0

รักร้างหลังวัย 60
สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเผยสถิติการหย่าร้างโดยรวมในอังกฤษและเวลส์ลดลง แต่อัตราหย่าร้างของคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 อะไรเป็นเหตุผลอยู่เบื้องหลังรักร้างของคนสูงวัย
เมื่อปี 2554 ผู้ชายในวัยเกิน 60 ปี ที่หย่าร้างกับภรรยามีจำนวนเกือบ 9,500 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 75% จากเมื่อ 20 ปีก่อน โดยผู้หญิงเองก็มีแนวโน้มไม่ต่างกัน
มีงานวิจัยพบว่าเหตุผลที่ทำให้คนสูงวัยหย่าร้างกันมากขึ้นก็คืออายุคาดเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น น.ส. คาริน วอล์คเกอร์ จากสำนักกฎหมาย KGW Family Law ที่เมือง Woking บอกว่า คนเรามีความคาดหวังในชีวิตช่วงหลังเกษียณอายุมากขึ้น และเริ่มหันมามองว่าต้องการทำอะไรในชีวิตช่วงสุดท้ายนี้ ลูกความบางคนบอกว่าอยากลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น ขี่จักรยานหรือเดินทางท่องเที่ยว แต่คู่ชีวิตกลับไม่สนใจทำในสิ่งเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นความขัดแย้งจนถึงขั้นแยกทางกันได้
นอกจากนี้ช่องว่างระหว่างวัยก็เป็นอีกเหตุผล บางคู่มีอายุห่างกันถึง 10 ปี ซึ่งไม่เป็นปัญหาอะไรในวัยหนุ่มสาว แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 70-80 ปีก็เริ่มกลายเป็นประเด็น โดยเฉพาะฝ่ายที่อายุน้อยกว่าอาจคิดว่าต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ดูแลอีกฝ่ายไปตลอด สาเหตุอีกประการคือเรื่องของฐานะซึ่งผู้สูงอายุมักมีฐานะที่อยู่ตัว มีอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ทำให้การหย่าร้างกันเป็นไปได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว อีกทั้งผู้หญิงยุคปัจจุบันมีความเป็นอิสระด้านการเงินมากขึ้นและสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ดีขึ้น
ทนายความ วอล์คเกอร์บอกด้วยว่าการหย่าร้างในช่วงอายุ 60-70 ปี อาจก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนภายในครอบครัวมากกว่าการหย่าร้างกันตอนอายุยังน้อย เพราะลูก ๆ ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่จะรู้สึกแย่กว่าวัยเด็ก
ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้คุยกับ ปีเตอร์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ตัดสินใจเลิกกับภรรยาเมื่อตอนอายุ 64 ปี เขาบอกว่าเขารู้ตัวว่าตัดสินใจผิดพลาดตั้งแต่ตอนขออดีตภรรยาแต่งงานเมื่อปี 2510 แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะได้ประกาศการหมั้นในหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปแล้ว เขาโทษตัวเองที่ไม่เด็ดเดี่ยวเสียตั้งแต่ตอนนั้น
ปีเตอร์ตัดสินใจหย่าขาดจากภรรยาในเวลา 36 ปีต่อมา เพราะเขาพบรักใหม่กับ แอนน์ นักเปียโนที่เล่นเพลงคู่กับเขาที่โบสถ์ แอนน์เองก็หย่ากับสามีเก่าตอนอายุได้ 50 กว่า ๆ ปีเตอร์ บอกว่าเขาเองก็รู้สึกผิดที่ทำให้ภรรยาคนก่อนต้องเจ็บปวด เขาแต่งงานอยู่กินกับแอนน์ในปี 2554 ตอนที่เขาอายุ 72 ปี เขาบอกว่าตอนนี้มีความสุขดีแต่ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวแปลก ๆ ไปบ้าง หากมีคนที่คิดเลิกกับภรรยาแล้วมาขอคำแนะนำจากเขา ปีเตอร์จะบอกว่าให้ลองไตร่ตรองให้ดี และไม่แนะนำให้ทำตามอย่างเขา
ด้านเดม เอสเธอร์ รันท์เซ็น ผู้ก่อตั้ง ซิลเวอร์ไลน์ ซึ่งเป็นบริการสายด่วนสำหรับผู้สูงอายุบอกว่า สิ่งที่เธอเป็นห่วงคือความโดดเดี่ยว และคาดว่ามันเป็นสาเหตุที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้สูงอายุมากกว่าที่เห็น เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้ตัดสินใจหย่าร้างอาจมีผลเสียตามมามากกว่าผลดี อาจทำให้ขาดการติดต่อกับลูกหลาน บางทีลูกต้องเลือกข้างระหว่างพ่อแม่ 2 ฝ่าย นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกละอายที่ไม่สามารถรักษาคำสาบานที่ให้ไว้ตอนแต่งงานที่ว่าจะอยู่ด้วยกันจนกว่าความตายจะมาพรากไป ความรู้สึกผิดเหล่านี้ทำให้อายและไม่กล้าขอความช่วยเหลือ

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top