0


ควรปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อตกอยู่ในเหตุก่อการร้าย?

เหตุก่อการร้ายที่มีระดับความรุนแรงเท่ากับเหตุการณ์ในกรุงปารีสถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก และทางการต่างเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น แต่สำหรับประชาชนทั่วไปนั้นควรปฏิบัติตนอย่างไรในเหตุก่อการร้ายเช่นนี้ คามิลา รูซ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ได้รวบรวมข้อแนะนำจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญถึงเรื่องการเอาตัวรอดในเหตุการณ์คับขัน

ประการแรกคือ การเตรียมพร้อม จอห์น ลีช นักจิตวิทยาและครูสอนเรื่องการเอาชีวิตรอดแบบทหาร บอกว่า ผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่ในเหตุวินาศกรรมปารีส บอกว่าพวกเขาคิดว่าเสียงกระสุนปืนนัดแรก ๆ เป็นเสียงจุดพลุดอกไม้ไฟ ลีช บอกว่าปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักคิดกัน เพราะคนเราคาดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุกราดยิงขึ้น ซึ่งการตอบสนองต่อการนึกคิดของเราและไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทันทีนั้นทำให้เราตกอยู่ในอันตราย

นอกจากนี้ การคอยมองหาทางออกฉุกเฉินตามร้านอาหารและโรงภาพยนตร์ก็อาจช่วยชีวิตเราได้ โดยในเหตุโจมตีหอแสดงดนตรีบาตาคล็องนั้น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยช่วยนำทางผู้ชมกลุ่มหนึ่งหลบหนีออกทางประตูหนีไฟที่ด้านซ้ายของเวทีได้อย่างปลอดภัย

การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็เป็นข้อแนะนำอีกประการที่อาจช่วยชีวิตเราได้ โดย ลีช บอกว่า จากการศึกษาสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อชีวิตทั่วโลกพบว่า มีคนเพียง 15% เท่านั้นที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์ในลักษณะที่จะช่วยให้พวกเขามีชีวิตรอด ขณะที่คนอีก 75% กลับรู้สึกสับสนจนทำอะไรไม่ถูก และอีก 10% จะตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ทำให้พวกเขามีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง หรือเป็นอุปสรรคต่อการเอาชีวิตรอดของผู้อื่น

สิ่งสำคัญอีกประการคือ การตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างเด็ดเดี่ยว เพราะจากการศึกษาของนักจิตวิทยาพบว่า มนุษย์มักรอให้คนอื่นมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ก่อนแล้วจึงจะมีปฏิกิริยาตาม

เอียน รีด อดีตครูฝึกทหารกองทัพอังกฤษและผู้บริหารบริษัทด้านความปลอดภัย แนะนำว่า การหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองเป็นเป้าหมายที่เด่นชัดก็เป็นอีกวิธีที่อาจช่วยให้เราเอาชีวิตรอดได้ โดยสามารถทำได้ด้วยการหมอบลงกับพื้น แต่จะดีมากหากหาที่กำบังตัวได้ ซึ่งกำแพงคอนกรีตถือเป็นตัวเลือกดีที่สุด ส่วนการใช้รถยนต์เป็นที่หลบกระสุนเหมือนในหนังฮอลลีวู้ดนั้นไม่ได้ปลอดภัยเสมอไปแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีที่กำบังเสียเลย นอกจากนี้ รีด ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงจุดที่มีคนอยู่แออัดด้วย

ผู้รอดชีวิตจำนวนมากจากเหตุโจมตีกรุงปารีส ได้ทำตามสัญชาตญาณของตนเองด้วยการใช้โต๊ะเป็นที่กำบัง หรือหลบอยู่หลังลำโพงในหอแสดงดนตรีบาตาคล็อง ส่วนผู้ที่หาที่กำบังไม่ได้ก็เอาตัวรอดด้วยการแกล้งตาย และบางคนฉวยโอกาสช่วงที่มือปืนกำลังเติมกระสุนวิ่งหนีออกทางประตูฉุกเฉิน ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยงอยู่แต่บางกรณีการหนีออกจากจุดเกิดเหตุก็เป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ปารีสมีผู้เลือกที่จะหลบซ่อนอยู่ตามห้องน้ำและสำนักงานจนกว่าจะมีคนเข้าไปช่วยด้วย

ลาสซานา บาธิลี วัย 24 ปีถูกยกให้เป็นวีรบุรุษหลังจากช่วยพากลุ่มลูกค้าชาวยิวเข้าไปแอบมือปืนในห้องเย็นที่ชั้นใต้ดินของซูเปอร์มาร์เก็ตที่เขาทำงานอยู่ แล้วปิดไฟและเครื่องทำความเย็น จากนั้นก็เสี่ยงชีวิตออกมาขอความช่วยเหลือจากตำรวจ ทำให้ผู้ที่เขาช่วยเอาไว้รอดชีวิตทุกคน ในเหตุการณ์จับตัวประกันที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงปารีสเมื่อต้นปี

ส่วนการต่อสู้กับคนร้าย อาจใช้ได้ผลในบางสถานการณ์ เช่น เหตุการณ์เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาซึ่งคนร้ายเตรียมก่อเหตุบนรถไฟฝรั่งเศสแต่ถูกผู้โดยสารเข้าขัดขวางได้ทันท่วงที ซึ่งกรณีนี้ผู้เข้าขัดขวางเป็นทหารอเมริกันและตัดสินใจเข้าระงับเหตุช่วงที่ปืนของคนร้ายเกิดกระสุนขัดลำกล้อง รีด บอกว่า วิธีนี้เสี่ยงเกินไปสำหรับผู้ที่ไม่เคยผ่านการฝึกฝนเรื่องการต่อสู้มาก่อน และควรระลึกไว้เสมอว่า คนร้ายมักก่อเหตุเป็นทีม บางคนอาจสวมเสื้อเกราะกันกระสุน และบางคนอาจมีวัตถุระเบิด

อย่างไรก็ตาม เจมส์ อัลวาเรซ นักจิตวิทยาและนักเจรจาช่วยเหลือตัวประกัน แย้งว่า บางครั้งเราอาจต้องเตรียมตัวสู้กับคนร้ายเมื่อถึงคราวจำเป็น เพราะกลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ไม่ต้องการจับคนไว้เป็นตัวประกันเพื่อการเจรจาต่อรอง แต่มีจุดประสงค์ในการสังหารผู้คนเท่านั้น

หลังจากหลบหนีออกมาจากที่เกิดเหตุได้แล้ว รีด แนะนำว่า จะต้องคอยระวังตัวอยู่เสมอและหนีออกมาให้ไกลที่สุด ควรเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง จากนั้นให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้ที่สุด นอกจากนี้การเข้าไปรวมกับคนหมู่มากและการใช้บริการขนส่งสาธารณะก็อาจเกิดอันตรายได้ เราควรคิดไว้เสมอว่าอาจมีการโจมตีระลอกที่ 2 ตามมา สิ่งสำคัญที่สุดคือฟังคำแนะนำของตำรวจและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องซึ่งอาจมีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นมากกว่าเรา

ข้อแนะนำประการสุดท้ายคือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คริส คอกกิ้ง นักจิตวิทยาสังคม บอกว่า การร่วมมือกันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต เพราะจากการศึกษาพบว่า การร่วมมือกันเป็นวิธีที่ช่วยอพยพคนออกจากที่เกิดเหตุได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด #ParisAttacks


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top