0


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา: ขอให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

อดีตนายกรัฐมนตรีเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯเสนอไม่ให้เร่งรีบใช้อำนาจทางปกครองเอาผิด ให้เป็นหน้าที่ของศาลตัดสินกรณีชดใช้เงินโครงการรับจำนำข้าว เพราะสง่างามและเป็นธรรมมากกว่าการใช้อำนาจผู้บริหารที่เป็น “คู่กรณีโดยตรง”

จดหมายเปิดผนึกนี้นส.ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ในเฟสบุ๊กพร้อมๆกับที่มีทนายความนำจดหมายเพื่อจะไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย โดยเนื้อหาสำคัญโต้แย้งการใช้มาตรการของรัฐบาลเพื่อเอาผิดและให้ชดใช้ในโครงการจำนำข้าว จดหมายอ้างถึงการที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเมื่อ 3 เม.ย.ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงรวบรวมหลักฐานว่ามีการละเมิดเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการจำนำข้าวและจะต้องรับผิดในผลการละเมิดหรือไม่เป็นเงินเท่าใดโดยให้เวลา 120 วัน ขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วันโดยบอกว่า คดีนี้มีพยานบุคคล พยานเอกสารจำนวนมาก บวกพยานวัตถุที่เป็นข้าวหลายล้านตันเก็บไว้ทั่วประเทศ การจะตรวจสอบให้ครบถ้วนเพื่อให้ความเป็นธรรมในคดีน่าจะต้องใช้เวลามากกว่าที่กำหนด

จดหมายกล่าวว่า ความเร่งรีบเพื่อเอาผิดอันนี้น่าจะมาจากที่นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานด้านข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนในสองเรื่อง คือเรื่องอายุความของคดี และประเด็นเรื่องวิธีการให้รับผิด และยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องอายุความของคดีซึ่งเป็นคดีแพ่งและปกติอายุความ 1-2 ปีนั้น ต้องเริ่มนับตั้งแต่ในวันที่รู้ตัวผู้ที่จะต้องรับผิดและรู้มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งตามหลักดังกล่าวแสดงว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เริ่มนับอายุความ จนกว่าจะได้ข้อยุติจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในทั้งสองเรื่องดังกล่าว ถัดมาเนื่องจากคดีนี้อัยการสูงสุดได้ฟ้องร้องตนในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ดังนั้น ตามหลักที่กำหนดไว้ในมาตรา 448 ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะต้องถืออายุความของการรับผิดทางแพ่งตามอายุความทางคดีอาญาที่ยาวกว่า

อดีตนายกรัฐมนตรียังได้เสนอความเห็นว่า วิธีการที่จะให้ตนรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งนั้น อาจจะทำได้ในสองวิธี กล่าวคือ นอกจากด้วยการฟ้องแพ่งดังกล่าวแล้ว วิธีที่สองคือใช้คำสั่งทางปกครองเรียกให้ชดใช้ตามมาตรา 8 และ 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.2539

“ซึ่งดิฉันมีข้อสังเกตว่า กรณีนายกรัฐมนตรีดำเนินการตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไม่น่าจะอยู่ในบังคับของกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่ารัฐมีสิทธิที่จะเลือกดำเนินการในทางใดทางหนึ่งก็ได้ไม่ใช่บทบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองเรียกให้ดิฉันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2548 ระหว่าง เทศบาลนครพิษณุโลก โจทก์ นางสาวสุภาวดี พิบูลสมบัติ จำเลย”

ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวในจดหมายเปิดผนึกว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับตนซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบให้มากพอจึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบข้อกฎหมายดังกล่าวกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยังจะช่วยลบความวิตกกังวลของเจ้าหน้าที่หากกระทรวงคลังจะต้องฟ้องร้องตนให้ชดใช้ และ

“หมดความจำเป็นต้องออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2558 ที่มีปัญหาข้อกฎหมายว่าเป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ ส่วนประเด็นข้ออ้างเรื่องค่าธรรมเนียมศาลนั้น หากดิฉันเป็นฝ่ายแพ้คดีก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่รัฐบาลต้องใช้ไปในการดำเนินคดีอยู่แล้ว”

พร้อมกับย้ำในตอนท้ายว่าสิ่งที่ตนเรียกร้องคือให้ศาลเป็นผู้พิสูจน์เพราะจะสง่างามและเป็นธรรมมากกว่า “เนื่องจากฝ่ายบริหารเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพราะเป็นคู่กรณีโดยตรงกับดิฉัน แต่กลับออกคำสั่งทางปกครองแทนศาลเรียกร้องให้ดิฉันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงไม่เป็นธรรม” และว่าสิ่งที่เรียกร้องคือขอโอกาสในการต่อสู้คดี กระบวนการที่เร่งรีบไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้ทางคดีอย่างเต็มที่ซึ่ง “ขัดกับสิทธิพื้นฐานความเป็นมนุษย์”

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top