มีเพลงชาติสักกี่เพลง ที่ลอกเลียนทำนองมาจากเพลงอื่น
อเล็กซ์ มาร์แชลล์ ผู้เขียนหนังสือออกใหม่ว่าด้วยประวัติศาสตร์เพลงชาติ ชี้ว่าเพลงชาติของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีทำนองที่คล้ายคลึงกับทำนองเพลงอีกหลายเพลงแบบไม่น่าเชื่อ เขาตั้งคำถามว่า เป็นเพราะผู้ประพันธ์เพลงใช้วิธีฉกฉวยทำนองของนักประพันธ์คนอื่นมาใช้ หรือเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการประพันธ์ทำนองขึ้นมาใหม่ทั้งหมดกันแน่
เขายกตัวอย่างให้ฟังถึงกรณีของดูซาน เซสติช ว่าเป็นนักประพันธ์ที่โชคร้ายที่สุดในโลก โดยเมื่อปี 2541 ขณะที่ดูซานไม่มีเงิน เขาได้ตัดสินใจส่งเพลงเข้าประกวดเป็นเพลงชาติใหม่ของบอสเนีย ที่ผู้จัดต้องการส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์และเยียวยาบาดแผลของคนในชาติหลังสงครามกลางเมือง ใจจริงดูซานไม่ได้ต้องการชนะ เพียงแต่รู้สึกโหยหาความเป็นประเทศยูโกสลาเวีย มากกว่าจะมีความรู้สึกรักชาติต่อประเทศเกิดใหม่อย่างบอสเนีย เขาคิดว่าถ้าได้เข้ารอบติดที่สองหรือสามก็พอใจแล้ว เพราะได้เงินรางวัลเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าเพลงของเขาชนะการประกวด และเขากลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงเพียงชั่วข้ามคืน
เพื่อนร่วมชาติชาวเซิร์บของดูซาน ที่คัดค้านการก่อตั้งประเทศบอสเนีย ต่างตราหน้าเขาว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติเซอร์เบีย ขณะเดียวกันมีชาวบอสเนียและชาวโครเอเชียจำนวนมากต่างไม่พอใจที่คนเชื้อสายเซิร์บประพันธ์ทำนองเพลงสำหรับเพลงชาติของประเทศตน กระแสดังกล่าวทำให้ดูซานทำงานได้ลำบากมาก
10 ปีต่อมา ดูซานชนะการประกวดอีกหน แต่คราวนี้เป็นการประกวดเนื้อร้องของเพลงชาติที่เขาเป็นผู้แต่งขึ้น อย่างไรก็ตามมีนักการเมืองบางกลุ่มเอาปมเรื่องเชื้อชาติมาเป็นประเด็น ทำให้จนถึงขณะนี้เขาก็ยังไม่ได้รับเงินรางวัล ถัดมาเมื่อปี 2552 มีผู้พบว่าทำนองเพลงชาติบอสเนียที่เขาประพันธ์ขึ้นมานั้น มีความคล้ายคลึงอย่างเหลือเชื่อกับเพลงตอนเปิดเรื่องของภาพยนตร์เรื่อง National Lampoon’s Animal House ที่ออกฉายเมื่อปี 2521 จากนั้นก็มีฝ่ายที่ออกมาเรียกร้องให้ปลดเพลงที่เขาประพันธ์ออกจากการเป็นเพลงชาติบอสเนีย เพราะเป็นการลอกเลียนทำนองเพลง หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถึงกับไปคุยกับครอบครัวผู้ประพันธ์เพลงที่คาดว่าเป็นต้นฉบับ และเสนอให้ฟ้องดูซาน จนเขาต้องออกมาแก้ต่างทางโทรทัศน์ เขาเล่าให้มาร์แชลล์ฟังถึงความรู้สึกในตอนนั้นว่า “รู้สึกเจ็บที่หนังสือพิมพ์พาดหัวว่าเป็นการลอกบทเพลง” เขาบอกว่าไม่รู้ว่าหนังเรื่องดังกล่าวมีชื่อว่าอะไร แต่ยอมรับว่าได้ฟังเพลงจากหนัง และรู้สึกประทับใจชนิดที่เรียกได้ว่า “ทำนองเพลงติดอยู่ในสมอง” อย่างไรก็ตามเขาชี้ว่ามันไม่ใช่การลอกทำนองเพลงเด็ดขาด เพราะทั้งสองเพลงมีทำนองที่ต่างกัน
