0


 เมื่อวันที่ 23 พ.ย. มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย ว่า ตัวแทนจากรัฐสภายุโรปโทรศัพท์ถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  เพื่อขอคำยืนยันถึงการตัดสินใจเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ภายหลังจากการรัฐประหาร ที่กรุงบรัสเซลส์  ประเทศเบลเยียม หรือเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่ทางรัฐสภายุโรปได้ส่งหนังสือเชิญมาถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2558
 ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้ให้คำตอบต่อคำเชิญดังกล่าว เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าว่าทางคสช.จะอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปพูดคุยหรือไม่



 รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเนื้อหาในหนังสือเชิญ ลงนามโดยนายเอลมาร์ บร็อก ประธานคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสภายุโรป ชาวเยอรมัน และนายแวร์เนอร์ แลงเกิน ประธานคณะผู้แทนความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 ข้อความระบุว่า “ทางรัฐสภายุโรประลึกถึงการเยือนสหภาพยุโรปที่ประสบความสำเร็จของท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ช่วงเดือนมี.ค.2556 ในระหว่างการเยือนประเทศไทยและสหภาพยุโรป สามารถสรุปการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ระหว่างประเทศไทยกับประชาคมยุโรป (EU-Thailand Partnership and Cooperation Agreement) นอกจากนี้เรายังรู้สึกประทับใจต่อการที่ท่านให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับรัฐสภายุโรปในการพบปะกับ มาร์ติน ชูลซ์ ประธานรัฐสภายุโรป ในวันที่ 6 มี.ค.2556


 รัฐสภายุโรปติดตามพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทยด้วยความกังวลอย่างใกล้ชิด เหตุการณ์ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมาน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง ประเทศของท่านในขณะนี้ก็ยังคงไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง และคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงกลางปี 2560 เป็นอย่างน้อย

 ดังนั้นเราเห็นว่าช่วงเวลาของความขาดเสถียรภาพ คงจะมีอยู่ต่อไป แผนการดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบันในการร่างรัฐธรรมนูญล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเพราะร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นสภาที่ทางทหารได้เป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมาเอง ซึ่งนั่นหมายความว่าประเทศไทยจะต้องมีการเริ่มกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง


 ทั้งนี้ เราเห็นว่ากระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ทุกๆ ภาคส่วนจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้เรายังมีความกังวลต่อกรณีที่ท่านได้ถูกถอดถอนออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีย้อนหลัง และการที่ท่านถูกดำเนินคดีในศาลฎีกา

 ทางรัฐสภายุโรปยืนหยัดอย่างหนักแน่นในระบอบประชาธิปไตยและการส่งเสริมคุณค่าของประชาธิปไตย  ด้วยเหตุนี้เรามีความยินดีหากท่านจะรับคำเชิญของเราเพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ หรือ เมืองสตราสบูร์ก ตามที่ท่านสะดวก หากเป็นเช่นนั้นทางเรามั่นใจว่า ผู้ดำเนินการของทั้งสองฝ่ายจะสามารถร่วมมือกันจัดการให้การพบปะหารือดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top