0


ไม่มีอะไรใหม่ แต่อยากชวนทบทวนหลักคิดพื้นฐาน โดยหวังว่าจะยังสามารถพูดคุยกันได้ และสู้กันทางความคิดด้วยเหตุด้วยผล
1.หมอหยอง เป็นผู้ต้องหาคดี 112 เราไม่รู้รายละเอียดว่าดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายสถาบันอย่างไร ที่รู้จากข่าวคือหมอหยองกับพรรคพวกอ้างสถาบันเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัว พูดง่ายๆ เป็นการคอร์รัปชั่นโดยเอาสถาบันไปทำมาหากิน
สิ่งที่ควรยอมรับกันก็คือ ประเทศนี้มีคนโหนหากินกับสถาบันอีกมาก ไม่ใช่แค่กลุ่มก๊วนหมอหยอง
2.สารวัตรเอี๊ยด เดิมมีหน้าที่เป็นมือปราบคดี 112 แต่ถูกจับกุมตั้งข้อหา เนื่องจากมีพฤติกรรมแบบเดียวกับหมอหยอง กล่าวคือแอบอ้างสถาบันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
เราไม่ต้องไปวิเคราะห์ “เกมการเมืองบนก้อนเมฆ” ก็ได้ แต่กรณีนี้ก็ย้ำอีกครั้งว่ามาตรา 112 เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนประเภทใดบ้าง
3.ทั้งหมอหยองและสารวัตรเอี๊ยด เสียชีวิตขณะถูกดำเนินคดี นี่คือเรื่องใหญ่ของกระบวนการยุติธรรม (ถ้าเราจะเรียกศาลทหารว่าเป็นกระบวนการยุติธรรม) คำว่า “ติดเชื้อในกระแสโลหิต” หรือ “ผูกเนคไท” ไม่ใช่เรื่องตลก การปกครองระบอบก็อดฟาเธอร์ไม่เพียงแต่ทำลายหลักนิติรัฐ แต่ยังลากประเทศถอยหลังลงคลอง ห่างไกลจากการยอมรับของประชาคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
4.ข้อสงสัยเคลือบแคลงกรณีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจทุกสาขาอาชีพล้วนมีโอกาสที่จะทุจริตกันได้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่านักการเมืองจะโกงเป็นอยู่อาชีพเดียว
5.เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการคือระบบกลไกตรวจสอบ ไม่ใช่แขวนความเชื่อความไว้วางใจไว้กับผู้ที่อ้างตนเป็นคนเสียสละ หรืออ้างตัวเป็นผู้รักสถาบันมากกว่าคนอื่น
6.กระบวนการที่กองทัพใช้ในการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ ไม่ใช่กระบวนการตรวจสอบที่คนสติดีๆ ควรยอมรับ
7.ท่าทีระหว่าง ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน กับอดีต ผบ.ทบ.คนก่อน ซึ่งเป็นตัวละครที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ สะท้อนให้เห็นว่ากองทัพก็ไม่ต่างจากพรรคการเมือง กล่าวคือมีความขัดแย้งไม่ลงรอย เฉกเช่นองค์กรที่กุมอำนาจทั่วไป หาได้เป็นเนื้อเดียวดังที่พยายามทำให้ผู้คนเข้าใจ ดังนั้นความคาดหวังใดๆ ต่อพระเอกขี่ม้าขาวผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงนี้
8.มีโครงการขนาดใหญ่อีกจำนวนมากที่ทั้งอนุมัติไปแล้วและกำลังจ่อพิจารณา แต่หากใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยเฉพาะจุดขายเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตที่ไม่เป็นจริง สิ่งที่สังคมต้องการคือการตรวจสอบและร่วมส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อไม่ให้เกิดภาระผูกพันไปถึงลูกหลาน
9.สถานศึกษาเป็นพื้นที่แสดงศักยภาพทางปัญญา เพื่อรักษาบรรยากาศการต่อสู้ทางวิชาการ สู้ด้วยความรู้ และด้วยเหตุด้วยผล ‪#‎มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร‬
10.น่าเศร้ามากที่เรายังต้องมานั่งทบทวนหลักการพื้นๆ เหล่านี้


หมายเหตุ: ภาพประกอบโดย นิวัต พุทธประสาท

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top