยิงปืนเหล่านี้ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว ๒-๓ วันก่อนหน้า ปืน ๕ ใน ๖ กระบอกยิงไม่ออก แต่เหตุการณ์นี้ก็มิได้ทำให้ความมั่นใจของฝ่ายสยามต่อประสิทธิภาพในการป้องกันตนเองลดลงเลย” นายนอร์แมนเรียกเรือของฝรั่งเศสว่า “เรือปืนขนาดเล็ก” และกล่าวถึงเรือของสยามว่า เรือต่างๆ ที่เข้าสู้รบกับฝรั่งเศสครั้งนี้ เป็นเรือที่ใช้การไม่ได้ เว็บไซต์ของกองทัพเรือ (http://www.navy.mi.th) บรรยายไว้ว่า ในบรรดาเรือ ๙
ลำที่สั่งให้เตรียมพร้อมไว้นั้น ส่วนใหญ่เป็นเรือที่ล้าสมัยหรือเป็นเรือกลไฟประจำในแม่น้ำ
มีเรือที่ทันสมัยเพียง ๒ ลำเท่านั้น คือ เรือมกุฎราชกุมาร และเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์
(หนังสืออ้างอิงภาษาอังกฤษล้วนเรียกเรือลำนี้ว่า Coronation ซึ่งนายนอร์แมนเห็นว่าเป็นเรือที่แย่ที่สุด) นายนอร์แมนยังกล่าวพาดพิงถึงเรืออีกลำหนึ่งซึ่งเขาเห็นว่าน่านำมาใช้ในการต่อสู้มากกว่า “เป็นธรรมดาอยู่เองที่ต้องถามว่า แล้วตลอดช่วงเวลานี้เกิดอะไรขึ้นกับเรือลำเดียวในความครอบครองของสยาม ซึ่งใช้การได้ดี-เรือพระที่นั่งมหาจักรี ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนลำใหม่ที่ติดปืนอาร์มสตรอง พร้อมระวางขับน้ำ ๒,๔๐๐ ตัน ความเร็ว ๑๕ น็อต ปืนขนาด ๔.๗ หอต่อสู้ ๒ หอ และหัวเรือที่ใช้ชนได้ คำตอบนั้นง่ายและเจ็บปวด รวมทั้งเป็นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่ว่า ในสยามนั้น พระเจ้าแผ่นดินมาก่อนประเทศชาติ เรือพระที่นั่งมหาจักรีจอดอยู่หน้าพระบรมมหาราชวังภายใต้คำสั่งที่เข้มงวดไม่ให้เคลื่อนย้าย ยกเว้นเมื่อจำเป็นต้องใช้เป็นพาหนะให้พระเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงคราวที่จะรวบรวมเรือทั้งหมดเท่าที่หาได้อย่างฉุกละหุกจริงๆ
และเข้าโจมตีเรือปืนขนาดเล็กของฝรั่งเศสตอนกลางคืนขณะที่จอดทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส เรือพระที่นั่งมหาจักรีก็ไม่ได้อยู่ในการต่อสู้ครั้งนี้ด้วย ทั้งๆ ที่ระวางขับน้ำของเรือลำนี้สูงกว่าเรือทั้งสามของฝรั่งเศสรวมกันถึง ๖๐๐ ตัน แต่ถึงจะมีความตั้งใจใช้เรือลำนี้ก็ตาม คงเป็นไปได้ยาก ข้าพเจ้าเชื่อว่า ตั้งแต่เรือลำนี้มาถึงสยาม ยังไม่มีการลองยิงปืนเลย ไม่มีใครในราชอาณาจักรนี้ ยกเว้นนายทหารชาวเดนมาร์ก ๒ หรือ ๓ นายเท่านั้นที่รู้วิธีใช้ กระสุนปืนถูกขนขึ้นเรือเป็นครั้งแรกเพียง ๒-๓ ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุที่ปากน้ำ นอกจากนั้นเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่และยุ่งยาก ก็ต้องอาศัยวิศวกรชาวอังกฤษควบคุม ไม่มีชาวสยามคนใดรู้วิธีจัดการกับเครื่องยนต์นี้แม้แต่คนเดียว ส่วนคนในอารักขาของอังกฤษก็ไม่สามารถยื่นมือเข้าช่วยได้”
