มีหมอสมานแล้ว ไม่ต้องมี สสส.ก็ได้ 555
การออกกฎหมาย ใช้ และตีความกฎหมายเหล้าบุหรี่ แบบหมอสมาน แบบพวกเครือข่ายต้านเหล้าบุหรี่ มันไม่ใช่กฎหมายในรัฐประชาธิปไตย แต่มันโน้มเอียงไปเป็น "กฎหมายศาสนา" ใน "รัฐศีลธรรม"
เพราะรัฐประชาธิปไตยจะเว้นพื้นที่เสรีภาพส่วนบุคคล ให้คุณรับผิดชอบตัวเอง ในส่วนที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิคนอื่น กฎหมายประชาธิปไตยจึงบังคับแค่ห้ามเมาแล้วขับ ห้ามกินเกินเวลา เอะอะรบกวนคนอื่น ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะที่อากาศปิด ต้องใช้ร่วมกัน และกำหนดอายุขั้นต่ำเพื่อปกป้องเด็กเยาวชน
ไม่ใช่ออกกฎหมายมุ่งบีบคั้นให้คนเลิกกินเหล้าสูบบุหรี่ นั่นต้องเป็นการรณรงค์ ไม่ว่าเพื่อสุขภาพ เพื่อศีลธรรม โดยรัฐอาจสนับสนุนมาตรการบางเรื่องเช่นเก็บภาษีสูง จำกัดการโฆษณา
"กฎหมายศาสนา" ที่ใช้จนเว่อร์ มีตั้งแต่ประกาศห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่ (ซึ่งต้องเป็นการรณรงค์ ไม่ใช่บังคับ ประเทศนี้ไม่ใช่รัฐพุทธ) เมนูอาหารมีรูปขวดเบียร์ ปรับ 2 แสนกว่าบาท ห้ามขายเหล้ารอบมหาลัย (เรื่องไรวะ ก็จำกัดอายุอยู่แล้ว เมาใกล้มอสิ กลับหอง่ายกว่า) แล้วก็มาหมอสมานลานเบียร์ สคบ.ห้ามโพสต์ภาพ ฯลฯ
แต่จะไม่ให้คุณงามความดี สสส.เลยก็ไม่ใช่ สสส.เป็นคนให้ตังค์พวกงดเหล้าบุหรี่เคลื่อนไหว ใช้เงินซื้อสื่อ จน "ความดี" เสียงดังกว่าใครในสังคม ในขณะที่สังคมไทยไม่ค่อยตระหนักเรื่องพื้นที่เสรีภาพส่วนบุคคลอยู่แล้ว ต่างกับฝรั่ง ที่เราจะเห็นว่าเวลามีปัญหาทางสังคมมันจะมีคน 2 กลุ่มดีเบทกัน กลุ่มหนึ่งคือพวกเชื่อเสรีภาพ กลุ่มหนึ่งคือพวกเครือข่ายศาสนา ซึ่งมีทุกสังคมนั่นละ แต่แต่ละเรื่องเขาจะโต้แย้งกันหาจุดสมดุล ไม่เหมือนสังคมไทย ที่แม้แต่คนกินเหล้ายังคิดว่าตัวเอง "เลว" เลยไม่ค่อยกล้ามีปากเสียง
นี่เรื่องเดียวกับการเมืองเลยนะ พวกหลงตนเป็นคนดี (รวมทั้งพวกหมอๆ) หนุนรัฐประหาร เพราะเชื่อเรื่องศีลธรรมบังคับ ไม่เชื่ออำนาจตัดสินใจของประชาชน ถ้าประเทศไทยนับถืออิสลาม เราคงเป็นอิหร่านไปแล้ว แต่นี่ก็ไม่แน่เหมือนกันเพราะจะเป็นผู้นำคุณธรรมโลก จะทำหมู่บ้านศีล 5 จะพิจารณาเรื่องพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ฯลฯ
000000
ในขณะที่ คตร.กำลังตรวจสอบ สสส. ข้อหาใช้ภาษีเหล้าบุหรี่ผิดวัตถุประสงค์ จัดสวดมนต์ข้ามปี อนุมัติเงินให้มูลนิธิที่มีกรรมการทับซ้อนกว่า 3 พันล้าน เรื่องย้อนแย้งน่าขันคือ การรณรงค์ต่อต้านเหล้าเบียร์กลับได้ฮีโร่คนใหม่ หมอสมาน ฟูตระกูล ผู้ขี่ม้าขาวไล่ฟาดฟันดาราเซเลบโพสต์ภาพจิบเบียร์ ซ้ำยังขยายการตีความกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ถ้าจัดกิจกรรมลานเบียร์ มีมิวสิคเฟสติวัล นำดารานักร้องมาส่งเสริมการขาย ก็ถือเป็นความผิดมาตรา 32 ต้องไล่จับให้หมด
แหม่ ถ้าตีความแบบนี้ ร้านเพลงเพื่อชีวิตก็ท่าจะต้องปิดหมด ร้านคาราโอเกะ ร้านเหล้าที่เปิดทีวีถ่ายสดฟุตบอล ล้วนเข้าข่ายดึงดูดล่อใจ ต้องบีบให้ขี้เหล้านั่งกินเปล่าๆ มันจะได้เซ็งกลับบ้านไป เพื่อสุขภาพอันดีงามของคนไทยในยุค Stronger Together
อ้อๆๆ หมอสมานน่าจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปจับสโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีกด้วยนะครับ วันก่อนดูบอลเชลซี-ลิเวอร์พูล มีตัววิ่งข้างสนามโฆษณาเบียร์ไทยตัวใหญ่เบ้อเร่อ หรือไม่ก็ห้ามถ่ายทอดสด โดยเฉพาะคู่ที่เบียร์ไทยเป็นสปอนเซอร์
