ทำไมนักมวยปล้ำมักตายเร็วกว่านักกีฬาประเภทอื่น ?
สำหรับผู้ชื่นชอบกีฬามวยปล้ำสากล คงคุ้นหูกันดีกับชื่อของสุดยอดนักมวยปล้ำ ไม่ว่าจะเป็นมิสเตอร์เพอร์เฟ็ค เดอะอัลติเมท วอร์รีเออร์ และ รอดดี้ ไพเพอร์ หรือราวดี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า พวกเขาเหล่านั้นต่างจบชีวิตลงด้วยวัยอันไม่สมควรกันทั้งสามคน โดยมิสเตอร์เพอร์เฟ็ค เสียชีวิตเมื่อปี 2003 ด้วยวัย 44 ปีเพราะใช้โคเคนเกินขนาด ส่วนอัลติเมท วอร์รีเออร์ เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วด้วยวัย 54 ปี เนื่องจากหัวใจวาย และราวดี้ หรือรอดดี้ ไพเพอร์ ก็จากไปอย่างฉับพลันด้วยโรคหัวใจเมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วยวัย 61 ปี
จอห์น มอริอาตี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์บอกว่า หากดูจากสถิติการเสียชีวิตของนักมวยปล้ำแล้ว ก็เชื่อได้ว่ามีอัตราการตายก่อนวัยอันควรสูงกว่านักกีฬาประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีการรวบรวมสถิติอย่างเป็นทางการ ทำให้นักวิจัยต้องอาศัยวิธีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ขึ้นใหม่ อย่างเช่น ผลการค้นคว้าของมหาวิทยาลัยอีสต์เทิร์นมิชิแกน ซึ่งระบุว่าในบรรดาอดีตนักมวยปล้ำ 557 คนที่ศึกษานั้น มีที่ตายในช่วงระหว่างปี 1985-2011 ทั้งหมด 62 คนโดยตายก่อนอายุ 50 ปี ถึง 49 คน ส่วนในจำนวน 49 คนนี้ ส่วนใหญ่ตายก่อนอายุ 40 และมี 2 คน ตายก่อนอายุ 30 การศึกษานี้สรุปได้ว่า อัตราการเสียชีวิตของนักกีฬามวยปล้ำที่อายุระหว่าง 45 - 54 ปี สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของพลเมืองชายอเมริกันทั่วไปถึง 2.9 เท่า โดยมีสาเหตุการตายที่สำคัญคือโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผลการค้นคว้าอีกชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดยนายเบนจามิน มอร์ริส จากบล็อก Five ThirtyEight เมื่อปี 2014 ศึกษากลุ่มนักมวยปล้ำที่อำลาเวทีก่อนปี 1998 หรือก่อนหน้านั้น ชี้ว่าอัตราการเสียชีวิตของนักมวยปล้ำกลุ่มนี้ สูงกว่านักกีฬาประเภทอื่น ทั้งนี้เขาพบว่า นักมวยปล้ำที่ควรจะมีอายุระหว่าง 50-55 ปี ในช่วงปี 2010 ได้ตายไปก่อนหน้านั้นแล้วถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับนักอเมริกันฟุตบอลในวัยใกล้เคียงกัน ที่เสียชีวิตก่อนวัยแค่ร้อยละ 4 ทั้ง ๆ ที่กีฬาทั้งสองประเภทต้องฝึกอย่างหนักและมีความรุนแรงพอ ๆ กัน
อิริค โคเฮน ผู้สื่อข่าวสายมวยปล้ำชี้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักมวยปล้ำเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มี 2 ข้อด้วยกัน ข้อแรกเป็นเรื่องของความถี่ในการแข่งขัน โดยกีฬามวยปล้ำแข่งขันกันไม่หยุดหย่อน ขณะที่อเมริกันฟุตบอลแข่งเฉพาะช่วงฤดูการแข่งและมีเวลาพักถึงครึ่งปี อีกประการหนึ่งเป็นเรื่องของรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งเขาบอกว่า นักกีฬามวยปล้ำโดยเฉพาะในยุคทศวรรษที่ 1970-80 นั้น ใช้ชีวิตกันแบบร็อคสตาร์ โดยใช้ทั้งสารกระตุ้นสเตอรอยด์และยาเสพติด รวมถึงรอดดี้ ไพเพอร์ ซึ่งเคยยอมรับว่าเขาเสพโคเคนและดื่มหนัก ทั้งนี้ สมาคมมวยปล้ำอาชีพแห่งโลกหรือ WWW ก็ยอมรับว่า นักมวยปล้ำหลายคนมีปัญหาตามมาจากการใช้ชีวิตในรูปแบบดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายโคเฮนบอกว่า สถานการณ์ปัจจุบันดีกว่าแต่ก่อนมาก โดยอัตราการเสียชีวิตของนักมวยปล้ำในช่วงวัย 20 หรือ 30 ขึ้นไปลดน้อยลง

 
Top