0

กระบวนการสันติภาพภาคใต้: มารา ปาตานีปฏิเสธไม่เคยตกลงจะจัดทำเขตปลอดภัยกับฝ่ายไทย
กลุ่มออกแถลงการณ์วันนี้ 22 พ.ย.ปฏิเสธข่าวที่มีการนำเสนอในสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า ผลของการพูดคุยล่าสุดระหว่างทีมพูดคุยเพื่อสันติสุขตัวแทนรัฐบาลไทย กับทีมมารา ปาตานี ได้ตกลงกันร่วมจัดตั้งเขตปลอดภัยขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้คือที่อ.บาเจาะและเจาะไอร้อง
บีบีซีไทยได้รับสำเนาของแถลงการณ์ที่ลงชื่อโดยอุสตาซมูฮัมหมัด ชูกรี ฮารี หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปในข่าวว่ามะสุกรี ฮารี หัวหน้าทีมพูดคุยของกลุ่มมารา ปาตานี ระบุว่าการรายงานข่าวดังกล่าวโดยสื่อมวลชนบางสำนักถึงผลของการหารือเมื่อ 11-12 พ.ย.ดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง
“มารา ปาตานีอยากขอย้ำว่า รายงานดังกล่าวไม่เป็นความจริงและไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุน ไม่เคยมีการหารือเรื่องนี้ไม่ว่านอกหรือในที่ประชุมในระหว่างการพูดคุยสองวันนั้น”
“เรามีความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นแผนอย่างจงใจของบางฝ่ายที่มีจุดมุ่งหมายบางอย่างเพื่อจะทำให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยที่เพิ่งจะเริ่มกันขึ้นมาใหม่”
แถลงการณ์ของกลุ่มมารา ปาตานียังบอกอีกว่า กระบวนการพูดคุยในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน (confidence building) และยังไม่เป็นทางการ ดังนั้นในช่วงเวลานี้จะไม่มีการหารือประเด็นใดๆจนกว่ากระบวนการนี้จะยกระดับขึ้นเป็นกระบวนการที่เป็นทางการ
สำนักข่าวอิศรารายงานไว้เมื่อ 19 พ.ย.ว่า คณะทำงานชุดเล็กของทั้งสองฝ่ายซึ่งพูดคุยกันเมื่อ 11-12 พ.ย.ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าจะนำเสนอหมู่บ้านนำร่องในบาเจาะและเจาะไอร้องให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือ Safety Zone ที่ทั้งสองฝ่ายจะลดการใช้ความรุนแรงหรือให้เป็นพื้นที่หยุดยิง หลังจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งกลไกร่วมเพื่อดูแล เช่นให้มีคณะทำงานตรวจสอบที่มาของเหตุรุนแรงหากมีว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด อิศรารายงานว่า จะมีการนำเสนอข้อสรุปของคณะทำงานชุดนี้ต่อคณะพูดคุยชุดใหญ่ที่คาดว่าจะพบกันในเดือนธ.ค. นอกจากนั้นระบุว่า การเสนอให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนึ่งในข้อเสนอสามข้อก่อนการพูดคุยของฝ่ายไทย ที่เสนอให้สร้างพื้นที่ปลอดภัย พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และให้มีการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ และการสร้างพื้นที่ปลอดภัยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อทดสอบว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีอิทธิพลเพียงใดในการควบคุมความรุนแรง ทั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่าเป็น “ตัวจริง” หรือไม่
ก่อนหน้านี้บีบีซีไทยได้สอบถามไปยังผู้แทนของกลุ่มมารา ปาตานีถึงผลของการพูดคุยหนล่าสุดดังกล่าวที่มาเลเซีย ได้รับคำตอบว่า การพบปะหารือกันของทีมพูดคุยซึ่งเป็นชุดเล็กดังกล่าวมีประเด็นสำคัญคือเรื่องของการกำหนดTerms of reference หรือ TOR ซึ่งถือว่าเป็นการวางกรอบกติกาสำหรับการพูดคุย หรือเป็นการกำหนดรายละเอียดต่างๆเพื่อให้เข้าใจให้ตรงกัน มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกได้ส่งร่างตัวอย่างให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาเพื่อให้ทั้งคู่จัดทำรายละเอียด หลังจากนั้นจะได้นำไปเทียบเคียงกันก่อนจะหาสิ่งที่ตกลงกันได้ แล้วยกร่างขึ้นมาเป็นกติกา/ข้อกำหนดเพื่อใช้ในระหว่างการพูดคุย โดยการพูดคุยเรื่องการยกร่างเนื้อหาทีโออาร์นี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปในที่ประชุมหนนี้
นอกเหนือไปจากการประชุมเรื่องเทคนิคแล้ว เนื้อหาการหารือระหว่างสองฝ่ายด้านอื่นยังไม่คืบหน้าจากประเด็นเดิมที่ค้างกันอยู่คือเงื่อนไขก่อนการพูดคุย โดยฝ่ายมารา ปาตานีมีข้อเสนอสามข้อ คือประการแรกขอให้ไทยรับรองสถานะของกลุ่มในฐานะเป็นคู่หารือหรือพูดคุย ถัดมาคือขอให้ดำเนินการให้เรื่องการพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และขอให้ทีมพูดคุยฝ่ายมารา ปาตานีได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทีมไทยเองก็มีข้อเสนอสามประการเช่นเดียวกัน คือให้มีการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ให้พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ และประการที่สามเป็นข้อเสนอให้ใช้กระบวนการยุติธรรม ดังนั้นกลุ่มมารา ปาตานีระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังคงไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนสำหรับข้อเสนอจากฝ่ายตน จึงจะรอจนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นก่อนที่จะพร้อมเข้าสู่ขั้นตอนการพูดคุยแบบ “เป็นทางการ” ล่าสุดทางฝ่ายไทยยังคงเรียกกลุ่มมารา ปาตานีว่า “ผู้คัดค้านรัฐบาล” หรือ “ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล” oppositions of the Thai government



แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top