เมื่อวานวันเกิด อ.วรเจตน์ ผู้เป็น “เสาหลัก” ทางวิชาการของขบวนประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยคู่กับนิติรัฐ ระบอบการปกครองด้วยกฎหมาย ที่ต้องใช้อย่างเสมอภาค ยุติธรรม นั่นแหละทำให้ อ.วรเจตน์เป็นเสาหลัก เป็นที่รักของมวลชนประชาธิปไตยอย่างมากมาย

ตลอดวิกฤติ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมรู้จักคนเยอะแยะที่เป็น “คนดี” หรือบอกว่าตัวเองเป็น “คนดี” แต่ไม่มีใครเป็น “คนดี” และ “คนกล้า” เท่า อ.วรเจตน์ นี่ไม่ใช่มองแยกสี เพราะ “คนดี” ที่อยู่ฝ่ายเสื้อเหลืองหรืออำมาตย์ก็มี แต่ถ้าจำกัดความคำว่า “คนดี” ในนิยามของทุกข้าง ก็ อ.วรเจตน์นี่แหละเป็นที่สุด

จะเอาเรื่องไหนล่ะ ความสัตย์ซื่อ สมถะ ไม่มุ่งหวังตำแหน่งลาภยศ ความรับผิดชอบต่อครอบครัว รักลูกเมียรักแม่ดูแลแม่ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ไปถามดู นักศึกษาที่เคยเรียนกับ อ.วรเจตน์ ไม่ว่าสีไหน รู้ดีถึงความทุ่มเทเอาใจใส่ (เด็กนิติ มธ.จะรู้ว่าเรียนกับวรเจตน์ยากและท้าทายที่สุด คนเรียนต้องอยากได้ความรู้จริงไม่ใช่แค่อยากได้เกรด) ความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งแม้แต่คนฝ่ายตรงข้ามก็จำต้องยอมรับ (และหวาดกลัว) กระทั่งความแตกฉานในพุทธปรัชญา (ลองไปอ่านที่วิจักขณ์ พานิช เคยสัมภาษณ์)

คือในเรื่องวัตรปฏิบัติ การดำรงชีวิตส่วนตัว ศีลธรรมจรรยา ที่พวกเสื้อเหลืองนกหวีดชอบอ้างนักหนา เอาเข้าจริง อ.วรเจตน์ก็กินขาด “คนดี” พวกนั้นส่วนมากมียศถาบรรดาศักดิ์ แล้วค่อยเอ่ยปากอ้างความดี พวกที่เป็นนักวิชาการแล้วไม่ต้องการลาภยศ ตำแหน่ง มีไม่กี่คนหรอก (บางคนนั่งทับหลายเก้าอี้ด้วยซ้ำ) แล้วเคยลองถามลูกศิษย์ไหม ว่าสอนหนังสือเป็นไง ตั้งใจ เอาใจใส่ หรือมัวแต่ไปสร้างภาพ รับทรัพย์ทำวิจัย เล่นการเมืองในสำนักงาน เล่นการเมืองในมหาวิทยาลัย วางตัวกับคนใกล้ชิดหรือคนที่มีศักดิ์ฐานะต่ำกว่าอย่างไ

อันที่จริงพวกที่อยู่ตรงข้ามแล้วรู้จัก อ.วรเจตน์ ก็รู้อยู่แก่ใจ แต่จะบอกว่า อ.วรเจตน์ “ไม่รู้จักแยกแยะชั่วดี” ไปแก้ต่างให้ทักษิณทำไม ทักษิณมันเลว รัฐประหารเป็นคนดี ฯลฯ เพราะพวกนี้สถาปนาตัวเป็น “คนดี” ต้องเอาชนะ “คนชั่ว” โดยไม่เลือกวิธีการ แล้วบ้านเมืองจะวัฒนาสถาพร ทั้งที่ประเด็นสำคัญที่สุดคือจะต้องยึดหลักประชาธิปไตยและ “นิติรัฐ” สำคัญกว่าตัวบุคคล

ท้ายที่สุดแล้วคนเหล่านี้ก็หลุดไปจาก “ความดี” เพราะโมหะบดบัง บอกว่าตัวเองสัตย์ซื่อไม่โกงไม่กินแต่ทำทุกอย่างเพื่อโกงอำนาจ ลืมตาข้างหลับตาข้าง ยอมรับการเข่นฆ่า การใช้ปืนจี้กดขี่บีฑา และความอยุติธรรม

ในวิกฤติที่ยาวนาน คนดีคนเลวก็มีทุกข้างนั่นแหละครับ แต่คนดีคนกล้าเหนือใครคือคนที่ไม่ได้ทำเพื่อเอาชนะ หากยืนหยัดต่อสู้ถึงที่สุดเพื่อหลักการ (ซึ่งไม่ว่าผู้มีอำนาจข้างไหนชนะ ก็ไม่ชอบคำนี้หรอก อ.วรเจตน์ก็วิจารณ์รัฐบาลทักษิณด้วยหลักการเดียวกันมาแล้ว)

มองย้อนหลังไป ผมไม่คิดว่า อ.วรเจตน์อยากเป็นอะไรมากไปกว่าอาจารย์นิติศาสตร์คนหนึ่ง ที่สอนกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา แต่เพราะวิกฤติบิดเบือนเอาชนะกันอย่างไม่ตรงไปตรงมา บีบให้ อ.วรเจตน์นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องปกป้องหลักการ โดยไม่สนใจว่ายึดหลักการแล้วใครได้ประโยชน์ ทั้งที่รู้ว่าเป็นภัยต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ

นี่ต่างหากคือความดีความกล้าที่แท้จริง ซึ่งหาได้ยากยิ่งในสังคมไทย

(จิ๊กภาพและคำกลอนมาจาก Kasian Tejapira )

ปล.เป็นว่าวันเกิด อ.วรเจตน์คือเมื่อวาน 55 ผมก็ไม่ได้ตามเพราะไม่ได้คบกันเรื่องส่วนตัวมาก ขอแก้ไขนิด


 
Top