ถึงแม้ผลรางวัลเมืองน่าเที่ยวจะตกเป็นของกรุงเทพฯ อยู่หลายครั้งจากหลายสำนัก แต่รู้หรือไม่ว่าการจัดอันดับเมืองน่าอยู่ โดย The Economist Intelligence Unit เรากลับอยู่รั้งท้ายตารางเป็นอันดับ 102 ของโลกจากทั้งหมด 140 ประเทศ แล้วเหตุใดทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเรื่อง "10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพฯ" ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ชี้ให้เห็นว่า การตรวจสอบต่างๆ เรามักมุ่งเน้นไปที่รัฐบาลกลาง แต่เรื่องท้องถิ่นไม่ค่อยมีใครจับตามอง ไม่ค่อยมีการตรวจสอบประเมินผลนโยบายหรือเรื่องต่างๆ ที่ทำ แต่หากนึกถึงสิ่งที่กระทบชีวิตประจำวันจริงๆ หลายเรื่องมาจากรัฐบาลท้องถิ่น และสิ่งเหล่านี้กระทบชีวิตของเรามากกว่านโยบายในระดับมหภาคเสียอีก แล้ว 10 ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานั้นจะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย
ข้อเท็จจริงที่ 1 กทม. มี 37 หน่วยงานดูแลการจราจร แต่อัตราเร็วเฉลี่ยของรถยนต์อยู่ที่ 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
ถึงแม้ในกทม. จะมีหน่วยงานที่ดูแลด้านการจราจรกว่า 37 หน่วยงาน อาทิ กทม. เป็นผู้สร้างและซ่อมสัญญาณไฟจราจร, ตำรวจจราจรคือผู้ควบคุมสัญญาณไฟ, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจรเป็นผู้กำหนดเส้นทางการเดินรถเมล์และรถไฟฟ้า แต่นั่นไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหาการจราจรดีขึ้น ล่าสุด ผลสำรวจจาก Castrol Magnatec Start-Stop index ระบุว่า ความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ที่วิ่งบนถนนสายหลักของประเทศไทยอยู่ที่ 16 กม. ต่อชั่วโมง หรือเท่ากับความเร็วของจักรยานที่แนะนำให้ปั่นในเมือง
ภาพ:
ข้อเท็จจริงที่ 2 ลงทุนไปมากกับการขนส่งมวลชนที่มีจำนวนผู้ใช้บริการน้อย
เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์ซึ่งลงทุนใช้งบฯ ไปถึง 33,000 ล้านบาท แต่มีผู้โดยสารปีละ 17 ล้านคนเท่านั้น น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเดิม 35 ล้านคนต่อปี เช่นเดียวกับขบวนรถด่วน BRT ที่ลงทุนไป 2,800 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 6 ล้านคนต่อปี น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 13 ล้านคน ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ได้งบประมาณเพียง 70 ล้านบาทในการดูแล ทั้งที่มีผู้ใช้บริการสูงถึง 29 ล้านคนต่อปี
ข้อเท็จจริงที่ 3 กทม. มีเจ้าหน้าที่เทศกิจกว่า 3,200 คน เฉลี่ยอัตราส่วน 2 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร
เมื่อเทียบจำนวนเทศกิจของกทม. จำนวน 3,200 คน กับพื้นที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร เฉลี่ยจะมีเทศกิจ 2 คน คอยดูแลพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร แต่ทำไมเราถึงยังพบเจอปัญหาสภาพทางเท้าทรุดโทรม ร้านค้าแผงลอยและมอเตอร์ไซค์อยู่บนฟุตบาท ป้ายโฆษณากีดขวางทางเท้า ซึ่งบางครั้งก็เป็นป้ายประชาสัมพันธ์ของกทม. เอง
ข้อเท็จจริงที่ 4 กทม. ใช้งบฯ ประชาสัมพันธ์ปีละ 377 ล้านบาท เท่ากับจ้างคนกวาดถนนเพิ่มได้อีก 3,500 คน
งบประมาณประชาสัมพันธ์ของกทม. อยู่ที่ปีละ 377 ล้านบาท แต่เป็นการประชาสัมพันธ์โครงการของกรุงเทพฯ เช่น "กรุงเทพฯ มหานครแห่งความสุข" ใช้งบฯ 30 ล้านบาท "รักกรุงเทพร่วมสร้างกรุงเทพ" ใช้งบฯ 20 ล้านบาท "กรุงเทพฯมหานครแห่งอนาคต" ใช้งบฯ 8 ล้านบาท
