ยอดผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในยุโรปตะวันตกเข้าสู่ระดับคงที่
การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เผยว่า ยอดผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในยุโรปตะวันตกอยู่ในระดับคงที่ โดยพวกเขาได้นำผลงานวิจัย 5 ฉบับที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซตที่เป็นวารสารทางการแพทย์ มาตรวจทานใหม่และพบว่าไม่ได้มียอดผู้ป่วยมากตามที่มีการคาดการณ์กัน เมื่อครั้งที่ผลงานวิจัยเผยแพร่ออกมาครั้งแรกเมื่อราวทศวรรษที่ 1990
นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจทานและเปรียบเทียบงานวิจัยในกลุ่มคู่แฝดในอังกฤษ, สเปน, สวีเดนและเนเธอร์แลนด์ ที่ได้มีการศึกษาในช่วงเวลาที่ทิ้งห่างกัน 10 ปี โดยในอังกฤษนั้นนักวิทยาศาสตร์พบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมได้ลดลง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้การคาดการณ์ประเมินว่าผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจะมีเพิ่มขึ้น
ศ. แคโรล เบรน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ให้ความเห็นว่า น่าจะมีปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยในระดับประชากรโดยรวมที่ช่วยป้องกันไม่ให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่า เราสามารถยืดการเกิดภาวะสมองเสื่อมออกไปได้ มากกว่าการป้องกันที่จะไม่ให้ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเลย อย่างไรก็ตามในตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมในบางประเทศยอดผู้ป่วยถึงลดลง โดยภาพรวมการมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มาตรการในการป้องกันโรคหัวใจและระดับการศึกษา อาจทำให้ยอดผู้ป่วยอยู่ในระดับคงที่ ทั้งนี้ฝาแฝดบางคนในงานวิจัยเคยมีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลก สงครามกลางเมืองในสเปน และการขาดแคลนอาหารในเนเธอร์แลนด์ แต่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพหัวใจและระดับการศึกษาเพิ่มขึ้นมาก
อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่ทำงานกับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมเตือนว่า ไม่มีหลักประกันว่าบริการด้านการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และยอดผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เพราะว่าคนมีอายุยืนยาวเกิน 80-90 ปี
ดร. แมทธิว นอร์ตัน จากอัลไซเมอร์ รีเสิร์ช ยูเค ชี้ว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม ที่วงการแพทย์ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และไม่ควรละเลยปัจจัยเสี่ยงในปัจจุบัน เช่น โรคอ้วนและเบาหวาน เขายังบอกด้วยว่ามาตรการที่กระตุ้นให้คนหันมาใช้ชีวิตเพื่อมีสุขอนามัยที่แข็งแรงอาจจะช่วยบรรเทาอาการของผู้ที่จะมีภาวะสมองเสื่อมในอนาคตได้



 
Top