0

นักวิชาการTDRI ค้านนำ"จำนำยุ้งฉาง"กลับมาใช้ หลายมาตรการช่วยชาวนายิ่งสร้างปัญหามากกว่าอดีต แถมเพิ่มต้นทุนให้ชาวนา
*******************************
"ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง" ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก"Viroj NaRanong" เกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลจะนำมาตรการจำนำยุ้งฉางกลับมาใช้ มีใจความว่า
.
ที่รัฐบาลก็นำมาตรการจำนำยุ้งฉางกลับมาใช้ แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดว่ามาพร้อมกับความพยายามจูงใจให้ชาวนากู้เงินเพิ่มแบบปีก่อนหรือไม่ ซึ่งผมเดาว่าไม่ เพราะคงมีชาวนาจำนวนหนึ่งเป็นหนี้จากโครงการนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว หนนี้รัฐบาลถึงมีออกมาตรการลดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ ธกส.ตั้งแต่ เม.ย.57 ซึ่งเป็นช่วงที่โครงการปีที่แล้วสิ้นสุดพอดี ส่วนโครงการปีที่แล้วได้ผลประการใดบ้าง ผมไม่เคยเห็นมีข่าวใดๆออกมาเลย และไม่ค่อยเห็นใครตามไปตรวจสอบบัญชีโครงการของรัฐบาลนี้ด้วย
.
จริงๆ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้พยายามทำอะไรหลายอย่างที่ต่างจากรัฐบาลที่แล้ว (เช่น ต้องการช่วยชาวนาอีสาน/เหนือที่เป็นเจ้าของที่ดิน มากกว่าชาวนาที่เช่าที่ทำกินในภาคกลาง ต้องการเปลี่ยนวิธีรับจำนำข้าวกลับไปเป็นวิธีที่ใช้ก่อนสมัย ทรท. จะให้สินเชื่อชาวนาไปเกี่ยวข้าวโดยพยายามสนับสนุนการเกี่ยวด้วยคนแทนเครื่องจักร
.
แต่หลายมาตรการคงจะมีปัญหามากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการจ้างชาวนามาขุดลอกคูคลองชลประทาน (ในยุคที่แม้กระทั่งการดำนาด้วยคนยังแทบหาไม่ได้ในแถวนั้นแล้ว) การรับจำนำเฉพาะยุ้งฉาง (ซึ่งหายไปจากภาคกลางแล้ว และหายากขึ้นแม้กระทั่งในอีสาน/เหนือ ซึ่งแม้กระทั่งในอดีตก็มักมียุ้งฉางไว้เพื่อเก็บข้าวไว้กินเอง ไม่ใช่เพื่อรอการขาย)
.
และพยายามให้ชาวนาเก็บข้าวเอาไว้ขาย โดยหวังว่าจะได้ราคาที่ดีขึ้น (ในขณะที่ข้าวภาคกลาง--ซึ่งมีข้าวหอมพันธ์ใหม่ที่เป็นคู่แข่งหอมมะลิได้ในระดับหนึ่ง--ออกสู่ตลาดมากๆ ทุกสี่เดือนหรือสั้นกว่านั้น) และการให้สินเชื่อชาวนาไปเกี่ยวข้าวโดยพยายามสนับสนุนการเกี่ยวด้วยคน (ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าเครื่องเกี่ยวนวด ก็เลยให้กู้ไร่ละสองพัน ในขณะที่ชาวนาจ้างเครื่องไร่ละไม่กี่ร้อยบาท)
.
มาตรการเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มต้นทุนมากกว่าลดต้นทุน (ขนข้าวกลับไปเก็บในยุ้งที่ต้องซ่อม/สร้างให้ใหญ่พอเพื่อเก็บข้าวไว้รอราคา หรือการสนับสนุนให้ใช้แรงงานคนในช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นช่วงที่แรงงานขาดแคลนมากที่สุด กระทั่งคิวรถเกี่ยวนวดยังเต็มเลย)

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top