ทำไมต้องมีวันแมวโลก ?
ว่ากันว่า คนรักแมวนั้นไม่ต่างอะไรกับทาสแมว เพราะต้องคอยดูแลเจ้าสัตว์เลี้ยงที่แสนเอาแต่ใจตนเองไปทุกขณะ แต่การที่ต้องยกย่องความสำคัญของเจ้าเหมียว จนถึงขั้นต้องมีวันแมวโลก ซึ่งก็คือวันนี้ (8 ส.ค.) ขึ้นโดยเฉพาะนั้น มีความจำเป็นแค่ไหน ?
แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความใกล้ชิดกับมนุษยชาติมายาวนานกว่า 9,500 ปี โดยเชื่อว่าแมวเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยกับมนุษย์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ในแถบพื้นที่ตะวันออกกลางและต่อมาได้แพร่ขยายพันธุ์ไปยังไซปรัสและอียิปต์ โดยหนูในบ้านเรือนของมนุษย์เป็นตัวล่อให้แมวเข้ามายังชุมชน และประโยชน์จากการที่แมวช่วยจับหนู ทำให้ผู้คนเริ่มเลี้ยงแมวไว้ในที่สุด
แมวยังมีอิทธิพลต่อศาสนาและความเชื่อในยุคโบราณ โดยในอียิปต์นั้นแมวคือเทพีบาสเท็ทที่ผู้คนให้การเคารพบูชา ศาสนาโบราณหลายศาสนาเชื่อว่า แมวคือจิตวิญญาณระดับสูงและรอบรู้ที่สามารถชี้ทางให้มนุษย์ หลายแห่งในโลกเชื่อว่าแมวคือสัญลักษณ์ของความโชคดี เช่น มาเนะกิ เนะโกะ หรือแมวกวักของญี่ปุ่น รวมทั้งแมวไทยบางสายพันธุ์ที่เชื่อว่าเลี้ยงแล้วเป็นมงคล ให้โชคและอำนาจวาสนาแก่เจ้าของ อย่างไรก็ตาม หลายแห่งในโลกตะวันตกกลับเชื่อว่า แมวดำคือสัญลักษณ์ของความโชคร้าย
นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา มีการกำหนดให้วันที่ 8 เดือน 8 เป็นวันแมวสากล (International Cat Day) โดยกองทุนสวัสดิภาพสัตว์ระหว่างประเทศ (IFAW) ซึ่งมีฐานอยู่ในประเทศแคนาดาเป็นผู้ริเริ่ม และหลังจากนั้นองค์กรสิทธิสัตว์หลายกลุ่มก็ได้กำหนด “วันแมวแห่งชาติ” ในประเทศของตนขึ้นบ้าง แต่ในวันที่ต่างกันออกไป เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนเห็นความสำคัญของแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมคู่บ้าน ของมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือแมวจรจัด ป่วยหรือบาดเจ็บ ด้วยการช่วยกันรับไปอุปการะเลี้ยงดู





 
Top