ผู้ปกครองและนักเรียน มองนโยบายเรื่องนี้อย่างไรกันบ้างครับ
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยกับบีบีซีไทยถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการปรับลดชั่วโมงเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาว่า เป็นสิ่งที่กระทรวงจะดำเนินการจริง โดยจะเริ่มในภาคการศึกษาปลาย ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ชี้เด็กประถมเรียนหนักจนเครียด และขาดความสุข
นายกมลบอกว่า จากการที่นายกรัฐมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการได้ฟังความเห็นประชาชน ทราบว่าส่วนใหญ่เห็นว่าเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาเรียนหนังสือตามตำรามากเกินไป จนเกิดความเครียดและไม่มีความสุข โดยในแต่ละปีเด็ก ๆ ต้องเรียนในห้องเรียนมากถึงราว 1,000 ชั่วโมง ขณะเดียวกันมีข้อมูลที่ได้จากต่างประเทศว่าทั้งยุโรป อเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เด็กชั้นประถมจะใช้เวลาเรียนในห้องเรียนประมาณ 750-800 ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์แล้วจึงเห็นว่าควรปรับลดชั่วโมงการเรียนการสอนเนื้อหาในห้องเรียนลง แต่นำเวลาที่เหลืออยู่มาทำกิจกรรมบูรณาการ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา และกิจกรรมเสริมอื่นๆ
“สิ่งที่จะทำคือลดชั่วโมงเรียนจาก 1,000 ชั่วโมงเหลือ 850 ชั่วโมง จัดวิชาเรียนที่เป็นสาระ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไว้ตอนเช้า ส่วนหลังจากบ่ายสองโมงเด็ก ๆ จะเรียนดนตรี พละ การทดลองวิทยาศาสตร์ ทำกับข้าว การงานอาชีพ และวิชากิจกรรม เด็ก ๆ สามารถไปวิ่งเล่นในสนาม หรือเข้าชมรมต่าง ๆ เด็กที่เรียนอ่อนก็จะมีครู หรือเพื่อน ๆ มาช่วยสอน เด็ก ๆ จะได้ไม่ต้องมุ่งแต่ท่องหนังสืออย่างเดียว”
นายกมล บอกว่า การยืดหยุ่นชั่วโมงเรียนในลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นการปรับลดความรู้สำหรับเด็ก แต่ปรับลดตัวสาระที่เป็นวิชาการ หรือการสอนตามตัวหนังสือมาสอนในเชิงบูรณาการมากขึ้น เพราะแท้จริงแล้วการเรียนการสอนใน 8 กลุ่มสาระนั้น จะเน้นใน 5 วิชาหลักเท่านั้น คือภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา แต่วิชาอื่น ๆ ควรทำเป็นโครงงาน ซึ่งวิธีการนี้มีหลายโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนทำอยู่แล้ว
ทั้งนี้ จะไม่บังคับให้โรงเรียนที่ยังไม่พร้อมให้ทำตามนโยบายนี้ แต่จะเริ่มทดลองกับโรงเรียนประถมศึกษาประมาณ 3,000 แห่ง หรือประมาณ 10% ของทั่วประเทศก่อน โดยกระทรวงจะจัดทำรูปแบบตัวอย่างตารางสอนและกิจกรรมให้โรงเรียนที่จะร่วมโครงการได้ใช้เป็นตัวอย่าง โดยโรงเรียนจะยังคงเลิกเรียนในเวลา 15.30 น.ตามปกติ#ThaiEducation