ถึงเวลาที่ยุโรปต้องทบทวนวิธีการไล่ล่าผู้ก่อการร้ายแล้วหรือไม่ ?
คล็อด โมนิค อดีตเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองในฝรั่งเศสชี้ว่า ความพยายามก่อเหตุโจมตีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นบนขบวนรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงอัมสเตอร์ดัมกับกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 ส.ค.) เป็นเหตุเตือนใจว่า การก่อการร้ายที่ผู้ก่อเหตุมักใช้ความรุนแรงและวิธีการที่สุดโต่ง ยังคงเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดต่อยุโรป แต่ก็อาจสะท้อนได้ด้วยว่า อาจมีข้อบกพร่องในมาตรการปราบปรามการก่อการร้าย
ลักษณะอย่างหนึ่งที่ไม่ต่างไปจากการก่อการร้ายหนอื่น ๆ ที่ผ่านมาคือ ผู้ลงมือเป็นบุคคลที่หน่วยข่าวกรอง “คุ้นหน้าตาเป็นอย่างดี” และตามปกติเจ้าหน้าที่ในฝรั่งเศสจะเก็บรวบรวมแฟ้มประวัติบุคคลที่ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติไว้ แต่การที่บุคคลดังกล่าวยังสามารถลงมือก่อการได้อีกนั้น เป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในตอนนี้ที่มีการประเมินกันไว้ว่า ราวครึ่งหนึ่งของคนยุโรปที่ไปร่วมรบในซีเรียหรืออิรักนั้นเป็นบุคคลที่ทางหน่วยงานความมั่นคงไม่รู้จัก หากตำรวจและหน่วยข่าวกรองไม่สามารถหยุดยั้งผู้ก่อการร้ายที่ทางหน่วยงานรู้จักหน้าค่าตาเป็นอย่างดี จะเกิดอะไรขึ้นกับบุคคลที่ทางการไม่รู้จักหน้าค่าตา หากพวกเขาเหล่านั้นตัดสินใจว่า ไม่ไปซีเรีย แต่จะลงมือก่อการในฝรั่งเศส เบลเยียม อังกฤษ หรือเยอรมนี
โมนิคชี้ว่าคนทั่วไปอาจเข้าใจผิด คิดว่าคนที่ทางการคุ้นหน้าตาเป็นอย่างดีนั้น จะต้องถูกสะกดรอยและเฝ้าติดตามตัวตลอด ซึ่งในความจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น เขาบอกว่ามีคนยุโรปราว 6,000 คน เดินทางไปร่วมรบในซีเรีย บางคนยังอยู่ที่นั่น บางคนอาจเสียชีวิตแล้วหรือบางคนก็เดินทางกลับมายังประเทศแล้ว โดยที่จำนวน 6,000 นี้จัดว่าเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่นิยมความสุดโต่งหรือผู้เห็นอกเห็นใจอีกจำนวนมากที่ยังไม่ลงมือ แต่อาจรอจังหวะที่เหมาะ ในยุโรปคาดว่าอาจมีบุคคล “อันตราย” แบบนี้อยู่ระหว่าง 10,000 - 20,000 คน
โมนิคบอกว่าการสะกดรอยและเฝ้าติดตามผู้ต้องสงสัยที่อยู่นิ่ง ๆ สักหนึ่งรายแบบถาวรนั้น จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ระหว่าง 20-30 คน และรถอีกหลายคัน แต่ถ้าผู้ต้องสงสัยเคลื่อนไหว มีการเดินทางไปต่างประเทศ อาจจะต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่เป็นถึง 50 หรือ 80 คน รวมทั้งขอความร่วมมือระหว่างประเทศ ดังนั้นหากจะต้องติดตามผู้ต้องสงสัยทั้งหมดในยุโรป จะต้องใช้เจ้าหน้าที่ระหว่าง 120,000 ถึง 500,000 ราย สรุปคือเป็นปฏิบัติการที่เป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้น วิธีการปราบปรามการก่อการร้ายจะต้องปรับตัว ทางหนึ่งที่ทำได้คือออกกฎหมายใหม่ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ฝรั่งเศสผ่านร่างกฎหมายด้านข่าวกรองที่ไฟเขียวให้หน่วยข่าวกรองสอดแนมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และดิจิตอลของผู้ต้องสงสัยได้อย่างเต็มที่ นี่อาจเป็นวิธีการที่ดี แต่เป็นเรื่องที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมาวิจารณ์เสียงขรม กฎหมายใหม่นี้เปิดทางให้เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามการติดต่อสื่อสารของผู้ที่เตรียมจะลงมือและตรวจจับพิรุธหรือแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันเหตุร้ายได้
แต่โมนิคชี้ว่า มาตรการนี้อาจจะยังไม่พอ เพราะสังคมกำลังทำสงครามกับศัตรู ที่พร้อมจะลงมือโจมตีได้ทุกเมื่อ ในประเทศไหนก็ได้ ทั้งยังไม่หวั่นที่จะฆ่าสังหารผู้บริสุทธิ์ และตามจริงแล้วพวกเขายิ่งต้องการฆ่าผู้บริสุทธิ์ เพราะพวกเขาคิดว่าการเห็นภาพความโหดร้ายรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะทำให้คนในสังคมรู้สึกระอากับสถานการณ์ในตะวันออกกลางและล้มเลิกความพยายามที่จะคลี่คลายปัญหาในภูมิภาคดังกล่าว โมนิคเชื่อว่าพวกเขาต้องการให้ชาติอื่นถอนตัวออกไป เพราะว่าพวกเขาจะได้สู้รบและโค่นอำนาจบรรดาผู้ปกครองประเทศในตะวันออกลางตามลำพัง จากนั้นก็ยึดอำนาจการปกครองเสียเอง
โมนิคเห็นว่าทางออกอีกทางคือ จะต้องใช้กฎหมายอย่างเต็มที่และเพิ่มบทลงโทษในความผิดที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย นอกจากนั้นยังจะต้องเพิ่มมาตรการในการเฝ้าสอดแนมในทุกรูปแบบด้วย ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการติดตั้งเครื่องตรวจจับตามสถานีรถไฟนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะไม่สะดวกทั้งสำหรับผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ อีกทั้งผู้ก่อการร้ายอาจเลือกไปก่อเหตุบนรถโดยสาร รถใต้ดิน ตามร้านค้า ภัตตาคาร โบสถ์ หรือตามงานกีฬาสำคัญ ๆ แทน
เขาสรุปว่าทางเดียวที่จะปกป้องดูแลสังคมต่อภัยจากการก่อการร้ายได้ คือการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการทำงานด้านข่าวกรองและการใช้กฎหมาย




 
Top