เกี่ยวกับการใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรีมาร่วมรบและ/หรือพุ่งเข้าชนเรือรบฝรั่งเศสนั้น
นายริเชอริเออหรือพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้เสนอให้ใช้วิธีดังกล่าว
ทว่าไม่ได้รับความเห็นชอบด้วย เพราะเกรงกันว่าจะเป็นเหตุให้สถานการณ์ลุกลามใหญ่โตเกินกว่านั้น และอาจทำให้สยามต้องเสียเอกราชไปในที่สุด เป็นไปได้ว่า หากนายริเชอริเออมีโอกาสกระทำการดังกล่าว และทำได้สำเร็จสมความตั้งใจ ผลลัพธ์ของเหตุการณ์อาจเปลี่ยนไป เช่น ฝรั่งเศสอาจรู้สึกเกรงขาม จนต้องกลับไปตั้งตัว ทำให้เรามีเวลาหาทางออกที่อาจลงเอยด้วยการไม่สูญเสียดินแดน หรือฝรั่งเศสอาจเลิกตอแยไปอีกพักใหญ่ หรือฝรั่งเศสโกรธจัดแล้วเกณฑ์ชาวอันนัมมาร่วมรบพร้อมทั้งส่งกองทัพเรือเข้ามาบดขยี้จนความหวาดหวั่นที่กล่าวไว้ข้างต้นกลายเป็นจริง แม้คำบอกเล่าของนายนอร์แมนเกี่ยวกับกำลังทหารฟังไม่รื่นหู
แต่อาจไม่ไกลจากความจริงนัก ทั้งนี้เพราะนายสมิธก็เล่าถึงความสามารถของทหารที่ประจำบนเรือรบของสยามไว้อย่างไม่ชวนให้ปลื้มเท่าไหร่ว่า “เป็นทหารที่เพิ่งเกณฑ์มาจากท้องนา นอกจากผู้บัญชาการบนเรือรบแล้ว ก็ไม่มีใครอื่นที่รู้วิธียิงปืนรบ” หนำซ้ำ “ในขณะนั้นยังสร้างป้อมไม่เสร็จดี และนอกจากผู้บัญชาการแล้ว นายทหาร ๓ นายที่รักษาการณ์อยู่ก็มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่พูดภาษาสยามได้ อีก ๒ นายเป็นชาวเดนมาร์กจากกรมแผนที่ และเพิ่งเดินทางเข้ามายังสยามได้ไม่นาน รวมทั้งเป็นอาสาสมัครที่พูดภาษาสยามไม่ได้แม้แต่คำเดียว
ในระหว่างการต่อสู้กันนั้น นายทหารเหล่านี้วิ่งจนหอบไปที่ปืนแต่ละกระบอกสลับกัน
ทั้งยังวิ่งขึ้นลงขั้นบันไดและฐานยิงที่สร้างเสร็จครึ่งเดียว
โดยต้องระวังตัวอย่างดีที่สุดไม่ให้ตกหลุม พร้อมทั้งออกคำสั่งเป็นภาษาที่ทหารชาวสยามฟังไม่เข้าใจ” บันทึกต่างๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า เราไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะต่อกรกับฝ่ายฝรั่งเศส
แม้เราได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไว้มากพอสมควรแต่ทหารของเรายังขาดความเจนจัดในการใช้อาวุธทันสมัย จำนวนทหารสยามที่เข้าร่วมต่อสู้ครั้งนี้มีมากกว่าทหารฝรั่งเศสในเรือแองกองสตองต์และกอแมตรวมกัน ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นเพียง ๒๒๐๑๔ นายเท่านั้น เรือที่เราจมได้ก็เป็นเพียงเรือสินค้าที่ฝรั่งเศสอาศัยนำร่อง ชื่อ เย.เบ. เซย์๑๕ ซึ่งปกติแล่นประจำเส้นทางระหว่างไซ่ง่อนกับบางกอก ไม่ใช่เรือรบ จำนวนทหารฝรั่งเศสที่เสียชีวิตเมื่อเทียบกับฝ่ายสยามอาจเป็นดัชนีที่ชี้ประสิทธิภาพของกองกำลังฝ่ายสยามได้อย่างหนึ่ง
พ้นจากเรื่องกำลังทหารแล้ว นายนอร์แมนยังได้กล่าวถึงสาเหตุอีกด้านหนึ่ง ซึ่งนายสมิธและนายแคมป์เบลล์ไม่ได้กล่าวไว้ โดยเล่าถึงบรรยากาศของคณะผู้ปกครองประเทศในครั้งนั้นไว้ดังนี้
