ยกเครื่องระบบยุติธรรมในการทำคดีค้ามนุษย์ ศาลอาญาตั้งแผนกพิเศษขึ้นดูแล อัยการเตรียมทำบ้างภายในเดือน ต.ค. ชี้เรื่องการดำเนินคดีเป็นจุดอ่อนของไทยที่ต้องยกระดับ แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันทำเพราะต้องทำไม่ใช่เพื่อสนองการจัดอันดับรายงานของต่างประเทศอย่างเดียว
ที่ศาลอาญาวันนี้ (10 ส.ค.) ได้มีการประกาศตั้งแผนกคดีพิเศษสามแผนก คือแผนกคดีค้ามนุษย์ คดียาเสพติดและคดีทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการ คดีเหล่านี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายอธิป จิตต์สำเริง ระบุว่ามีผลต่อระบบเศรษฐกิจสังคม ทั้งการกระทำผิดมักเป็นเครือข่ายกว้างขวาง มีวิธีการที่ซับซ้อน การแสวงหาหลักฐานก็ทำได้ยาก การติดตามคดีเหล่านี้ต้องพึ่งกลไกจากหลายหน่วยงาน ซึ่งในวันเดียวกันนี้ศาลอาญาก็ได้ทำบันทึกความเข้าใจกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อจะจับมือกันทำงาน
ในขณะที่ประธานศาลฎีกา นายดิเรก อิงคนินันท์บอกว่า คดีทั้งหมดนี้มีแนวโน้มจะมีความเชื่อมโยงกัน และชี้ว่าการดำเนินการของศาลอาญาหนนี้จะส่งสัญญาณให้เห็นว่าสังคมไทยควรสนใจและร่วมมือแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง สิ่งสำคัญคือการจะทำคดีเหล่านี้ได้ผู้พิพากษาต้องมีความรู้เท่าทัน และการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญมาไว้ด้วยกันจะทำให้ศาลอาญาเป็นศูนย์ให้ความรู้และต้นแบบในการทำคดีกลุ่มนี้ต่อไป ที่ผ่านมาประเทศไทยมีตัวเลขการดำเนินคดีการค้ามนุษย์น้อยเมื่อเทียบกับระดับของปัญหาที่หลายฝ่ายยอมรับว่ามีสูงสำหรับประเทศไทย
การเคลื่อนไหวของศาลอาญาถือเป็นการอุดช่องโหว่ของปัญหาดังกล่าว โดยในวันนี้ ศาลอาญายังจัดเสวนาเรื่อง “บทบาทของศาลยุติธรรมในการปราบการค้ามนุษย์” ด้วย มีการถกกันทั้งวันเรื่องมาตรการที่จะนำมาใช้เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องต้องรับมือคือการที่เจ้าหน้าที่จำนวนมากมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างคนสามกลุ่มคือเหยื่อการค้ามนุษย์ กลุ่มที่ถูกลักลอบพาเข้าเมือง และกลุ่มที่ต้องการลี้ภัย ซึ่งหลายฝ่ายชี้ว่าความสับสนนี้ทำให้การทำคดีไม่คืบหน้า นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่าต้องแยกแยะให้ได้เพราะผู้ที่อพยพลี้ภัยเป็นพวกที่หนีปัญหาในประเทศตนเอง คนที่เป็นเหยื่อของกลุ่มลักลอบพาคนเข้าเมืองไม่จำเป็นต้องถูกเอาเปรียบ แต่กลุ่มที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ไม่เพียงถูกล่อลวงแต่จะถูกเอาเปรียบเช่นบังคับให้ทำงาน ค้าประเวณี เป็นต้น
ด้านนายวิทิต มันตาภรณ์ อดีตนักวิชาการนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่า หลักการของกฎหมายทั้งไทยและสากลให้ความสำคัญกับโอกาสที่เหยื่อจะถูกเอาเปรียบและไม่จำเป็นว่าเหยื่อค้ามนุษย์ต้องให้ความยินยอมในเรื่องที่ถูกบังคับหรือหลอกลวงหรือไม่ นายวิทิตชี้ว่า สิ่งสำคัญสำหรับศาลเวลานี้คือ ควรใช้กฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ที่มีขึ้นใหม่เพื่อรับมือปัญหานี้โดยเฉพาะ ต้องพยายามลดเวลาในการทำคดีลง จำแนกผู้ที่เป็นเหยื่อให้ได้ และต้องโอนการดูแลพวกเขาไปให้กับหน่วยงานอื่นโดยเร็วไม่ให้มีการกักตัวเหยื่อไว้ที่ศูนย์ของหน่วยตรวจคนเข้าเมืองนานเกินไป ในขณะที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มองค์กรอื่นๆ ในสังคมในการช่วยดูแลคนเหล่านั้น
