มาตรการรักษาความปลอดภัยที่สนามบินเปลี่ยนไปอย่างไร ?
ขณะที่คณะผู้เชี่ยวชาญอียิปต์และนานาชาติกำลังสอบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินของของรัสเซียเที่ยวบินเคจีแอล 9268 ตกบริเวณคาบสมุทรไซนายนั้น คำถามหนึ่งที่ตามมาก็คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ระบบความปลอดภัยที่สนามบินเข้มงวดและปลอดภัยขึ้นมากน้อยแค่ไหน
สำหรับเหตุเครื่องบินรัสเซียตกครั้งนี้ ดูเหมือนว่านายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษค่อนข้างปักใจเชื่อว่าเกิดจากระเบิดที่ถูกนำขึ้นไปวางไว้บนเครื่อง ก่อนหน้าที่เครื่องจะออกเดินทางจากเมืองชาร์ม เอล-เชคไปรัสเซีย โดยเขาอ้างว่าเป็นข้อมูลจากหน่วยข่าวกรอง
นอร์แมน แชงค์ อดีตหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยการท่าอากาศยานอังกฤษบอกว่า เมื่อกล่าวถึงการก่อวินาศกรรมทางอากาศแล้ว จะมีคน 2 กลุ่มเท่านั้นที่ลงมือได้ คือผู้โดยสารกับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบนเครื่องหรือภาคพื้นดิน ซึ่งเขาบอกว่า มาตรการหนึ่งที่มีการนำมาใช้ก็คือการตรวจพนักงานทุกคนที่เข้าออกบริเวณพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งที่สหราชอาณาจักรดำเนินการมากว่า 20 ปีแล้ว หลังเกิดเหตุวินาศกรรมลอบวางระเบิดเครื่องบินของสายการบินแพมแอมซึ่งออกเดินทางจากสนามบินฮีทโธรว์ไปยังนครนิวยอร์ก และระเบิดเหนือน่านฟ้าเมืองล็อคเคอร์บีในสกอตแลนด์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 270 ราย ส่วนสหภาพยุโรปเริ่มใช้มาตรการที่ว่านี้ตามเมื่อปี 2547
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังมีอีกหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ที่ไม่ได้นำมาตรการดังกล่าวมาใช้ สำหรับสนามบินที่เมืองชาร์ม เอล-เชค ต้นทางของเที่ยวบินเคจีแอล 9268 นั้น นายแซ็ก โกลด์ นักวิชาการแลกเปลี่ยนจากสถาบันความมั่นคงแห่งชาติของอิสราเอลให้ความเห็นว่า ปกติมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สนามบินที่ชาร์ม เอล-เชค เข้มงวดมาก เขาเห็นว่าหากเป็นระเบิดจริง ก็น่าจะเป็นฝีมือของคนภายในหรือพวกที่มีเส้นสายกับพนักงานภายในมากกว่าที่จะเป็นผู้โดยสาร
สำหรับอีกมาตรการที่อังกฤษนำมาใช้ คือการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของพนักงาน ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ สนามบินฮาร์ทส์ฟิลด์-แจ็คสันในเมืองแอตแลนตาของสหรัฐฯ ได้นำมาใช้ หลังเกิดข้อกล่าวหาว่า พนักงานคนหนึ่งเป็นพวกขบวนการลักลอบค้าปืน แต่เจ้าหน้าที่พบว่า มาตรการที่ว่านี้ไม่สามารถช่วยได้อย่างเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทางสนามบินที่นั่นจึงเปลี่ยนมาใช้เป็นแบบสุ่มตรวจแทน ทั้งนี้นายแชงค์บอกว่าตัวเขาเองก็ไม่เห็นว่าการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมพนักงานจะช่วยได้มาก เพราะที่ผ่านมา ก็มีพวกก่อวินาศกรรมที่ไม่เคยมีประวัติด้านอาชญากรรมมาก่อน
หลังเกิดเหตุวินาศกรรมผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นครนิวยอร์กในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ได้เสนอและขอความร่วมมือให้ตรวจผู้โดยสารและกระเป๋าสัมภาระอย่างละเอียดมากขึ้น ตลอดทั้งเพิ่มความเข้มงวดในเขตพื้นที่ปลอดภัย แต่ไอเคโอไม่มีอำนาจที่จะให้สนามบินปฏิบัติตาม เพียงแต่ขอความร่วมมือเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยหนึ่งที่เห็นได้ว่า พัฒนาขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้คือ เครื่องสแกนร่างกายที่สามารถตรวจจับวัตถุที่ใช้ทำระเบิดได้ ซึ่งหลังจากได้รับเบาะแส พนักงานจะใช้เครื่องตรวจค้นหาวัตถุหรืออุปกรณ์ที่อาจสามารถนำไปใช้ประกอบเป็นระเบิดได้ ตลอดทั้งตรวจสอบผู้ร่วมเดินทางด้วย
นอกจากมาตรการที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีมาตรการตรวจสอบรองเท้า หลังเกิดเหตุผู้โดยสารชาวอังกฤษถูกจับได้ว่ามีแผนใช้ระเบิดที่ซ่อนอยู่ในรองเท้า ระเบิดเครื่องของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ที่กำลังบินจากเมืองไมอามีไปกรุงปารีสเมื่อเดือนธันวาคม 2544 และหลังจากปี 2549 อังกฤษกับสหรัฐฯ ได้ออกกฎจำกัดปริมาณของเหลวที่ผู้โดยสารจะถือติดตัวนำขึ้นเครื่องได้ หลังพบว่าคนร้ายมีแผนใช้ระเบิดเหลวระเบิดเครื่องบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก 7 เครื่อง
นายเดวิด เลียร์เมาท์ ผู้สื่อข่าวที่จับเรื่องความปลอดภัยของสนามบินบอกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการนำเครื่องสแกนร่างกายมาใช้กันตามสนามบินหลายแห่งในสหราชอาณาจักร แต่เขาบอกว่า ถึงแม้ว่ามาตรฐานความปลอดภัยของสนามบินจะดีขึ้นมาก แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบมาตรฐานของสหประชาชาติ รวมถึงการลงทุนด้านบุคลากร การฝึกอบรม และสร้างหลักประกันเพื่อไม่ให้การฉ้อฉลหรือคอร์รัปชันมาเป็นตัวบั่นทอนมาตรฐาน
ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่า แม้ท้ายที่สุด ผลการสอบสวนจะสรุปว่า การตกของเครื่องบินโดยสารของรัสเซียในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากระเบิดจริง แต่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เหตุลอบวางระเบิดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ซึ่งสำหรับรัสเซีย เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2547 โดยมีเครื่องบินตก 2 ลำ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 89 ราย
ผู้สื่อข่าวบอกว่า ที่ผ่านมาพอสรุปได้ว่า หลังเหตุการณ์ก่อการร้ายรุนแรงรวมถึงเหตุการณ์ 9/11 และล็อคเคอร์บี ดูเหมือน ว่ามาตรการใหม่ ๆ ด้านความปลอดภัยที่ได้นำมาใช้ ช่วยให้สนามบินปลอดภัยขึ้น แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญจากไอเคโอเตือนว่า ยังมีกลุ่มคนร้ายที่คอยจ้องหาวิธีคุกคามความปลอดภัยของการบินอยู่เรื่อยไป
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น