ช่องโหว่ในการรักษาความปลอดภัย และประเด็นท้าทายหลังเหตุโจมตีกรุงปารีส
กอร์ดอน คอเรรา ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของบีบีซีรายงานว่า หลังเหตุก่อการร้ายทุกครั้ง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม จะมีคำถามหนึ่งตามมาอยู่เสมอคือ จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีก ?
สำหรับกรณีเหตุก่อการร้ายที่กรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 พ.ย.) นั้น หลายฝ่ายได้ชี้นิ้วไปแล้วว่า หน่วยข่าวกรองผิดพลาดหลายเรื่อง และได้มีการพูดถึงประเด็นท้าทายในมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วย
ประเด็นท้าทายข้อแรกอยู่ที่การทำงานของหน่วยความมั่นคงฝรั่งเศส ทั้งนี้เพราะผู้ก่อเหตุหลายคน เช่น โอมาร์ มอสเตเฟ และซามี อามิมูร์ มีชื่ออยู่ในบัญชีของหน่วยงานด้านความมั่นคงอยู่แล้ว ว่าเป็นบุคคลที่มีแนวคิดสุดโต่งและเคยเดินทางไปซีเรีย แต่พวกเขายังสามารถเดินทางกลับฝรั่งเศสได้ โดยที่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่องเลย
ในประเด็นนี้ ทำให้ดูเหมือนว่า มีความผิดพลาดด้านงานข่าวกรอง แต่อาจยังฟังธงไม่ได้ทั้งหมด ต้องไปดูว่าทำไมดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่อง ผู้สื่อข่าวชี้ว่า การก่อการร้ายครั้งใหญ่ ๆ แบบที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสนั้น เป็นปฏิบัติการที่ต้องใช้เวลาเตรียมการและย่อมจะต้องมีการทิ้งร่องรอยไว้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นร่องรอยจากการติดต่อสื่อสารผ่านทางอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ระหว่างกลุ่มบุคคลที่ทางการมีชื่ออยู่ในบัญชีและคอยติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขาอยู่แล้ว หลายฝ่ายหวังว่าหน่วยข่าวกรองน่าจะได้เบาะแสบ้าง แต่ในกรณีนี้พวกเขากลับไม่พบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า กลุ่มที่เตรียมลงมือมีวิธีป้องกันไม่ให้แผนของตนรั่วไหล พวกเขาอาจมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบที่สามารถเล็ดลอดหูตาของหน่วยข่าวกรองไปได้ มีรายงานว่าพวกเขาใช้แอปพลิเคชั่นที่ต้องเข้ารหัส อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุใช้วิธีดังกล่าวจริงในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
ผู้สื่อข่าวชี้ว่า ปัญหาที่แท้จริงสำหรับหน่วยความมั่นคงฝรั่งเศส คือมีผู้ที่เดินทางไปร่วมรบในซีเรียจากฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก ประเมินกันว่ามีอยู่ราว 1,000 คน การเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวพวกเขาตลอดเวลาไม่ใช่งานง่าย เพราะต้องติดตามว่าพวกที่ไปนั้นเดินทางกลับมาแล้วหรือยัง หลังจากนั้นก็ต้องสอดแนมความเคลื่อนไหวกันตลอดเวลา นับว่าเป็นงานที่ล้นมือเกินกำลังของหน่วยความมั่นคงใด ๆ จะรับได้
ภารกิจหลักของหน่วยงานเหล่านี้คือการประเมินความเสี่ยงและจัดอันดับความสำคัญของงานที่ต้องทำ เพราะมีกำลังเจ้าหน้าที่จำกัด แต่การประเมินความเสี่ยงอาจมีความผิดพลาด บางคนอาจถูกมองว่าไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงกลับเป็นเรื่องตรงข้าม ผู้สื่อข่าวบอกว่านี่เป็นปัญหาของหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศอื่นในยุโรปเช่นกัน
