บทบาทของอาจารย์-นักวิจัย-สื่อมวลชน(คอมเมนเตเตอร์/คอลัมนิสต์)ในสังคมวัฒนธรรมไทย
%%%%%%%%
%%%%%%%%
ผมเข้าใจประเด็นที่อาจารย์ Sarinee Achavanuntakul บ่น และเห็นด้วยว่าถ้าจัดการไม่ดี จำแนกแยกแยะไม่ชัด ก็อาจเป็นปัญหา
แต่ผมคิดว่าแทนที่จะมองแบบ formalistic ล้วน ๆ จำแนกตามตัวแบบสถาบันการศึกษา/สื่อมวลชนยุคสมัยใหม่ ประเด็นที่ควรคิดประกอบคือที่มาของมันในสังคมวัฒนธรรมไทย
ปัญญาชนที่ผลิตจากสถาบันการศึกษาอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัยนั้นเพิ่งมีสมัย ร. ๖ เป็นต้นมา (จุฬาฯ) และขยายตัวออกไปหลัง ๒๔๗๕ (มธ....เกษตร...) จนมาระเบิดเถิดเทิงขนานใหญ่สมัยก่อน ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖ (รามคำแหง)
จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยไทยที่เป็นที่ตั้งสังกัดของอาจารย์, นักวิจัยเหล่านี้ใกล้ชิดกับระบบราชการมาแต่ต้นและผลิตคนเพื่อให้ไปทำงานกับรัฐราชการ
ดังทราบกันดีว่าเป็นเวลานานในช่วงต้นที่ข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยเข้ามาเป็นอาจารย์ผู้บรรยายในคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
นอกจากนี้ เป็นเวลานานในช่วงก่อตัวและพัฒนาของมหาวิทยาลัยไทยที่อยู่ใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่อด้วยอำนาจนิยมและเผด็จการทหาร
สภาพเช่นนี้ทำให้อาจารย์/นักวิจัยไทยมีบุคลิกที่เป็น ผู้ฝึกอบรมข้าราชการ, และต่อมาก็เป็นข้าราชการวิชาการ (เทคโนแครต) หรือนักวางนโยบายให้รัฐบาลทหาร/รัฐราชการ มากกว่าจะเป็นอาจารย์/นักวิจัยอิสระในความหมาย formal ที่เสนอแนวคิดความรู้ความเห็นต่อตลาดความคิดเสรีในสังคม เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการการเมืองแบบเปิดตามระบอบประชาธิปไตย
มาในชั้นหลัง ยุครัฐบาลพลเอกเปรมเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยไทยขยับห่างออกจากระบบราชการ ขณะที่การเมืองเลือกตั้งแบบเปิดก็เข้ามาแทนที่การเมืองแบบปิดเดิม ทำให้มหาวิทยาลัยไทยขยับเข้าใกล้ ธุรกิจเอกชนและสื่อมวลชนมากขึ้น
แรงผลักดันอย่างหนึ่งคือเงินเดือนของอาจารย์/นักวิจัยในมหาวิทยาลัยซึ่งค่อนข้างต่ำ (๒๕๓๐s - ๒๕๔๐s) ก่อนขยับขึ้นครั้งใหญ่ในยุครัฐบาลทักษิณทวีคูณเงินประจำตำแหน่ง
การเชื่อมต่อ [อาจารย์-นักวิจัย-สื่อมวลชน] ก็เกิดขึ้น ก่อตัวและขยายลุกลามออกไปในบริบทเช่นนี้
ซึ่งถ้าจ้องมองดูดี ๆ ก็จะเห็นการเชื่อมต่อกว้างออกไปยัง ...-บริษัทธุรกิจเอกชน (กรณี CP ในกระแสข่าว), -พรรคการเมือง (ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ฯลฯ), -เอ็นจีโอ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนฯ), -ขบวนการมวลชน (พันธมิตรฯ, นปช.ฯ, กปปส.) ด้วย
หากเข้าใจบริบท มองภาพให้กว้าง ก็จะเห็นที่มาที่ไปของมันง่ายขึ้น
แล้วจะปรับแก้อย่างไร?
ผมคิดว่าในระยะใกล้ คงคาดหมายถึงการได้อาจารย์/นักวิจัยอิสระที่ไม่เชื่อมโยงบทบาทกับสื่อหรือบริษัทหรือพรรคหรือระบบราชการ ยากสสส์
แต่การเชื่อมโยงนี้ควรมีขอบเขตที่เหมาะสม (decency) และกำกับด้วยจริยธรรมวิชาการบางอย่าง
ในส่วนตัวอาจารย์/นักวิจัยเอง ผมคิดว่าควรคิดถึงความเป็นไปได้และวิธีการที่จะคิดเชื่อมโยงให้บทบาท ประสบการณ์และงานด้านต่าง ๆ สอดคล้องป้อนเลี้ยงกันอย่างเหมาะสม แทนที่จะเบียดขับขัดแย้งล้ำเส้นกัน
เช่น เชื่อมงานค้นคว้าวิจัย เข้ากับบทความนสพ.หรือคอมเมนต์ในสื่อมวลชน และเนื้อหาประเด็นที่บรรยาย/สัมมนาในชั้นเรียนกับนักเรียนนักศึกษา และในทำนองกลับกัน ก็พัฒนาประเด็นคำบรรยาย/สัมมนาในชั้นเรียน ไปเป็นหัวข้อโครงการวิจัยที่กว้างขวางลึกซึ้งออกไป และนำความรู้ข้อมูลที่ได้มาประยุกต์เขียนเป็นบทความลงนสพ.แก่สาธารณชน
ซึ่งจะว่ากันไป อาจารย์สฤณี อาชวานันทกุลก็เป็นแบบอย่างที่ดีในการเชื่อมโยงบทบาทผลงานด้านต่าง ๆ ดังกล่าวนี้อย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