0
ขอบคุณภาพจาก google images
บทความตะกี้ที่จริงข่าวสดต้อง up ตั้งแต่คืนวันพฤหัส คงลืม เลย up คืนนี้ 2 เรื่องซ้อน
รำคาญยายถวิลบุรีตั้งแต่วันเสวนาสถาบันพระปกเกล้า ด่าอำนาจเลือกตั้งเป็น "โจราธิปไตย" แล้วบอกว่ารัฐบาลรัฐประหาร (ธัมมาธิปไตยมั้ง) คะแนนพุ่งปรี๊ด
อะไรคือนิติรัฐ นิติธรรม ที่จริงมันก็หลักเดียวกัน การปกครองด้วยระบอบกฎหมาย ทุกคนเสมอหน้าใต้กฎหมาย ไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ (แต่ไม่ใช่ออกประกาศคำสั่งเป็นกฎหมายแล้วบอกว่าประชาชนต้องเคารพกฎหมาย)
เพียงแต่ 2 คำนี้มีที่มาต่างกัน นิติรัฐมาจากเยอรมัน ซึ่งใช้กฎหมายระบบ Civil Law นิติธรรมมาจากอังกฤษ ซึ่งใช้ระบบ Common Law
เรื่องตลกคือประเทศไทยใช้ Civil Law แต่ทำไม รธน.50 โดยตู่ สมคิด จึงยัดคำว่า "นิติธรรม" มองย้อนหลังแล้วชัดเจน อยากให้มีคำว่า "ธรรม" เพราะคำนี้ขายได้ สะท้อนระบอบที่ "คนดีมีศีลธรรม" ใช้กฎหมายตามอำเภอใจ โดยไม่ใช่ Rules of Law
หลังมีคำว่านิติธรรม รัฐธรรมนูญ 50 จึงสถาปนาระบอบศาลและองค์กรอิสระเป็นใหญ่ ศาลชอบใช้คำพระ (มีศีลธรรม) แต่ตัดสินสองมาตรฐาน เป็นระบอบที่ตุลาการภิวัตน์ล้มรัฐบาลได้ กำจัดคน(เลว)ที่มาจากอำนาจประชาชน กระทั่งศาล รธน.สถาปนาตัวเองอยู่เหนืออำนาจทุกฝ่าย ไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญ
รธน.ที่ คสช.มีชัย จะร่างใหม่ก็ไม่พ้นสร้างอำนาจศาลใหญ่โต แต่มาในโปรโมชั่น "ทุจริตตัดสิทธิตลอดชีวิต" ยิ่งบอกว่าจะเอาศาล รธน.ไปไว้ในหมวดศาล ยิ่งน่าสงสัย จรัญ ภักดีธนากุล ออกมาชมใหญ่ กรูละงง รธน. 2540 2550 ศาล รธน.ก็อยู่ในหมวดศาลอยู่แล้ว มีอะไรใหม่ จะเพิ่มอำนาจจะห้ามนิติราษฎร์วิจารณ์=ดูหมิ่นศาลติดคุกหัวโตใช่ไหม
โจราธิปไตย ยังไม่เลวร้ายเท่าตุลาการเป็นโจรนะครับ

000000

สถาบันพระปกเกล้าจัดเสวนา "นิติธรรมกับประชาธิปไตย" ซึ่งถวิลวดี บุรีกุล สปท.อดีต กมธ. สรุปว่านิติธรรมมีไว้เล่นงาน "โจราธิปไตย" ที่ประชาชนเลือก ขณะที่รัฐบาล "ธรรมาธิปไตย" ซึ่งมาจากรัฐประหารมีคะแนนนิยมสูงปรี๊ดขึ้นทุกวัน น่าปลื้มจัง

ชาวบ้านฟังแล้วยังงง "นิติรัฐ" "นิติธรรม" 2 คำนี้ต่างตรงไหน อธิบายง่ายๆ หลักเดียวกันครับ การปกครองด้วยระบบกฎหมายซึ่งอยู่คู่กับประชาธิปไตย ไม่ยอมให้ผู้ปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจแบบเผด็จการ

ฉะนั้นคำว่า "กฎหมาย" อย่างเดียวก็ยังไม่ใช่นิติรัฐนิติธรรม เพราะเผด็จการก็ปกครองด้วยกฎหมายเหมือนกัน แต่เป็นประกาศคำสั่งที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ (แล้วสอนให้ประชาชนรู้จักเคารพกฎหมาย)

นิติรัฐนิติธรรมจึงต้องคู่กับความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่อำนาจออกกฎหมาย การบังคับใช้อย่างเสมอภาค มีเหตุผล มี Standard ปกป้องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน อยู่บนหลักแบ่งแยกอำนาจ ตรวจสอบถ่วงดุลได้

นิติรัฐ นิติธรรม ไม่ต่างโดยหลัก แค่มาจากคนละระบบ คือนิติรัฐ Rechtsstaat มาจากเยอรมัน ซึ่งใช้ระบบ Civil Law กฎหมายลายลักษณ์อักษร ถือหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ขณะที่นิติธรรม Rules of Law มาจากอังกฤษ ซึ่งใช้ระบบ Common Law กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ถือหลักรัฐสภามีอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมาย

Civil Law ใช้ในยุโรป Common Law ใช้ในอังกฤษ อเมริกา ประเทศเครือจักรภพ สังเกตง่ายๆ Common Law ไม่มีประมวลกฎหมาย มีศาลเดียวคือศาลยุติธรรม ไม่มีศาลปกครองศาลรัฐธรรมนูญ