“จาก พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) เหล่าเสนาบดี๑๖ อยู่ในช่วง ๙ เดือนแห่งกลอุบายและความริษยา ตามด้วย ๓ เดือนของฝันร้ายแห่งการแตกคอและความขัดแย้ง” และ “เมื่อเรือปืนของฝรั่งเศสเข้ามาถึงแม่น้ำจริงๆ พร้อมการข่มขู่ว่าจะโจมตี และสยามอยู่ในภาวะซวนเซจวนล้ม การประชุมของเหล่าเสนาบดีมีสภาพคล้ายกับการทะเลาะกันในร้านเหล้า” ตามด้วย “เหล่าเสนาบดีไม่มีการทำงานที่ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว หรือแนวคิดและนโยบาย” หนังสือรวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ ๔ เรื่อง “ชีวิตความเป็นอยู่และการเมืองการปกครองของชาวตะวันออกไกล : ตอนประเทศสยาม” มีเชิงอรรถบรรยายไว้โดยกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับคำบอกเล่าของนายนอร์แมนพอสมควรดังนี้ “เมื่อคราวเกิดวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ข้าราชการในคณะรัฐบาลสยามขณะนั้นมีความคิดเห็นแตกเป็น ๒ ฝ่าย
ในการหาวิธีป้องกันรักษาพระนครจากการรุกรานของกองเรือฝรั่งเศส
ฝ่ายหนึ่งนำโดยพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ สนับสนุนการใช้กำลังตอบโต้ฝรั่งเศส
อีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มของกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ซึ่งสนับสนุนให้ใช้การทูตเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา หลังจากทรงไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยดำเนินพระบรมราโชบายตามข้อเสนอแนะของกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ”
นอกจากนี้นายนอร์แมนยังวิจารณ์บทบาทของที่ปรึกษาทั่วไปในขณะนั้น คือเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือโรแลง ยัคมินส์๑๗ ด้วยว่า “มองซิเออร์ยัคมินส์ ในฐานะที่เป็นนักทฤษฎี ไม่ได้วิตกถึงรายละเอียดในทางปฏิบัติอันแท้จริงของกองทหารที่ไร้วินัยและทหารเรือหลอกๆ ถ้ากฎหมายระหว่างประเทศระบุว่า พลเมืองมีสิทธิ์ต่อดินแดนของตน
ก็เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านว่า สยามต้องระลึกถึงและยืนยันสิทธิ์เหล่านี้
ซึ่งสยามก็รับฟังท่านด้วยความชื่นชม และตอบสนองด้วยความกระตือรือร้น
แต่อย่างไรก็ตามขอให้ความเป็นธรรมแก่ท่านด้วยการกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ท่านไม่ได้รับแจ้งให้ทราบถึงสภาพที่แท้จริงของกองกำลังของสยามตลอดจนวิธีการอื่นๆ ในการป้องกันประเทศ ดังนั้นผลลัพธ์จากคำแนะนำของท่านจึงทำให้ท่านรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง ดังที่เห็นได้ในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม เมื่อท่านพบว่าเรือปืนขนาดเล็กทำด้วยไม้ ๒ ลำของฝรั่งเศสได้แล่นเข้ามาถึงบางกอกได้อย่างง่ายดาย ทั้งๆ ที่ท่านได้รับการยืนยันว่า เรือรบของสยามจะยิงเรือฝรั่งเศสจนเป็นจุณ”
