สันติภาพภาคใต้: ทีมเจรจามารา ปาตานีชี้ คุยกับทหารเป็นบททดสอบแนวทางการเมืองกับรัฐไทย เริ่มต้นที่การผลักดันการพูดคุยให้เป็นวาระแห่งชาติ
“เราทำได้ ถ้ารัฐบาลจริงใจ” มะสุกรี ฮารี หัวหน้าทีมเจรจากลุ่มมารา ปาตานีกล่าวหลังจากที่เขาและทีมงานในกลุ่มพบปะเปิดตัวกับสื่อทั้งไทยและมาเลเซียตลอดทั้งวันในวันที่ 27 ส.ค.ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และหนึ่งในคำถามสำคัญสำหรับกลุ่มซึ่งเป็นที่รวมของผู้เห็นต่างห้ากลุ่มคือบีอาร์เอ็น พูโลสองกลุ่ม บีไอพีพีและจีเอ็มไอพี ก็คือคำถามถึงความเป็นตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องเหตุใดจึงเจรจากับรัฐบาลไทย
“รัฐบาลไทยไม่ว่าจะชุดไหนเวลาตัดสินใจก็ต้องผ่านทหารเป็นในขั้นสุดท้าย ไม่มีทางผ่านขั้นตอนนี้ไปได้” อารีฟ มุกตาร์ จากกลุ่มพูโลอธิบาย มะสุกรีเห็นด้วย เขาเชื่อว่าการเจรจาต่อรองจะได้หรือไม่ได้อะไรขึ้นอยู่กับทหาร ดังนั้นในเวลานี้ซึ่งทหารคุมอำนาจจีงเป็นโอกาสที่ดี เพราะหากทหารตกลง การพูดคุยจะหาทางออกให้กับความขัดแย้งได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันวันนี้ก็เป็นเวลาของการทดสอบความจริงใจและจริงจังของทหาร สำหรับพวกเขา การเข้าร่วมการพูดคุยหนนี้จึงเป็น “การทดสอบ” ครั้งสำคัญว่าหนทางของการเจรจาจะเป็นไปได้เพียงใดหรือไม่
พวกเขายกตัวอย่างเรื่องของการยกระดับการพูดคุยให้เป็นวาระแห่งชาติซึ่งเป็นเรื่องที่กลุ่มนำเสนอมาตั้งแต่ในการพบปะกันหนแรกเมื่อเดือนเม.ย. และต่อมาอีกเมื่อเดือนมิ.ย.จนถึงครั้งล่าสุดคือเมื่อ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มนำเสนอทุกครั้งขอให้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ จนบัดนี้พวกเขาก็ยังรอการตอบสนองของรัฐบาลอยู่
“ทหารมีมาตรา 44 หากพวกเขาจะทำพวกเขาก็ทำได้” มะสุกรีว่า ต่อคำถามที่ว่า ทีมพูดคุยฝ่ายไทยระบุแล้วว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพูดคุยเสมือนเป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้วนั้น อาบูฮาฟิส อัลฮากิม ซึ่งทำหน้าที่โฆษกของกลุ่มยืนยันว่า สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นคือ การทำให้เรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะที่ผ่านมาการให้คำมั่นอย่างเดียวอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา “เราทำอย่างนี้ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อความต่อเนื่องของการพูดคุยสันติภาพ” เขากล่าวในการแถลงข่าวโดยชี้ว่าการพูดคุยก่อนหน้านี้มันก็ชะงักเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล
นอกเหนือจากเรื่องการทำให้การพูดคุยสันติภาพซึ่งรัฐบาลเรียกว่าสันติสุขให้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว กลุ่มมารา ปาตานี ยังเสนอให้รัฐบาลทำให้กระบวนการพูดคุยเป็นจริงเป็นจังได้มากขึ้นด้วยให้หลักประกันความปลอดภัยไม่จับกุมสมาชิกในทีมเจรจาของกลุ่มจำนวน 15 คน พร้อมทั้งเสนอให้รับรองสถานะของกลุ่ม เช่นอย่างน้อยในบรรดาเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาควรใส่ชื่อกลุ่มมารา ปาตานี แทนที่จะใช้คำว่า ปาร์ตี้บี ในทุกครั้ง
ตัวแทนกลุ่มมารา ปาตานีย้ำว่าปราศจากการตอบสนองต่อสามข้อนี้ พวกเขายังคงถือว่า การพูดคุยสันติภาพเป็นเพียงการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ แต่ “ถ้ารัฐบาลจริงจัง และอยากยุติเรื่องนี้จริงๆ ถ้าเขาทำจริง เราก็ทำได้” มะสุกรีกล่าว