ตรงนี้สิชวนงง เพราะประเทศไทยใช้ระบบ Civil Law แต่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 ไพล่บัญญัติ "หลักนิติธรรม" เป็นผลงานที่อธิการตู่ (สมคิด เลิศไพฑูรย์) ภูมิใจชั่วลูกหลาน ทั้งที่จบฝรั่งเศส บรรเจิด สิงคะเนติ ก็เชิดชูอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเหนืออื่นใด ว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรม ทั้งที่จบเยอรมัน รู้ดีว่าศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมาจากรัฐสภาเลือกตั้ง ไม่ใช่ศาลสรรหา

ทำไมถึงใช้ "นิติธรรม" ทั้งที่ตามหลักวิชาควรใช้ "นิติรัฐ" มากกว่า ไม่รู้เหมือนกัน แต่สันนิษฐานว่าคำว่า "ธรรม" มันขายได้ มันหมายถึงระบอบคนดีมีศีลธรรมเป็นผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งเมื่อมีคุณธรรมจริยธรรมเสียอย่าง การใช้และตีความจึงไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องเป็นไปตามหลักการ ไม่ต้องมี standard เพราะเอา "ธรรม" เป็นที่ตั้ง กระทั่งเหนือประชาธิปไตย

เพราะหลังมีคำ "นิติธรรม" ในรัฐธรรมนูญ 2550 เราได้เห็นระบอบศาลเป็นใหญ่ องค์กรอิสระเป็นอำนาจที่ 4 ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ ศาลท่องคำพระไม่ขาดปาก แต่หลายคดีที่ตัดสินไปมีข้อสงสัย "สองมาตรฐาน" ศาลรัฐธรรมนูญล้มรัฐบาลได้ด้วย "ใบแดง" คนเดียวยุบทั้งพรรค มาตรา 237 ไม่ต่างจากกฎหมายโบราณ "ผิดคนเดียวประหารเจ็ดชั่วโคตร" แล้วท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็สถาปนาตนเหนือทุกอำนาจ ห้ามแก้รัฐธรรมนูญ แก้ให้วุฒิสภามาจากเลือกตั้งก็มีความผิดฐาน "ล้มล้างระบอบ"

ก็ยังไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะใช้ "นิติธรรม" แบบไหน แต่เห็นตั้งท่าหลายเรื่องเหมือนไม่สรุปบทเรียน มีแต่จะเพิ่มอำนาจศาลองค์กรอิสระยิ่งๆ ขึ้นไป เช่นตัดสิทธิตลอดชีวิต

บางเรื่องก็น่าประหลาดใจ เช่นจะเอาศาลรัฐธรรมนูญไว้ในหมวดศาล ไม่ใช่องค์กรอิสระ อ้าว รัฐธรรมนูญ 2540,2550 ก็อยู่หมวดศาลอยู่แล้วนี่ครับ จะเพิ่มอำนาจ จะแก้ที่มา จะห้ามวิพากษ์วิจารณ์หรือเปล่า

นิติรัฐนิติธรรมไม่ได้แปลว่าศาลเป็นใหญ่ ไม่ใช่ศาลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะศาลก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย ไม่สามารถใช้กฎหมายตามอำเภอใจ ศาลต้องตรวจสอบได้ ต้องยึดโยงอำนาจประชาชน

เราไม่ได้เชื่อศาลเพราะมีศีลธรรมเหมือนพระ เราเชื่อกระบวนการยุติธรรม เชื่อการพิสูจน์พยานหลักฐานหักล้างด้วยเหตุผล แต่สังคมไทยงมงายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าต้องเอาคนดีมานั่งเป็นเปาบุ้นจิ้น สอบสวนเองตัดสินเอง ข้ามขั้นกระบวนการ เพื่อเล่นงาน "โจรา" เช่น "เชื่อได้ว่า" โกงเลือกตั้งก็แจกใบแดง ป.ป.ช.ชี้มูลก็ไล่ออก ถอดถอน ขึ้นศาลชั้นเดียว ขยายอำนาจจนล่วงล้ำอำนาจตัดสินใจประชาชน

ถามจริง ทุกวันนี้คนไทยยังเชื่อไหมว่า กกต.ป.ป.ช.องค์กรอิสระ ตุลาการ เป็นเทวดาลอยมาจากฟากฟ้า สุจริต เที่ยงธรรม ไม่มีอคติ ไม่มีรัก โลภ โกรธ หลง ไม่เห็นแก่หน้าใคร ไม่มีบุญคุณความแค้น ไม่มีความโน้มเอียงทางการเมือง

ถ้ายอมรับว่าไม่สามารถทำให้คนเชื่อได้ ก็อย่าไปเพิ่มอำนาจชี้เป็นชี้ตาย ลดละสลายอำนาจเสียดีกว่า เพราะถ้าประชาชนไม่เชื่อว่ามีความยุติธรรม บ้านเมืองก็วุ่นวายไม่สิ้นสุด

นิติธรรมมีไว้ป้องกัน "โจราธิปไตย" จริงครับ แต่ถ้าผู้ใช้กฎหมายไม่เคารพหลักนิติรัฐนิติธรรมก็ยิ่งกว่า "โจรร้าย"

source :- http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1447425379

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top