ประเด็นที่ว่า เจ้าพระยาอภัยราชาฯ ไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับกำลังทหารนี้
ค่อนข้างขัดกับเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสืออ้างอิงลำดับที่ ๙ ของวอลเตอร์
ทิปส์ ที่ว่า
“ดูเหมือนส่วนหนึ่งเป็นความเข้าใจผิดของท่านที่ปรึกษาทั่วไป และบางที อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ประเมินความสามารถของทหารสยามที่จะต่อต้านกองกำลังฝรั่งเศสไว้สูงจนเกินไป แน่นอนว่า ดังที่เราได้แสดงไว้ในจดหมายข้างต้นจากภรรยาของท่านคือเอมิลี
ณ จุดหนึ่ง ท่านโรแลง ยัคมินส์ รู้สึกหวาดหวั่นกับความไม่พร้อมในกองทัพสยาม”
จดหมายจากภรรยาของเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ที่กล่าวถึงนั้นมีใจความตอนหนึ่งว่า
“ชาวสยามแสดงให้เห็นถึงพละกำลังที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้ กำลังคน กระสุน อาวุธ ทุกอย่างมาถึงมือแล้ว ถ้าเกิดสงครามขึ้น แม้ไม่มีใครหวังว่าจะเอาชนะฝรั่งเศสได้ แต่ก็จะไม่ยอมแพ้โดยไม่ต่อสู้ ซึ่งจะทำให้สูญเสียมาก และเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก” เมื่อพูดถึงประเด็นการส่งเรือรบของฝรั่งเศสเข้ามาในบางกอก เราทราบว่ามองซิเออร์ปาวี๑๘ เป็นผู้แจ้งให้ฝ่ายสยามทราบเกี่ยวกับการที่รัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจส่งเรือปืนอีก ๒ ลำเข้ามาสมทบเรือลูแตง ซึ่งจอดสมอค้ำคอหอยของชาวสยามอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส เรือ ๒ ลำนั้นมาถึงสันดอนในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม เหตุผลของฝรั่งเศสในการส่งเรือ ๒ ลำนี้เข้ามาคือ “เพื่อคุ้มครองผู้คนและทรัพย์สินของฝรั่งเศสในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่แน่นอน” โดยอ้างว่าอังกฤษก็ส่งเรือหลายลำมาเพื่อจุดประสงค์ในการคุ้มครองผู้คนและทรัพย์สินของอังกฤษก่อนแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสเพียงแต่ปฏิบัติตามประเทศมหาอำนาจอื่นเท่านั้น เหตุผลของฝรั่งเศสข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเลยทีเดียว เพราะประการแรก อังกฤษส่งเรือชื่อสวิฟต์๑๙ เข้ามาจอดหน้าสถานทูตของตนภายหลังจากที่เรือลูแตงทอดสมอหน้าสถานทูตฝรั่งเศสแล้วหลายสัปดาห์๒๐ ฉะนั้นฝรั่งเศสจึงไม่ใช่ผู้ปฏิบัติตาม ประการที่ ๒ คือ ในบรรดาประชากรชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในบางกอก ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ คนนั้น เกินกว่า ๑ ใน ๓ เป็นชาวอังกฤษ โดยที่ ๔๐-๕๐ คน เป็นลูกจ้างของรัฐบาลสยาม ประมาณกันว่า การค้าขายทางเรือ ๘๘ เปอร์เซ็นต์ ที่ท่าเรือบางกอกเป็นของชาวอังกฤษ