ปัญหาที่สองคืองานด้านระหว่างประเทศ กลุ่มผู้นิยมความสุดโต่งมีเครือข่ายอยู่นอกประเทศ จะเห็นได้ว่าผู้ก่อเหตุโจมตีที่กรุงปารีสนั้น เดินทางข้ามพรมแดนไปมาทั่วยุโรปโดยใช้ช่องโหว่ด้านความมั่นคง และดูเหมือนว่าพวกเขาวางแผนและเตรียมการในเบลเยียม ทั้งนี้เบลเยียมเป็นประเทศที่เล็กกว่าฝรั่งเศส และหน่วยความมั่นคงมีศักยภาพน้อยกว่าของฝรั่งเศสด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามปกติหน่วยงานความมั่นคงแต่ละชาติจะให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงที่เกี่ยวกับชาติของตนเป็นหลัก ส่วนในกรณีบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ที่อยู่ไม่เป็นที่และเดินทางไปมาตลอดนั้น ก็จะต้องอาศัยการแบ่งปันข้อมูลด้านข่าวกรองจากประเทศอื่น ดังนั้นแต่ละชาติจะต้องพึ่งพาและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองให้กันและกัน แต่ในความเป็นจริง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันเหตุร้ายเสมอไปทุกครั้ง เช่น ทางการตุรกีเคยส่งข่าวให้ฝรั่งเศสทราบเมื่อปีที่แล้วและในปีนี้ว่า นายโอมาร์ มอสเตเฟ มีความเชื่อมโยงกับผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย 4 คนที่เคลื่อนไหวอยู่ในตุรกี จากนั้นทางฝรั่งเศสได้ขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ จนกระทั่งเกิดเหตุโจมตีที่กรุงปารีส
นับแต่นี้ไป หน่วยข่าวกรองและหน่วยความมั่นคงจะต้องเจอแรงกดดันให้เร่งแก้ไขและพัฒนากระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งร่วมมือกับสหรัฐฯ ด้วย และโดยเฉพาะการเดินทางเข้าออกประเทศต่าง ๆ
ดูเหมือนว่าตำรวจเองก็พลาด เพราะว่าก่อนเกิดเหตุโจมตีที่กรุงปารีส ตำรวจได้ตรวจค้นบุคคลที่มีส่วนร่วมในการวางแผนโจมตี แต่ได้ปล่อยตัวไป มีรายงานว่าเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตำรวจออสเตรียได้หยุดรถของนายซาเลห์ อับเดสลาม เพื่อตรวจค้น ตอนที่เขาข้ามพรมแดนมาจากเยอรมนีพร้อมกับผู้ชายอีก 2 คน แต่ก็มีคำถามว่าในกรณีแบบนี้ ในตอนนั้นตำรวจมีข้อมูลหรือควรมีข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองประเทศอื่นหรือไม่ ที่บ่งชี้ว่านายอับเดสลามเป็นภัยคุกคามความมั่นคง มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ลงมือก่อเหตุคนหนึ่งปลอมตัวเป็นผู้ลี้ภัย และอาจใช้หนังสือเดินทางซีเรียปลอมด้วย ทำให้การตรวจสอบเรื่องนี้ทำได้ยากขึ้นไปอีก
ผู้สื่อข่าวชี้ว่า คลื่นผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้าไปยังยุโรป ทำให้ผู้ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์แฝงตัวเข้ามาได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน แม้ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงปลอมตัวเป็นผู้อพยพและแฝงตัวเข้ามาก่อเหตุที่กรุงปารีส แต่ถ้าหากมีการยืนยัน การรับมือกับผู้อพยพอาจจะต้องเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามในบางประเทศการควบคุมคนเข้าเมืองและวิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นทางการเมือง ทำให้การหาทางออกระหว่างชาติในยุโรปเพื่อหาจุดยืนร่วมกันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของบีบีซีสรุปในตอนท้ายว่า การก่อการร้ายที่ทำสำเร็จในที่สุดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวในงานข่าวกรอง และพอมองย้อนกลับไปทบทวนเรื่องต่าง ๆ ก็จะเห็นภาพความผิดพลาดได้ชัดขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรามักมองเห็นปัญหาและข้อผิดพลาดได้ง่าย หลังจากเกิดเรื่องร้าย ๆ ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ปัญหาเหล่านั้นมีความซับซ้อนและแก้ไข้ได้ยาก #ParisAttacks
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น