0

นักวิชาการเตรียมยื่นจดหมายเรียกร้องคสช.ยุติการคุกคาม
นักวิชาการมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งไทยและต่างประเทศร่วมกันลงชื่อคาดว่าจะมีเกิน 250 คน นัดยื่นจดหมายพรุ่งนี้ 23 พ.ย.ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุติการคุกคามนักวิชาการ ทั้งนี้หลังจากที่มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหานักวิชาการ 6 คนที่ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. มีโทษทั้งจำและปรับ คือจำคุกหนึ่งปีและปรับ 20,000 บาท
เนื้อหาในจดหมายคาดว่าจะสะท้อนแถลงการณ์ฉบับที่ 6 ของกลุ่มเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง เรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน ลงวันที่ 23 พ.ย. ซึ่งกล่าวถึงมหาวิทยาลัยว่าเป็นสถานที่แสวงหาความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนถกเถียงกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลข้อเท็จจริง เพื่อรับรู้โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเสรีภาพในการแสวงหาความรู้และในการแสดงความคิดเห็นเป็นปัจจัยพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและของสังคม มหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่ค่ายทหาร แถลงการณ์ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน ประชาชนมีความคิดที่หลากหลาย การจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุขคือต้องมีเสรีภาพในความเชื่อและการแสดงความเห็นด้วยหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง การใช้วิธีการปิดหูปิดตาจะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากขึ้น พร้อมกันนั้นจะเรียกร้องให้คสช.ยุติการข่มขู่คุกคามนักวิชาการที่แสดงความเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ หยุดห้ามหรือคุกคามนักศึกษารวมทั้งประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง และให้หยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาการที่คสช.ต้องการ
อนุสรณ์ อุณโณ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการที่เตรียมยื่นจดหมายกล่าวว่า ในขณะนี้ดูเหมือนว่ามีความพยายามในอันที่จะเข้าควบคุมการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาและนักวิชาการซึ่งแทบจะเป็นกลุ่มเดียวที่เหลืออยู่ที่ยังคุมไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่ผ่านมาบางครั้งมีการผ่อนปรน บางครั้งใช้ท่าทีแข็งกร้าว ยื้อกันไปมา แต่กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับนักวิชาการ 6 คนที่อ่านแถลงการณ์เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกแต่กลับถูกตั้งข้อหา นับเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ล้ำเส้นมากเกินไป
อ.อนุสรณ์กล่าวว่า จุดที่น่าเป็นห่วงที่สุดในเวลานี้คือ มีนักวิชาการที่อยู่ในสถาบันห่างไกลในต่างจังหวัด “อาจารย์ที่ตัวเล็กๆ ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ก่อนๆหน้านี้ เช่นที่ลงชื่อคนเดียว จากในมหาวิทลาลัยที่ห่างไกล มักจะถูกโทรศัพท์ติดตามหรือไปเยี่ยมไม่จบสิ้น เท่าที่เกิดขึ้นมีแล้ว 5-6 ราย”
ส่วนในเรื่องของการแทกแซงการเรียนการสอนนั้น อ.อนุสรณ์กล่าวว่าในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยชื่อดังในเขตกรุงเทพฯที่บรรจุหลักสูตรวิชาพื้นฐานในเรื่องของทหารกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตก เนื่องจากทหารเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของรัฐและสังคม ไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องเรียนรู้ในวงกว้างต้องไปเรียนรู้ในเรื่องของทหารอย่างจำเพาะเจาะจง หากจะมีวิชาที่เกี่ยวข้องก็อาจจะเป็นบางสาขา เช่นในเรื่องของรัฐศาสตร์ แต่ไม่ควรจะอยู่ในวิชาพื้นฐานของนักศึกษาทั้งหมด
แต่เมื่อถามว่า ดูเหมือนนักวิชาการอีกจำนวนไม่น้อยไม่ได้เดือดร้อนไปกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ อ.อนุสรณ์กล่าวว่า เรื่องนี้อธิบายได้ว่า เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ทำใจไว้แล้วว่า สิ่งที่ได้เลือกมาและสนับสนุนนั้นแม้ว่าจะมีปัญหาแต่ก็ยังดีกว่าการได้สิ่งอื่นที่เห็นว่าเลวร้ายกว่า กล่าวคือนอกจากเรื่องของจุดยืนทางการเมืองแล้ว ยังต้องการอาศัยคสช.กำจัดนักการเมืองที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ชอบด้วย “เขาไม่รู้ว่ามีทางออกอย่างอื่นที่สามารถจะสร้างสังคมได้ ทางเลือกของเขามีจำกัด” ขณะนี้แม้หลายคนจะเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่ดี แต่หากทนอีกไม่นานสภาพเช่นนี้จะดีขึ้น สภาพที่เกิดขึ้นกับกลุ่มนักวิชาการก็คืออาการเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มในสังคมไทย ดังนั้นเชื่อว่าปฏิกิริยาต่อการยื่นจดหมายของกลุ่มนักวิชาการก็คงจะเป็นการไม่ยอมรับหรือไม่ก็สรุปว่าเป็นฝ่ายเสื้อแดง แต่นักวิชาการถือว่าเรื่องนี้เป็นภาระกิจที่ควรทำต่อสังคม และจะต้องส่งเสียงให้หนักแน่นมากขึ้นจึงต้องออกมาเรียกร้องดังกล่าว


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top