กลุ่มผู้หญิงภาคใต้เรียกร้องขอพื้นที่ปลอดภัยจากผู้ใช้อาวุธ
กลุ่มคนทำงานเรื่องผู้หญิงและพันธมิตรรวม 23 กลุ่มในนามคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ได้ออกข้อเรียกร้องขอให้ “ผู้ใช้กำลังอาวุธ” ทุกฝ่ายยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สาธารณะที่กระทบการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งขอให้ ”ทางออกโดยวิธีการทางการเมือง หลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธ ที่ทำให้ผู้หญิงและกลุ่มเป้าหมายเปราะบางได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางลดและไม่สร้างเงื่อนไขยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ” และเชิญชวนทุกฝ่ายให้ร่วมกันหาทางออกต่อความขัดแย้งอย่างสันติ
แถลงการณ์ของกลุ่มที่ตัวแทนอ่านบนเวทีหลังการเสวนาที่ยะลาวันนี้ 25 พ.ย.ระบุว่า ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ผลของความขัดแย้งมีผู้หญิงเสียชีวิตไปแล้ว 431 คน บาดเจ็บอีก 1,651 คน เด็กที่อายุต่ำกว่า15 ปีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไปแล้ว 81 คน บาดเจ็บทั้งเล็กน้อยและสาหัสอีก 445 คน และความสูญเสียเหล่านี้ล้วนเกิดในพื้นที่สาธารณะ แถลงการณ์บอกว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่จำเป็นที่ผู้หญิงต้องใช้เพื่อกิจกรรมตอบสนองภารกิจของความเป็นเมีย แม่และอื่นๆ พวกเขาจึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายละเว้นการก่อเหตุรุนแรงต่อผู้หญิงและผู้ที่เปราะบางในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นถนน ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณี
การรณรงค์ดังกล่าวอาศัยโอกาสของการที่วันที่ 25 พ.ย.เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เสนอข้อเรียกร้อง กลุ่มผู้หญิงได้ร่วมกันเดินรณรงค์ในช่วงเช้าและจัดเสวนาพูดถึงความสูญเสียของผู้หญิงและเด็กจากสถานการณ์ความรุนแรงสิบเอ็ดปีในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้
ปาตีเมาะ เปาะอีแตดาโอ๊ะ หนึ่งในตัวแทนของกลุ่มกล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในระยะหลังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงรวมไปถึงเด็กมีมากขึ้น จากเดิมที่เคยเกิดในรูประเบิดหรือกราดยิง แต่ระยะหลังผู้หญิงเป็นเป้าของความรุนแรงโดยตรง บางครั้งถูกยิงและเผา และเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นในตลาด ถนน หรือในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ทำให้ผู้คนเกิดความหวาดกลัวมากขึ้นกว่าเดิม เธอบอกว่า คู่ความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายอาจจะเห็นว่าฝ่ายตนมีภารกิจ ฝ่ายขบวนการต้องการเรียกร้องพื้นที่คืน ขณะที่ฝ่ายรัฐพยายามจะปกป้อง แต่ไม่ว่าจะคิดอย่างไร คนในพื้นที่ก็ยังคงต้องใช้ชีวิต และแม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามทำให้เกิดความแตกแยก แต่วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ทั้งพุทธและมุสลิมผูกพันกันมาแต่เดิม
อย่างไรก็ตามระยะหลังชาวบ้านทำตัวลำบากเนื่องจาก “ไม่ว่าจะทำอะไรก็กลายเป็นเป้าทุกอย่าง จนเราไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง และตราบใดที่เราไม่รู้ว่าเราถูกกำหนดเป็นประชาชนของใคร คุณก็ต้องปกป้องเรา ไม่ใช่มาทำร้ายเรา จึงขอเรียกร้องต่อทุกฝ่าย รวมทั้งต่อการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไปด้วย”
ปาตีเมาะกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เสนอให้มีพื้นที่ปลอดภัยโดยกำหนดจุดต่างๆไว้ 7 พื้นที่ แต่ในมุมมองของผู้หญิงอยากให้พื้นที่ที่ปลอดภัยคือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่นถนน ตลาด สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และอื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องที่จะเป็นประโยชน์แต่เฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น ปาตีเมาะกล่าวว่า หนนี้ถือเป็นครั้งที่สองที่กลุ่มผู้หญิงมีข้อเรียกร้องถึงกลุ่มใช้อาวุธรวมถึงกลุ่มผู้เห็นต่าง โดยในครั้งแรกคือเมื่อ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้หญิงได้ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง หลังจากนั้นสถิติความรุนแรงต่อคนสองกลุ่มลดลง แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณจากทั้งสองฝ่ายไม่ว่ารัฐหรือฝ่ายขบวนการที่จะไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เธอบอกว่ากลุ่มผู้หญิงเองก็ประเมินสถานการณ์มาโดยตลอด รวมทั้งต้องการจะมีบทบาทในเรื่องของการสร้างสันติภาพด้วย โดยพยายามทำให้ผู้หญิงในพื้นที่รู้เท่าทันสถานการณ์จะได้มองออกว่าตนควรมีบทบาทอย่างไรบ้างในการสร้างสันติภาพ
ปาตีเมาะกล่าวอีกว่า กลุ่มมารา ปาตานี ซึ่งมาจากการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผู้เห็นต่างหลายกลุ่มเพื่อจะพูดคุยกับรัฐบาล ได้บอกว่าจะรับฟังเสียงของผู้หญิงในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้หญิงพยายามเรียกร้องในวันนี้
“ตอนนี้ผู้หญิงหวังกับกระบวนการสันติภาพมาก เราพยายามจะเปิดการเสวนาหารือในหมู่ชาวบ้าน กระจายข่าวการพูดคุยกันของทั้งสองฝ่าย เวลาที่แต่ละฝ่ายมีข้อเสนออะไรก็นำไปพูดคุยเพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้และเข้าใจว่าตัวเองก็มีอำนาจในอันที่จะเสนอหรือตัดสินในอนาคตของตัวเอง ไม่ใช่แค่คู่ความขัดแย้งสองฝ่ายเท่านั้น และชาวบ้านเองขณะนี้ก็ตื่นตัวมาก”
ปาตีเมาะระบุว่า โดยทั่วไปแล้วเวลานี้ สิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับกับประเด็นของกลุ่มผู้หญิง นั่นคือปัญหาความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ในแต่ละวัน ต้องการความปลอดภัยในพื้นที่ที่เคยใช้ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง วัด มัสยิด ตลาด ฯลฯ
ขอบคุณภาพจากช่างภาพเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และจากแฟนเพจบีบีซีไทย
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น