0


นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ดัดแปลงพันธุกรรมยุงให้ต้านทานเชื้อมาลาเรีย

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เผยว่า ได้เพาะพันธุ์ยุงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้สามารถทนทานต่อเชื้อมาลาเรียได้ ซึ่งหากเทคนิคนี้ใช้ได้ผลในพื้นที่จริงก็จะมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับไข้มาลาเรีย

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้ยุงก้นปล่องสายพันธุ์ Anopheles stephensi ที่พบในอินเดียในการศึกษา โดยใส่ยีนใหม่ที่มีความทนทานต่อเชื้อมาลาเรียเข้าไปในดีเอ็นเอของยุง ด้วยวิธีการที่เรียกว่า Crispr และเมื่อยุงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมจับคู่ผสมพันธุ์ก็จะออกลูกเป็นยุงที่ทนทานต่อเชื้อมาลาเรีย ซึ่งผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า เกือบ 100% ของลูกยุง 3 รุ่นได้รับการถ่ายทอดดีเอ็นเอที่สามารถต่อสู้กับปรสิตที่ก่อให้เกิดไข้มาลาเรียได้

ในทางทฤษฎี เมื่อยุงเหล่านี้กัดคนก็จะไม่สามารถแพร่ปรสิตมาลาเรียได้ ทีมนักวิจัยเชื่อว่า ยุงดัดแปลงพันธุกรรมอาจมีบทบาทสำคัญในการขยายพันธุ์ยุงที่ทนทานเชื้อมาลาเรียเพื่อแทนที่ยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อนี้ และเทคนิคดัดแปลงพันธุกรรมนี้น่าจะใช้ได้ผลกับยุงสายพันธุ์อื่นด้วย ทั้งยังจะเป็นอีกหนึ่งหนทางในการต่อสู้กับไข้มาลาเรีย

ปัจจุบันประชาชนราว 3,200 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกมีความเสี่ยงเป็นไข้มาลาเรีย แม้จะมีการใช้มุ้ง, ยาฆ่าแมลง และยากันยุง ที่สามารถป้องกันไม่ให้ยุงกัด และมียารักษามาลาเรียที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อ แต่มาลาเรียก็ยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนไปปีละประมาณ 580,000 คน #Malaria


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top