นายพงษ์ศักดิ์ ตระกูลศิลป์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวในการเสวนาด้วยว่า แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญาจะมีคดีที่โอนเข้ามาสู่การดูแลทันทีราว 20 - 30 คดี มีการจัดกลุ่มผู้พิพากษาพิเศษดูแล พวกเขาจะทำงานใกล้ชิดกับหลายหน่วยงานเพื่อรับมือปัญหาอย่างเป็นระบบและแต่ต้นมือไม่รอให้คดีมาถึงศาลแล้วเท่านั้น โดยชี้ว่าการขยายผลการสอบสวนต้องให้เห็นกระบวนการที่กว้างขวาง การสอบสวนขยายผลต้องเริ่มหลังจากจับกุมผู้ต้องหา ขณะที่ศาลก็ต้องปกป้องเสรีภาพของประชาชนไม่ใช่ยอมให้มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยนานเกินไป ในการดูแลพยานซึ่งในคดีค้ามนุษย์เป็นกลุ่มที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง เช่นเป็นชาวต่างชาติอยู่ในสภาพหวาดกลัว ต้องการล่าม ต้องการกลับประเทศ
นายพงษ์ศักดิ์ชี้ว่าบางครั้งอาจต้องสอบพยานล่วงหน้า และอาจใช้ประชุมทางไกลเพื่อลดการเผชิญหน้าด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลเมียนมาร์จะใช้วิธีนี้ข้ามประเทศเพื่อประกอบการดำเนินคดี นอกจากนี้จะเน้นเรื่องการจัดหาล่ามที่ดี ในส่วนของผู้พิพากษาจะมีการจัดทำแนวทางเพื่อประกอบการพิจารณาโทษเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน มีแนวทางการชดเชยแก่ผู้เสียหายในหลากหลายรูปแบบ เช่นการโดนบังคับใช้แรงงานและถูกกักขังขาดอิสรภาพหนึ่งปี อาจจะต้องชดเชยด้วยค่าแรงไม่น้อยกว่าขั้นต่ำบวกดอกเบี้ยเป็นต้น และต่อไปจะดึงหน่วยงานอื่น ๆ มาช่วยสนับสนุน เช่น กรมบังคับคดีเพื่อให้ช่วยในเรื่องของการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดเพื่อชดเชยเหยื่อ เป็นต้น
“ในเวลานี้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่มีอาชญากรรมใดร้ายแรงเท่าการเอาเปรียบมนุษย์ด้วยกันดังนั้นการให้ความสำคัญกับคดีค้ามนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องตอบสนองรายงาน TIP” ซึ่งหมายถึงรายงานประจำปีเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆของสหรัฐฯที่จัดอันดับให้ประเทศไทยไปอยู่ในตะกร้าที่ 3 ซึ่งถือว่าแย่ที่สุด
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร ปลัดกระทรวงยุติธรรมชี้ว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฉบับใหม่ของไทยนั้นมีข้อกำหนดที่ดูแลพยานที่ชี้แนะเบาแสการค้ามนุษย์ พวกเขาจะไม่โดนเอาผิดในเรื่องอื่น เช่น การเข้าเมืองผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งปิดหรือระงับการดำเนินการของสถานประกอบการหรือเครื่องมือของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีโดยทันทีทำให้เห็นผลของการทันท่วงที ทั้งยังกำหนดโทษสูงขึ้นโดยเฉพาะกรณีที่ถูกกระทำอย่างหนักหรือจนเสียชีวิต
นายวันชัย อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศระบุด้วยว่า ทางด้านอัยการเองก็ดำริจะให้มีกลไกขึ้นมาดูแลคดีพิเศษเช่นกันเพื่อให้สอดคล้องกับศาล คาดว่าในเดือน ต.ค.นี้จะเห็นรูปร่าง พร้อมกันนั้นชี้ว่า ในเรื่องการดำเนินคดีอีกจุดหนึ่งที่น่าห่วงคือ การที่ไทยมีปัญหาหลายกรณีที่ถือเป็นการค้ามนุษย์แต่กลับไม่มีการลงโทษข้าราชการที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเลย จุดนี้เป็นจุดที่จะต้องดูแลเพราะเป็นจุดอ่อนของการทำคดีที่ทำให้ผู้นำเสนอรายงานสถานภาพการแก้ปัญหาด้านนี้ของไทยมีคำถามเรื่อยมา

 
Top