ผู้บริหารคนใหม่ของกูเกิ้ล : จากก้อนดินสู่ดวงดาว
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมากูเกิ้ลประกาศปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทพร้อมเปิดตัว “อัลฟาเบ็ท (Alphabet)” เป็นบริษัทแม่ของกูเกิ้ล โดยมี นายลาร์รี่ เพจ ผู้ก่อตั้งกูเกิ้ลนั่งแท่นผู้บริหารสูงสุด คู่กับ นายเซอร์เกย์ บริน ในตำแหน่งประธานบริษัท ในส่วนของกูเกิ้ลเองนั้น นายสุนทรา พิชัย ชาวอินเดียวัย 43 ปี ขยับจากตำแหน่งรองประธานอาวุโสมาเป็นผู้กุมบังเหียนของกูเกิ้ลอย่างเป็นทางการในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดหรือซีอีโอ
การรับตำแหน่งใหม่ของนายพิชัยในครั้งนี้สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับชาวอินเดียไม่น้อย ในฐานะชาวอินเดียคนล่าสุดที่มีชื่อเป็นผู้บริหารชั้นสูงในแวดวงไอทีสหรัฐ ตามรอยนายสัตยา นาเดลลา ซึ่งดำรงตำแหน่งซีอีโอคนปัจจุบันของไมโครซอฟท์ เรียกได้ว่าเป็นการตอกย้ำแนวคิด ‘ความฝันอเมริกัน’ ที่ความสำเร็จของบุคคลขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและการทำงานหนัก
เส้นทางชีวิตของนายพิชัยนั้นก็ไม่ธรรมดา เขาเกิดและโตที่เมืองเชนไน พื้นฐานครอบครัวค่อนข้างยากจน อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ขนาด 2 ห้อง ตัวเขาและน้องชายอาศัยพื้นห้องนั่งเล่นเป็นที่นอน ที่บ้านไม่มีทีวี รถยนต์ เขาซึมซับเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีมาจากพ่อซึ่งขณะนั้นทำงานเกี่ยวกับด้านไฟฟ้า นายรากุนาทา พิชัย พ่อของเขาเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่าเวลาเขากลับจากที่ทำงานเขามักเล่าเรื่องเกี่ยวกับงานที่ทำและความท้าทายของงานให้ลูกชายฟังเสมอ ๆ และบอกว่าตอนเด็ก ๆ นั้นลูกชายจำเบอร์โทรศัพท์ได้เก่งอย่างน่าทึ่ง
นายพิชัยเข้าเรียนสาขาวิศวกรรมโลหะการที่วิทยาลัยเทคโนโลยีอินเดียในเมืองคารักปุระ ต่อมาได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐ ค่าตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางไปสหรัฐในตอนนั้นแพงกว่าเงินเดือนทั้งปีของพ่อเขาเสียอีก
นายพิชัยเข้าร่วมงานกับกูเกิ้ลในปี 2547 โดยดูแลบราวเซอร์โครมและระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์บนมือถือจนปัจจุบันกลายเป็นระบบปฏิบัติการยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก ทั้ง ๆ ที่ในชีวิตจริงนั้นครอบครัวของนายพิชัยเพิ่งมีโทรศัพท์บ้านใช้ตอนเขาอายุได้ 12 ปี
นายลาร์รี่ เพจ เขียนในบล็อกเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกูเกิ้ลครั้งนี้ว่า บ่อยครั้งที่นายพิชัยแสดงวิสัยทัศน์คล้าย ๆ กับเขา แถมบางครั้งดีกว่าด้วยซ้ำ และเขามีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับนายพิชัย
ความท้าทายของนายพิชัยจากนี้ไปนอกจากการดูแลสินค้าหลักของกูเกิ้ลทั้งระบบค้นหา โฆษณา และแผนที่แล้ว ยังต้องพยายามยึดครองตลาดวิดีโอบนโซเชียลมีเดียให้กับยูทูป โดยการขับเคี่ยวกับคู่แข่งตัวฉกาจอย่างเฟซบุ๊กซึ่งพยายามรุกคืบในตลาดเดียวกันอย่างเข้มข้น