ภาพ:
ข้อเท็จจริงที่ 5 ค่ารถไฟฟ้าในกทม. แพงกว่าในโตเกียว 1.4 เท่า ในฮ่องกง 1.7 เท่า ในเซี่ยงไฮ้ 4 เท่า
เมื่อราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยใน กทม. ปรับตัวสูงขึ้นทุกๆ ปี ทำให้ผู้คนต้องออกไปอาศัยอยู่บริเวณชานเมืองมากขึ้น และก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในเดินทางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยก็แพงกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเมืองอื่น เช่น โตเกียว ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้และค่าครองชีพ
ข้อเท็จจริงที่ 6 กทม. ประกาศว่ามีพื้นที่สีเขียว 5 ตารางเมตรต่อคน แต่ความจริงมีเพียง 2.2 ตารางเมตรต่อคน
ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อมได้ทำการรวบรวมพื้นที่สีเขียวใน กทม. ทั้ง 50 เขต พบว่ามีพื้นที่ 34 ล้านตารางกิโลเมตร โดยนับรวมพื้นที่ของเอกชน ต้นไม้บนทางเท้า หรือกระทั่งเกาะกลางถนน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้กว่า 40% ใช้ประโยชน์และเข้าถึงไม่ได้ และจำนวนคนที่นำมาคำนวณเป็นตัวเลขประชากรตามทะเบียนราษฎร์ที่มีเพียง 5 ล้านคน แต่แท้จริงแล้วตามสำมะโนประชากรมีคนอาศัยอยู่ในกทม. 9 ล้านคน
ข้อเท็จจริงที่ 7 กทม. มีข้าราชการและลูกจ้างอยู่ที่ 97,000 คน
กทม. มีข้าราชการและลูกจ้างอยู่ที่ 97,000 คน มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของโซล ประเทศเกาหลีใต้ 2 เท่า และมากกว่าจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย 1.5 เท่า ซึ่งทั้งสองเมืองมีประชากรราว 10 ล้านคน ขณะที่กทม. มีประชากร 9 ล้านคน
ภาพ:
ข้อเท็จจริงที่ 8 2 ใน 3 ของเด็กนักเรียนสังกัดกทม. ตกวิชาเลขที่จัดสอบโดย PISA
ผลคะแนนวิชาคณิตศาสตร์จากการจัดสอบโดย PISA (การจัดสอบวัดผลระดับนานาชาติ) ซึ่งเป็นเกณฑ์พื้นฐานขั้นต่ำที่นักเรียนควรรู้ ปี 2555 พบว่า 65% ของนักเรียนสังกัด กทม. ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่นักเรียนในสังกัดเทศบาล และอบต. ทั่วประเทศ ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์น้อยกว่า 57%
ข้อเท็จจริงที่ 9 กทม. จ่ายโบนัสให้ปีละ 2,300 ล้านบาท
ทุกหน่วยงานของกทม. มีผลการประเมินการปฏิบัติราชการอยู่ในระดับดีมาก ทำให้ได้รับการจัดสรรโบนัส 2,300 ล้านบาทหรือประมาณ 1.5 เดือนในทุกหน่วยงาน นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรงบฯ ราว 200 ล้านบาทต่อปี ในการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ และได้รับงบฯ ดูงานทั้งในและต่างประเทศจำนวน 66 ล้านบาท
ข้อเท็จจริงที่ 10 ศาลาว่าการกทม. หลังใหม่ ใช้งบประมาณ 9,900 ล้านบาท แพงกว่าตึกที่สูงที่สุดในกทม.
การก่อสร้างอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ที่นานกว่า 20 ปีก็ยังไม่แล้วเสร็จ ต้องใช้งบประมาณในการสร้าง รวมเป็นเงินกว่า 9,957 ล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอย 97,000 ตารางเมตร เฉลี่ยเป็นเงิน 103,717 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่มูลค่าการก่อสร้างอาคารมหานคร (อาคารที่สูงที่สุดในกทม.) อยู่ที่ 86,855 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น
ที่มา:
ภาพ:
ภาพ:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น