ส่วนชาวฝรั่งเศสนั้นมีจำนวนน้อยมากและไม่มีอิทธิพลใดๆ ทางการค้า ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม มีชาวฝรั่งเศสอยู่นอกสถานทูตฝรั่งเศสเพียง ๓ คนเท่านั้น ตีความง่ายๆ
คือ ฝรั่งเศสเป็นห่วงคนของตนมากถึงขนาดที่ต้องส่งเรือมาคุ้มครอง ๑ ลำต่อคน
หลังจากการยิงต่อสู้ที่ปากน้ำแล้ว ฝ่ายสยามถูกกล่าวหาว่า กระทำการโจมตีโดยไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนสนธิสัญญาปี พ.ศ. ๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖)
หนังสือของนายนอร์แมนและนายแคมป์เบลล์กล่าวว่า ตามสนธิสัญญาดังกล่าว
เรือของฝรั่งเศสสามารถเข้ามาจอดทอดสมอที่เมืองปากน้ำได้ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่สยามทราบก่อนแล่นเข้าสู่บางกอก ประเด็นที่มีผู้โต้แย้งกันคือ
๑. ใจความในสนธิสัญญาที่ว่า “ต้องแจ้ง” นั้นไม่ได้ระบุลงไปอย่างแน่นอนว่า
แจ้งแล้วต้องรออนุมัติจากเจ้าหน้าที่ของสยามหรือไม่
๒. ฝ่ายสยามเปิดฉากยิงขณะที่เรือของฝรั่งเศสกำลังแล่นผ่านป้อมใหม่๒๑
ซึ่งอยู่นอกสันดอน ก่อนเข้าถึงปากน้ำ ดังนั้นหากถือตามสนธิสัญญาแล้ว
ฝรั่งเศสจึงไม่ใช่ฝ่ายผิด แม้มีความตั้งใจแล่นเข้าบางกอกก็ตาม ทว่า
เมื่อพิจารณาถึงความจริงที่ว่า ฝ่ายฝรั่งเศสได้ตกลงแล้วว่า
เรือของตนจะจอดอยู่นอกสันดอน ทหารเรือฝรั่งเศสก็หาใช่ผู้ไร้เดียงสาไม่
โทรเลขที่กัปตันโจนส์ส่งถึงเอิร์ลแห่งโรสเบอรีหลังเกิดเหตุ ลงวันที่ ๑๗
กรกฎาคม เล่าถึงเหตุผลที่สยามเชื่อว่าเรือปืนฝรั่งเศสจะไม่รุกล้ำเข้ามา
นั่นคือ มองซิเออร์ปาวีได้รับปากไว้แล้วที่จะส่งนายทหารจากเรือลูแตงไปพบผู้บัญชาการของเรือแองกองสตองต์ เพื่อสั่งให้จอดเรือรออยู่นอกสันดอนตามที่ฝรั่งเศสกับสยามได้ตกลงกันไว้
มีผู้เห็นนายทหารนายนั้นไปถึงเรือแองกองสตองต์เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น
ฉะนั้นผู้บัญชาการของเรือดังกล่าวจึงควรทราบข้อตกลงดังกล่าวดี
เรื่องนี้ชวนให้สงสัยว่า
บางทีนายทหารเรือผู้นั้นอาจนำความอย่างอื่นไปแจ้งฝรั่งเศสกล่าวว่า ฝ่ายตนไม่มีเจตนาที่จะบุกรุกบางกอก เรือแองกองสตองต์และกอแมตมีทหารรวมกันทั้งหมด ๒๒๐ นายเท่านั้น
ไหนเลยจะเข้าโจมตีเมืองบางกอกซึ่งมีพลเมืองอาศัยอยู่ประมาณ ๒ แสน๒๒
คนได้ ตรงนี้ก็ชวนให้คิดเหมือนกันว่า ถ้าเรายอมเสี่ยงให้เรือรบของฝรั่งเศสเข้ามาถึงปากน้ำ