ถามว่าการตีความของหมอสมานเว่อร์ไปไหม ผมว่าไม่เว่อร์หรอก ก่อนหน้านี้ก็มีร้านอาหารญี่ปุ่นถูกปรับย้อนหลัง 4 แสนกว่าบาท โทษฐานในเมนูอาหารโชว์ภาพขวดเบียร์ ถือเป็นการ "โฆษณา" (แบบเดียวกับห้ามโชว์ซองบุหรี่ ณ จุดขาย) โดยสาเหตุที่ถูกปรับย้อนหลังก็เพราะเจ้าหน้าที่สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตรวจวันหนึ่ง แล้วอีก 220 วันค่อยไปแจ้งความ
ถ้าใช้และตีความกฎหมายอย่างนี้ ถ้ามีพระเอกอย่างหมอสมาน ถ้าผ่าน พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่แล้วตีความคล้ายๆ กัน ไม่ต้องเสียเงินปีละ 4 พันล้านให้ สสส.ก็ได้ครับ
แต่ถ้าจะให้ดี ก็ห้ามผลิตห้ามขายเหล้าเบียร์บุหรี่ไปเลยดีกว่า ให้มีโทษเหมือนยาบ้า ไหนๆ ก็จะเป็นรัฐคุณธรรม อย่าลักปิดลักเปิดแล้วมาไล่เอาผิดกันเลย
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ไม่เห็นคุณงามความดี สสส. ที่จริง สสส.ก็มีคุณูปการ จากการเอาเงินไปอุดหนุนเครือข่ายต้านเหล้าบุหรี่ จน "คนดีมีศีลธรรม" ยึดพื้นที่สื่อ มีสิทธิเสียงดังกว่าคนทั่วไปในสังคม สามารถผลักดันการออกกฎหมาย การใช้และตีความ มาตรการข้อห้ามต่างๆ ขณะที่ใครคัดค้านก็ถูกตราหน้า "รับตังค์บริษัทเหล้าบุหรี่"
แหม่ กระทั่ง คตร.ตรวจสอบ สสส.ยังมีคนโวยว่าบริษัทบุหรี่ข้ามชาติจ้องล้ม
สังคมไทยมีพื้นฐานโน้มเอียงเรื่อง "ศีลธรรมอันดีงาม" เหนือ "เสรีภาพส่วนบุคคล" อยู่แล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ ลองไปถามคนกินเหล้า ห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่ ห้ามขายเหล้า 300 เมตรรอบมหาลัย เห็นด้วยไหม ทั้งที่ในใจก็มีประเด็นค้างคา (ประเทศไทยเป็นรัฐพุทธตั้งเมื่อไหร่วะ ห้ามขายเหล้าหน้ามอ หลังมอ ไล่เด็กไปดื่มไกลๆ ยิ่งอันตรายกว่า) แต่ส่วนใหญ่จะพยักหน้าหงึกหงัก ไม่กล้าบอกไม่เห็นด้วย กลัวเขาว่าเป็น "คนเลว"
"รัฐประชาธิปไตย" ต่างกับ "รัฐศาสนา" นะครับ เส้นแบ่งคือในขณะที่ศาสนาถือว่ากินเหล้ากินเบียร์ผิดศีล 5 แต่ รัฐประชาธิปไตยถือเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ตราบใดที่ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น
กฎหมายประชาธิปไตยจึงห้ามเมาแล้วขับ ห้ามกินเกินเวลาเอะอะโวยวายรบกวนชาวบ้าน ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะที่ต้องใช้อากาศร่วมกัน กำหนดอายุขั้นต่ำเพื่อปกป้องเด็กเยาวชน อะไรที่เกินกว่านั้นต้องใช้การรณรงค์ ไม่ว่าเพื่อศีลธรรมหรือเพื่อสุขภาพ ซึ่งรัฐสนับสนุนแต่ไม่ใช่บังคับ แม้อาจออกมาตรการบางอย่าง เช่นภาษี หรือห้ามโฆษณาวงกว้าง
แต่ถ้าคนยังจะดื่มจะสูบก็เรื่องของมัน ตราบใดที่ไม่หนักกบาลใคร อย่าอ้างศีลธรรมหรือห่วงใยสุขภาพบังคับแบบ "กฎหมายศาสนา" ยุคนี้สมัยนี้พวกหมอชอบสถาปนาตัวเป็นพระหรือโต๊ะอิหม่ามไปซะหมด
หลายปีที่ผ่านมา ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความไม่ชอบธรรมของอำนาจ ทำให้รัฐบาลต่างๆ มุ่ง "หาเสียงกับศีลธรรม" เช่นรัฐบาลประชาธิปัตย์ประกาศห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่ รัฐบาลเพื่อไทยเรอะ เสนออะไรก็ไฟเขียว (เลวติดหน้าผากอยู่แล้ว ไม่กล้าขวางหรอก)
ยุคนี้สมัยนี้ นอกจากสอดคล้องค่านิยม 12 ประการ ยังอยู่ในกระแสที่คนระดับบนคนชั้นกลาง อยากเห็น "รัฐศีลธรรมใต้อำนาจนำ" มากกว่า "รัฐประชาธิปไตย" เพื่อต่อต้าน "ทุนสามานย์" (แต่อ้ารับทุน CSR ต้านโกงโปรโมชั่น) จึงไม่แปลกอะไร ที่ทางวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความคิดจารีตก็มาแรง
ไม่ว่ากันนะครับ ผมไม่กินเหล้า เลิกบุหรี่ได้ก็ดี ฉะนั้น แน่จริงห้ามขายเหล้าบุหรี่ไปเลยไหม
source :- FB Atukkit Sawangsuk &
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1446824587
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น