อังกฤษประกาศใช้มาตรการคุมเข้มจ้างแรงงานผิดกฎหมาย
นายเจมส์ โบรคเคนเชียร์ รมต.ช่วยด้านกิจการตรวจคนเข้าเมืองของอังกฤษ ประกาศมาตรการเข้มงวดใหม่ เพื่อรับมือกับบรรดานายจ้างที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยบอกว่าการกระทำดังกล่าวเท่ากับปิดกั้นโอกาสการได้งานของคนอังกฤษและฉุดค่าแรงลงต่ำ
ก่อนหน้านี้ นายฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ถูกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชันแนล ติเตียนมาแล้ว หลังจากที่เขากล่าวในช่วงการเยือนสิงคโปร์ว่า “ผู้อพยพชาวแอฟริกันที่มาเที่ยวปล้นขโมยของ นับเป็นภัยต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ และโครงการทางสังคมของสหราชอาณาจักร”นอกจากนี้ นายแฮมมอนด์ ยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปยกเครื่องกฎหมายคนเข้าเมืองของสหภาพยุโรปเสียใหม่ ซึ่งเขาบอกว่า มาตรการสำคัญอันดับต้นของอังกฤษ คือการส่งคนเข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศ
นสพ. เดอะ ไทมส์ ของอังกฤษรายงานว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกำลังเตรียมกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายอย่างเต็มที่ โดยมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงาน เช่นบริษัทรับทำความสะอาด ธุรกิจก่อสร้าง และสถานที่ดูแลคนชรา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวบีบีซี ชี้ว่า มาตรการที่นายโบรคเคนเชียร์พูดถึงนี้ เป็นมาตรการเดิมที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาปรับให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะต้องการแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นว่า รัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทั้งนี้ มาตรการหนึ่งที่จะนำมาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้นก็คือ การลงโทษปรับนายจ้างที่พบว่าจ้างแรงงานผิดกฎหมายเป็นวงเงิน 20,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1,080,000 บาท นอกจากนี้ หากพบว่าจงใจจ้างงานทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นแรงงานเถื่อน ก็อาจเจอโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีด้วย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีการประกาศว่า หากเจ้าของบ้านคนใดในอังกฤษ ไม่ยอมไล่ผู้เช่าที่เสียสิทธิ์ในการอยู่ในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายออก อาจต้องโทษจำคุก และคาดว่าเร็วๆนี้จะมีการบัญญัติในกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง บังคับให้เจ้าของบ้านตรวจสอบหลักฐานด้านสถานภาพวีซ่าของผู้เช่าก่อนเซ็นสัญญาเช่าด้วย มิเช่นนั้น อาจได้รับโทษตามกฎหมาย
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประมาณการณ์ว่า เมื่อปี 2011 สถิติการใช้แรงงานผิดกฎหมายของสหราชอาณาจักรอยู่ที่ร้อยละ 1 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ ขณะที่เมื่อปี 2013 บีบีซีพบว่าภายในระยะเวลา 5 ปี เจ้าหน้าที่สามารถเรียกเก็บค่าปรับจากนายจ้างที่ใช้แรงงานผิดกฎหมายได้เพียงหนึ่งในสามเท่านั้น
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ รวมถึงภาพนายฟิลิป แฮมมอนด์ รมต.ต่างประเทศอังกฤษ