บางทีฝ่ายนั้นอาจหยุดจอดทอดสมอที่นั่นจริงดังปากว่า แต่ถ้าฝรั่งเศสเกิดตุกติกและแล่นเรื่อยเข้ามาถึงบางกอก ชาวบางกอกในครั้งนั้นจะปล่อยให้ทหารฝรั่งเศสจำนวน ๒๐๐ กว่าคนรุกรานได้กระนั้นหรือ นอกจากนี้ถ้าทหารของเราได้รับการฝึกให้มีความสามารถในการรบด้วยอาวุธทันสมัย และทำให้เรือแองกองสตองต์และกอแมตได้รับความเสียหายอย่างหนักได้ บางทีฝรั่งเศสอาจต้องใช้เวลาคิดมากกว่าเดิมและอาจเปลี่ยนท่าทีก็ได้ แต่เรื่องแบบนี้ใครล่ะจะพยากรณ์ได้ปัจจัยเรื่องเวลาในการติดต่อสื่อสาร และเวลาที่ฝ่ายสยามได้รับโทรเลขแจ้งข่าวเรื่องเรือ ๒ ลำจากฝรั่งเศสนั้นเป็นสิ่งที่มีผู้ถกเถียงไว้เช่นกัน เอิร์ลแห่งโรสเบอรีได้รับโทรเลขจากนายฟิปปส์๒๓ ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ซึ่งมีใจความเกี่ยวกับเวลาที่ฝ่ายสยามได้รับข่าวของรัฐบาลฝรั่งเศสดังนี้ “รัฐบาลสยามมีเวลาเหลือเฟือที่จะหลีกเลี่ยงการโจมตีเรือฝรั่งเศสในวันที่
๑๓ กรกฎาคม เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสมีหลักฐานแน่นอนที่พิสูจน์ว่า เมื่อเวลา ๑๐ นาฬิกาของวันนั้น ฝ่ายสยามทราบดีว่า เรือของฝรั่งเศสไม่มีเจตนาที่จะแล่นขึ้นแม่น้ำ”
ไม่ทราบว่า “หลักฐานแน่นอน” ของฝรั่งเศสนั้นคืออะไร
หากหลักฐานดังกล่าวเกี่ยวโยงกับระบบราชการสยามที่เสนาบดีหลับกลางวันแล้วละก็
คงไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อหากคิดว่าฝรั่งเศสเองก็รู้อยู่แก่ใจเกี่ยวกับระบบการทำงานแบบนี้
และอาจคาดไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าส่งข่าวมาในช่วงเช้า จะไม่มีผู้ใดตอบรับหรือดำเนินการใดๆ
ทั้งนี้เพราะการหลับกลางวันเป็นสิ่งที่ดูเหมือนชาวต่างชาติทราบกันดีอยู่แล้ว
และมีบันทึกไว้หลายแห่งดังนี้
เจ้าพระยาอภัยราชาฯ
กล่าวไว้ในจดหมายที่เขียนถึงลูกชายเกี่ยวกับโทรเลขที่ฝรั่งเศสส่งมาไว้ว่า “ลูกอาจถามพ่อว่า ถ้าเราได้รับโทรเลขฉบับนั้นเวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกาในตอนเช้าของวันที่ ๑๓ แล้ว เหตุใดเราจึงไม่ติดต่อกับปาวีทันที โชคร้ายจริงที่เหตุผลเป็นเรื่องโง่เขลา ลูกก็ทราบนี่ว่า เสนาบดีสยามหลับตอนกลางวัน และทำงานตลอดจนประชุมกันในเวลากลางคืน เรื่องนี้ส่งผลให้เมื่อโทรเลขฉบับนั้นมาถึง จึงได้แต่รอกันเงียบๆ โดยไม่บอกให้พ่อรู้ด้วยซ้ำ จนกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ทรงตื่นจากบรรทม ซึ่งพระองค์ทรงตื่นขึ้นตอนที่มีคนได้ยินเสียงยิงปืนใหญ่ที่ปากน้ำนั่น”
ไม่ใช่แต่เพียงเจ้าพระยาอภัยราชาฯ ซึ่งเพิ่งเข้ามารับราชการในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) เท่านั้นที่ทราบเกี่ยวกับระบบงานแบบนี้ นายนอร์แมนเองก็กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“ปกติคณะรัฐบาลเข้าประชุมกันเวลา ๘ นาฬิกายามค่ำ ซึ่งกินเวลาตลอดคืน โดยมากพระเจ้าอยู่หัวสด็จเข้าร่วมด้วย บางครั้งพระบรมโอรสาธิราชก็ทรงเข้าร่วม” และ “เนื่องจากเหล่าเสนาบดีนั่งปฏิบัติงานตามปกติของตนตลอดคืนเป็นเวลา ๕ คืนต่อสัปดาห์ แน่นอนว่าท่านต้องหลับนอนตลอดช่วงกลางวัน และเดินลอยชายเข้าห้องทำงานเวลาใดก็ได้หลังอาทิตย์ตกดิน”