มาร์แชลล์บอกว่า ไม่เพียงแต่ดูซานเท่านั้นที่ถูกกล่าวหาว่าลอกทำนองเพลงมาจากคนอื่น ยังมีกรณีของเพลงชาติอุรุกวัย ที่ฟรานซิสโก โฮเซ เดบาลี แต่งขึ้นเมื่อปี 2389 ซึ่งมีช่วงหลักที่ไปคล้ายกับท่อนหนึ่งในอุปรากรของโดนิเซตติเรื่อง ลูเครท์เซีย บอร์จา มีหลักฐานว่า เดบาลีอาจเคยได้ยินเพลงจากอุปรากรเรื่องนี้ ก่อนที่จะประพันธ์ดนตรีสำหรับเพลงชาติอุรุกวัยขึ้นมา แฟนเพลงของเดบาลีชี้ว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญมากกว่า ที่ดนตรีทั้งสองมีโน้ตเรียงเหมือนกัน 9 ตัวเป๊ะ อย่างไรก็ตามประเด็นข้อโต้แย้งนี้ ไม่เคยมีการหยิบยกขึ้นมาในช่วงที่เดบาลีมีชีวิตอยู่ ดังนั้นเขาจึงไม่มีโอกาสแก้ต่างข้อกล่าวหา
เพลงชาติอาร์เจนตินาท่อนเริ่มต้น ก็ถูกกล่าวหาว่าคล้ายคลึงกับงานประพันธ์ชิ้นหนึ่งของเคลเมนติ ขณะที่อีนอค ซันทองกา ผู้ประพันธ์เพลงชาติแอฟริกาใต้ก็ถูกกล่าวหาว่า เอาทำนองเพลงมาจากเพลงของนักประพันธ์ชาวเวลส์
มาร์แชลล์ชี้ว่าในวงการดนตรี มีวัฒนธรรมการยืมทำนองเพลงมาใช้ในการประพันธ์เพลงชาติ และแต่งเนื้อเพลงใหม่เข้าไป เช่น เพลงชาติอังกฤษ ที่มีชื่อว่า God Save the King/Queen ที่ได้มีการนำทำนองไปใช้ในเดนมาร์ก เยอรมนี และฮาวาย อย่างไรก็ตาม ต่อมาประเทศส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นจะต้องประพันธ์ทำนองเพลงสำหรับเพลงชาติของตนขึ้นมาเป็นการเฉพาะ มีเพียงลิกเตนสไตน์ ประเทศเดียวที่ไม่ได้อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ ที่ยังคงใช้ทำนองเพลง God Save the King/Queen เป็นทำนองเพลงชาติของตน
เอสโตเนียกับฟินแลนด์ ก็ใช้ทำนองเพลงชาติที่เหมือนกัน มาร์แชลล์ยังชี้ว่าเพลงชาติแอฟริกาใต้ แซมเบียและแทนซาเนียก็มีทำนองที่เหมือนกัน ที่ผ่านมาเกาหลีใต้กับมัลดีฟส์เคยใช้ทำนองเพลงโอลด์แลงซายน์ เป็นทำนองสำหรับเพลงชาติของตน
มาร์แชลล์ตั้งคำถามว่า การขอยืมกันในลักษณะนี้หมายความว่าอย่างไร การประพันธ์ดนตรีสำหรับเพลงชาติได้รับการยกเว้นจากกฎหมายการลอกบทประพันธ์หรือไม่ หรือคนเห็นว่าไม่จำเป็นที่ดนตรีสำหรับเพลงชาติจะต้องประพันธ์ใหม่แบบถอดด้ามทั้งหมด เขาเห็นว่ายากมากที่จะประพันธ์เพลงสักชิ้นขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะทำนองเพลงชาตินั้นจะต้องเป็นทำนองที่ง่าย ที่คนทั่วไปสามารถจดจำและผิวปากตามทำนองได้อย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีท่วงทำนองที่สง่างามและปลุกปลอบใจให้ฮึกเหิมรักชาติ เขาฟันธงว่า การที่จะประพันธ์เพลงขึ้นมาใหม่แบบถอดด้าม โดยที่ไม่มีมีความคล้ายคลึงกับทำนองเพลงเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว เป็นเรื่องที่ยากมาก แม้แต่ทำนองเพลงที่คนบอสเนียอยากให้นำมาใช้เป็นทำนองเพลงชาติ แทนทำนองเพลงที่ดูซานแต่งไว้ ผู้ประพันธ์ก็เอาทำนองมาจากเพลงพื้นบ้านเพลงหนึ่งเช่นกัน




 
Top