ถือว่าเปิดตัวได้ดีในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งล่าสุด สำหรับ เส้นทางพยัคฆ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก ′ทหารเสือ′ สู่ ′หลังเสือ′ ผลงานหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของ "วาสนา นาน่วม" ผู้สื่อสายทหารคนดัง
แม้จะเป็นหนังสือว่าด้วยนายกรัฐมนตรีคนใหม่และหัวหน้า คสช. แต่สำหรับแฟนหนังสือของวาสนาหลายๆ คน เนื้อหาที่ชวนให้ตื่นเต้น และรู้สึกว่าเป็นออริจินัล ในหนังสือเล่มนี้จริงๆ กลับเป็นเนื้อหาในส่วนที่ว่าด้วยจุดกำเนิดของ "ทหารเสือราชินี"
ในบทที่ 8 ของหนังสือเล่มนี้ วาสนาได้เขียนถึง กำเนิดทหารเสื้อราชินี ว่ามีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อ พ.ท.ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช ซึ่งขณะนั้น ดำรงยศร้อยโท ได้มาชักชวนน้องๆ นักเรียนนายร้อยจปร. ให้สมัครใจไปทำหน้าที่ถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมได้เกิดขึ้นรอบพระราชวังสวนจิตรลดา
สมเด็จพระนางเจ้าฯจึงทรงมีรับสั่งให้พ.ท.ณรงค์เดช และ พล.อ.อาชวินทร์ เศวตเศรณี ไปหากำลังทหารมาถวายอารักขา เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว มีการหวั่นเกรงเรื่องภัยคอมมิวนิสต์
พ.ท.ณรงค์เดช ไปพูดคุยกับนักเรียนนายร้อยรุ่นน้องไม่นานนัก นักเรียนนายร้อยนับร้อยคนก็ยินดีอาสามาถวายอารักขา แม้จะต้องฝ่าฝืนกฎของโรงเรียนก็ตาม
ว่ากันว่า ในบรรดานักเรียนนายร้อยเหล่านั้น มีนักเรียนนายร้อยชื่อ "ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร" และ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" รวมอยู่ด้วย
นั่นกลายเป็นจุดกำเนิดหรือจุดเริ่มต้นของการฝึกทหารเสือราชินี
หลังเหตุการณ์14ตุลา ผ่านพ้นไป ในช่วงเวลาต่อมา พ.ท.ณรงค์เดช ได้ดึง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งตอนนั้น ทั้งคู่ยังครองยศพันตรี รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังเป็นรองผู้บังคับกองร้อย มาร่วมกันเป็นครูฝึกทหารเสือฯ ชุดแรก
โดยมี พ.ท.ณรงค์เดช เป็นผู้ร่างหลักสูตรการฝึก และเป็นเสมือน "บิดาแห่งทหารเสือราชินี"
วาสนา ยังได้เขียนถึง "ผู้พันณรงค์เดช" ไว้อย่างละเอียดลออ อีกครั้ง ในบทที่ 11ของหนังสือเล่มนี้
พ.ท.ณรงค์เดช ซึ่งตัวผู้สื่อข่าวดังเชื่อมั่นว่า ถ้าเขาไม่เสียชีวิตไปก่อน ก็จะเติบโตขึ้นเป็น ผบ.ทบ. อย่างแน่นอน
โดยวาสนาเล่าว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้น มีความใกล้ชิดและผูกพันกับ พ.ท.ณรงค์เดช เป็นอย่างมาก เพราะเคยรบกับกองกำลังเวียดนาม ที่สมรภูมิเขาพนมปะ มาด้วยกัน
แม้ไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ พ.ท.ณรงค์เดช ซึ่งล่วงลับก่อนวัยอันควร ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ขณะไปศึกษาหลักสูตรโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ที่สหรัฐ เมื่อปี พ.ศ.2528 เคยมีสัญญาใจใดๆ ต่อกันหรือไม่
