0

การแต่งหน้าถือเป็นประเด็นด้านสตรีนิยมหรือไม่?
โครงการ 100 Women ของบีบีซีประจำปีนี้เสนอเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจของผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลกที่จะท้าทายแนวความคิดและค่านิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคม สำหรับเรื่องที่นำเสนอนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแต่งหน้าทาปากของผู้หญิง ซึ่งแฮร์เรียต ฮอลล์ จากนิตยสาร Stylist บอกว่า เรื่องนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้หญิง ทว่ามันกลับเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักสตรีนิยม
แฮร์เรียต มองว่า การแต่งหน้าเป็นการแสดงความเป็นตัวตนอย่างหนึ่งเหมือนกับการรีดเสื้อผ้าหรือการหวีผม แต่สำหรับกลุ่มสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองซึ่งเคลื่อนไหวในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 – 1980 กลับเสนอให้ผู้หญิงหันหลังให้กับเครื่องประทินโฉมต่าง ๆ เพราะเชื่อว่ามันเปรียบเสมือนเครื่องกดขี่ผู้หญิงและสนองความต้องการของผู้ชาย
เมื่อปี 1991 นาโอมิ วูล์ฟ เขียนเอาไว้ในหนังสือ The Beauty Myth ว่าช่วงเวลาที่ผู้หญิงเป็นอิสระจากการทำงานบ้าน แล้วเริ่มมีความก้าวหน้าทางด้านการเมืองและสังคม ผู้หญิงกลับต้องเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นในการทำให้ตนเองมีรูปลักษณ์เป็นไปตามค่านิยมความงามของสังคมผ่านทางโฆษณาต่างๆ
ทีมงาน 100 Women ของบีบีซี ได้ร่วมพูดคุยกับผู้หญิงกลุ่มหนึ่งและจัดให้มีการแต่งหน้าแปลงโฉมพวกเธอ ซึ่ง แคร์รี หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมบอกว่า เธอจะไม่ยอมเข้าประชุมโดยไม่แต่งหน้าเด็ดขาด เพราะการแต่งหน้าเปรียบเสมือนการแสดงอำนาจควบคุมอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองมีเสน่ห์ดึงดูดและทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นด้วย
ส่วน มาเรีย กลับมองว่า การแต่งหน้าเป็น “การเสพติด” และว่าเธอมักพยายามอธิบายให้ลูกสาววัย 13 ปีฟังว่าการแต่งหน้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวตนที่แท้จริงของเรา และบางคนก็แต่งหน้าออกมาสวยราวกับภาพวาด แต่นั่นก็จะทำให้เราเสพติดมัน ขณะที่ ลู คิดว่า การแต่งหน้าเป็นการเผยรูปลักษณ์ที่ดีที่สุดของตัวเรา และเป็นเหมือนอาวุธที่ช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจให้ตัวเอง
ข้อถกเถียงเรื่องการแต่งหน้ามีมานานหลายร้อยปีแล้ว คนจำนวนไม่น้อยมองว่าการแต่งหน้าเป็นสัญลักษณ์การกดขี่เพศหญิงและรับใช้สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ แต่หลักฐานทางโบราณคดีจากยุคอียิปต์โบราณเมื่อ 6,000 ปีก่อน บ่งชี้ว่า ผู้หญิงและผู้ชายสมัยนั้นต่างนิยมเขียนขอบตา ส่วนในจีนและญี่ปุ่นเมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาลก็พบว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงนิยมย้อมสีเล็บ และจนกระทั่งยุคปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ผู้ชายชาวยุโรปต่างนิยมสวมวิกผม, ทาแป้ง และแต้มไฝเสน่ห์อย่างแพร่หลาย
แฮร์เรียต บอกว่า บางครั้งการแต่งหน้าถูกมองว่าเป็นการแสดงอำนาจของผู้หญิงมากกว่าสัญลักษณ์ของการกดขี่ โดยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 หญิงวัยรุ่นยุคนั้นใช้การแต่งหน้าเป็นเครื่องมือในการแหกกฎเกณฑ์และค่านิยมเรื่องความเป็นกุลสตรีที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย แล้วแสดงออกถึงเสรีภาพและความปรารถนาทางเพศด้วยการทารูจปัดแก้มและลิปสติกในที่สาธารณะ ซึ่งนับเป็นการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศไม่ใช่การยอมตกเป็นเหยื่อของการกดขี่ตามแนวคิดของกลุ่มสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง
ในยุคของกลุ่มสตรีนิยมคลื่นลูกที่สาม ที่เคลื่อนไหวในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 – 1990 นั้น มีความเห็นขัดแย้งกับกลุ่มสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง โดยมองว่าเครื่องสำอางเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจทั้งทางด้านจิตใจและสังคมให้แก่ผู้หญิง เพราะทำให้ผู้หญิงสามารถยอมรับเพศวิถีของตนเองได้อย่างเต็มภาคภูมินั่นเอง‪#‎100Women‬ ‪#‎BBC100Women‬


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top