ยิ่งกว่านั้น โทรเลขจากมองซิเออร์ปาวีที่ส่งถึงกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ยังมีข้อความที่ชี้ว่า มองซิเออร์ปาวีน่าจะทราบถึงเวลาทำงานของเสนาบดีสยามดี
ประโยคสุดท้ายของโทรเลขดังกล่าวมีใจความว่า
“เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดทั้งหลาย กระหม่อมหวังว่าพระองค์จะทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าในวันพรุ่งนี้ตามเวลาปกติของพระองค์” กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ทรงตอบกลับไปว่า
“ข้าพเจ้าได้รับข่าวจากท่านในวันนี้เวลา ๑ ทุ่ม และรู้สึกเป็นเกียรติที่จะพบท่านในวันพรุ่งนี้เวลา ๖ โมงเย็น”
พระองค์ยังทรงตอบไม่เห็นด้วยกับการที่เรือแองกองสตองต์จะแล่นผ่านสันดอนเข้ามาจอดทอดสมออีกด้วย ไม่ว่าที่ปากน้ำหรือบางกอกประเด็นสุดท้ายที่ขอกล่าวถึงคือ ความเกี่ยวข้องของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งดำเนินการเจรจาอย่างต่อเนื่องกับฝ่ายสยามและฝรั่งเศสตลอดช่วงวิกฤตการณ์ แรกๆ รัฐบาลอังกฤษอาจมีท่าทีว่าจะช่วยเหลืออยู่บ้าง แต่ต่อมาเป็นฝ่ายตะล่อมให้เราโอนอ่อนและจำนนต่อคำขาดของฝรั่งเศส นายนอร์แมนกล่าวถึงคำปรึกษาที่ลอร์ดโรสเบอรีบอกผ่านกัปตันโจนส์๒๔
มายังกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ดังนี้
“เนื้อหาของคำปรึกษาที่ข้าพเจ้าได้ให้แก่รัฐบาลสยามอย่างสม่ำเสมอตลอดมาเป็นไปในทำนองให้หาทางปรองดองกับฝรั่งเศสโดยเร็ว เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะหันเหไปจากทัศนะดังกล่าวในขณะนี้
หรือมีความเห็นแตกต่างไปจากคำแนะนำในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้” และ
“ผลลัพธ์จากการสอบถามที่ข้าพเจ้าสามารถกระทำได้ที่ปารีส แสดงว่าแนวโน้มในข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสมีแต่จะเพิ่มขึ้น และอย่างรวดเร็ว ถ้าสยามยังคงยืนกรานปฏิเสธต่อเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในคำขาดนั้น” และ “ข้าพเจ้าไม่เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สยามหวังที่จะได้รับประโยชน์อันใดจากการยืนกรานปฏิเสธที่จะยอมรับเงื่อนไขต่างๆ หรือมีวิถีทางอื่นใดที่ดีไปกว่าการยอมรับเงื่อนไขของฝรั่งเศสในทันทีโดยไม่ต่อรอง”
หลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ แล้ว
การทหารและการต่างประเทศของสยามได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม
บางทีเหตุการณ์ร้ายเช่นนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เราเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น
และหาหนทางปรับปรุง หลาย�
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น