แต่ข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวสายทหารคนนี้ ยกขึ้นมา ก็คือ วันที่ 22 พฤษภาคม อันเป็นฤกษ์รัฐประหารของ คสช. นั้น ตรงกันกับวันเสียชีวิตของผู้พันณรงค์เดช พอดี
นอกจากนั้น วันที่สนช. ประชุมโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี คือวันที่ 21 สิงหาคม ก็ตรงกันกับวันสถาปนา ร.21 รอ. หรือ "ทหารราชินี"
วาสนาเขียนบรรยายเอาไว้ว่า ในวันนั้น นายกฯ คนใหม่ ได้เข้าไปกราบรูปปั้นของ พ.ท.ณรงค์เดช ในพิพิธภัณฑ์ทหารเสือฯ ที่ ร.21 รอ. หลังจากทราบผลการลงมติที่อาคารรัฐสภา
ในบทที่ 20 ของหนังสือ วาสนา ยังได้กล่าวถึง พ.อ.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช ซึ่งเป็นน้องชายของ พ.ท.ณรงค์เดช
พ.อ.เกรียงศักดิ์ กลายเป็นที่รู้จักท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งแรก ในเดือนเมษายน 2552 เมื่อตอนนั้น เขาต้องนำกำลังทหารไปกระชับพื้นที่คนเสื้อแดงบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง จนมีการนำชื่อ สกุล และเบอร์โทรศัพท์ ของเขา ไปแพร่กระจายในเว็บคนเสื้อแดง นำมาสู่การโทรเข้ามาด่าแบบไม่หยุดหย่อน
นอกจากนั้น ยังมีการปล่อยข่าวลือ ว่า พ.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบซึ่งจิกศีรษะทำร้ายผู้หญิงเสื้อแดง
หลังจากนั้น 1 ปี ในเหตุการณ์กระชับพื้นที่การชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่ถนนดินสอ สี่แยกคอกวัว พ.อ.เกรียงศักดิ์ ก็เป็นหนึ่งในนายทหาร ที่ถูกซุ่มโจมตีจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ร่วมกับ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิต และ พล.อ.วลิต โรจนภักดี ซึ่งกระทั่งบัดนี้ ก็ยังมีสะเก็ดระเบิดฝังอยู่ในร่างกายหลายชิ้น
พ.อ.เกรียงศักดิ์ โดนสะเก็ดระเบิดเจาะเข้าสมอง จนเกือบจะกลายเป็น "เจ้าชายนิทรา" แม้ตอนนี้ เขาจะปลอดภัยแล้ว แต่บาดแผลครั้งนั้น ก็ส่งผลให้ "ดาวรุ่งของสายบูรพาพยัคฆ์" และ "ดาวเด่นแห่งเตรียมทหาร 27" อย่างเขา ต้องกลายเป็นคนที่เดินเหิน ทรงตัว และมีปฏิกิริยาต่างๆ ช้ากว่าปกติ
วาสนา เปิดเผยอีกว่า แม้ตอนนี้ จะกลับมาดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ แต่ด้วยร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้ พ.อ.เกรียงศักดิ์ มีบาดแผลทั้งที่ตัวและหัวใจ
ผู้สื่อข่าวดังระบุด้วยว่า ในเวลาที่ทหารบูรพาพยัคฆ์ มองเห็น พ.อ.เกรียงศักดิ์ ต้องเดินไปไหนทีละครึ่งเก้าอย่างระมัดระวัง ความรู้สึกแค้นเคืองและเศร้าใจก็บังเกิดขึ้น เพราะพวกเขามองว่า การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมือง ได้ส่งผลให้นายทหารอนาคตไกลคนหนึ่งต้องประสบชะตากรรมอันโหดร้าย ขณะเดียวกัน พวกเขาก็พยายามอย่างยิ่งที่จะหาตัวกองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่ก่อปฎิบัติการโจมตีทหารเมื่อเดือนเมษายน 2553 มาให้จงได้
source :- http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1414330377