พบสำเนียงพูดชาวสก็อตในปัจจุบัน เพี้ยนไปน้อยกว่าสำเนียงท้องถิ่นในภาคต่างๆของอังกฤษ
งานวิจัยชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ พบว่าภาษาอังกฤษสำเนียงที่พูดกันในสกอตแลนด์มีการแพร่ขยายตัวออกไปและมีความคงทนไม่กร่อนเพี้ยน มากกว่าสำเนียงที่พูดกันในภาคต่างๆของอังกฤษ ซึ่งกำลังถูกกลืนให้กลายเป็นสำเนียงอังกฤษแท้
งานวิจัยที่ชื่อ Sounds of the City ซึ่งนำโดย ศ.เจน สจ็วต-สมิธ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสัทศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ใช้เวลาในการศึกษา 3 ปี โดยทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์เทปบันทึกเสียงการพูดภาษาอังกฤษแบบกลาสวีเจียน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า แม้สำเนียงสก็อตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังคงเอกลักษณ์ของตนเอาไว้ได้อยู่ ในขณะที่สำเนียงท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆของสหราชอาณาจักรล้วนมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การใช้เสียง “f” แทน “th” ในคำเช่น “think” และการไม่ออกเสียง “l” เช่นในคำว่า “people” แต่ออกเสียงเป็น “peopo” แทน
ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยตั้งสมมติฐานว่าภาษาถิ่นดั้งเดิมทั่วสหราชอาณาจักรกำลังกร่อนเพี้ยนและในบางกรณีอาจตายไปแล้ว แต่ผลการศึกษาที่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับทีมวิจัย โดยเฉพาะการค้นพบว่า สำเนียงสก็อตกำลังแพร่ขยายในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยพบว่าสำเนียงสก็อตเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลง 2 รูปแบบ คือการเปลี่ยนแปลงสำเนียงแบบทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นทั่วสหราชอาณาจักร เช่นในกรณีเสียง “f” และ “l” โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของรายการโทรทัศน์ยอดนิยมที่พูดด้วยสำเนียงที่ใช้กันในกรุงลอนดอน ส่วนการเปลี่ยนแปลงอีกแบบเป็นการเปลี่ยนแปลงการออกเสียงสระภายในท้องถิ่นเอง
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น