กลุ่มมารา ปาตานีเปิดตัวด้วยการชี้แจงภาระกิจ แผนงานตลอดจนโครงสร้างของกลุ่มต่อสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ นับเป็นการแถลงข่าวหนแรกท่ามกลางการจับตาของฝ่ายไทย
ในการพบปะสื่อไทย มีคำถามว่าอาวัง ยาบะ มะสุกรี ฮารี และอาหมัด จูโว ได้รับฉันทานุมัติจากกลุ่มบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ เรื่องนี้มะสุกรีตอบว่า บีอาร์เอ็นเป็นองค์กรลับ การดำเนินการทุกอย่างของพวกเขาล้วนเป็นความลับทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ตัวแทนบีอาร์เอ็นทั้งมะสุกรีและอาวังกล่าวว่า บีอาร์เอ็นได้ตอบสนองข้อเรียกร้องบางอย่างจากฝ่ายไทยซึ่งต่อมาพวกเขายอมรับว่า คือการหยุดใช้ความรุนแรงบางช่วงของเดือนถือศีลอด
ยังมีคำถามจากผู้สื่อข่าวเรื่องความเป็นไปได้ของการหยุดยิงหรือยุติการใช้ความรุนแรงในเวลานี้เนื่องจากเริ่มพูดคุยกันแล้ว ตัวแทนกลุ่มมารา ปาตานีอธิบายว่า เรื่องนี้ยังเร็วเกินกว่าจะพูดกันเพราะการหยุดยิงต้องเป็นผลมาจากการทำข้อตกลงจากการเจรจาสันติภาพ เวลานี้สองฝ่ายเพียงแต่เริ่มต้นด้วยการพยายามสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันเท่านั้น แต่กับประเด็นเรื่องของการใช้ความรุนแรงกับเป้าหมายที่อ่อนแอหรือประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง ตัวแทนกลุ่มมารา ปาตานีบอกว่า กลุ่มไม่มีนโยบายที่จะทำร้ายเป้าหมายที่อ่อนแอ ส่วนกับคำถามที่ว่า กลุ่มควรจะแสดงความชัดเจนเช่นมีแถลงการณ์ในแต่ละครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงสำคัญได้ระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเพียงใดกับเหตุรุนแรงนั้นๆ โดยบอกว่าเรื่องนี้จะนำไปหารือกันต่อไป
ในเรื่องของเป้าหมายการพูดคุย ในที่ประชุมแถลงข่าวต่อสื่อมาเลเซียพวกเขาระบุว่าทั้งห้ากลุ่มไม่เคยทอดทิ้งเป้าหมายการต่อสู้ นั่นคือเพื่อเอกราช แต่คำคำนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายไทย เมื่อจะเข้าร่วมการพูดคุยพวกเขากล่าวถึงเป้าหมายว่า ต้องการใช้หนทางการพูดคุยเพื่อให้ได้มาซึ่ง “การกำหนดชะตากรรมของตนเองของคนปาตานี” อาวัง ยาบะ ประธานกลุ่มมารา ปาตานีบอกว่าเรื่องนี้จะสามารถต่อรองได้มากแค่ไหนให้ขึ้นอยู่กับการพูดคุย ซึ่งในท้ายที่สุดยังต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้ช่วยตัดสินในสิ่งที่ได้มาว่าเป็นที่ยอมรับของพวกเขาหรือไม่
ส่วนมะสุกรี ฮารีระบุว่า การพูดคุยกับรัฐบาลหนนี้ กลุ่มมารา ปาตานีต้องการเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มที่เป็นคนในพื้นที่เพื่อจะต่อรองผลประโยชน์ให้พวกเขา ไม่ใช่เพียงคนเชื้อสายมาลายูเท่านั้น แต่รวมถึงคนเชื้อสายจีนหรือไทยที่อยู่ในพื้นที่เป็นคนดั้งเดิมด้วย เนื่องจากคนเหล่านี้เองก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐไทย พร้อมระบุว่า พวกเขามีแผนงานที่จะร่วมมือกับคนในพื้นที่ที่จะสานต่อต่อไปไม่ว่าการพูดคุยจะเป็นอย่างไรก็ตาม
มารา ปาตานีบอกว่า พวกเขาเห็นว่าขั้นตอนของกระบวนการสันติภาพยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน ลำพังการกำหนดกติกาพูดคุยร่วมกันก็จะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าสามหรือสี่เดือน

 
Top