ทหารภาคใต้พบเอ็นจีโอถกปัญหาการเก็บดีเอ็นเอ ชี้ชาวบ้านร้องถูกกดดันต้องให้เก็บตัวอย่างแม้ไม่เป็นผู้ต้องสงสัย
แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ปราการ ชลยุทธกับเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจได้ประชุมร่วมกับตัวแทนจากกลุ่มนักรณรงค์เรื่องสิทธิและนักกิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ที่ค่ายสิรินธร จังหวัดยะลาเมื่อ 11 ก.ค. ไม่ต่ำกว่า 5 กลุ่มรวมทั้งญาติของเหยื่อความรุนแรงกรณีทุ่งยางแดง จุดใหญ่หารือกันเรื่องปัญหาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เรื่องการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอซึ่งฝ่ายนักรณรงค์ยืนยันว่ามีผู้ร้องเรียนจำนวนไม่น้อยว่าถูกกดดันให้ต้องให้ตัวอย่างแก่เจ้าหน้าที่ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้เป็นผู้ต้องสงสัยแต่อย่างใด การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอบางครั้งขยายรวมไปถึงสมาชิกของครอบครัวที่เจ้าหน้าที่ขอเข้าตรวจค้นบ้าน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมฝ่ายเจ้าหน้าที่ยืนยันว่ามีหลักปฏิบัติชัดเจนรวมทั้งดำเนินการอย่างเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ การตรวจเก็บทุกรายเป็นไปด้วยความยินยอมของเจ้าตัว ซึ่งทางฝ่ายกลุ่มนักกิจกรรมแย้งว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่เป็นภาวะจำยอมหรือไม่รู้ตัวว่ามีสิทธิปฏิเสธได้ ด้านเจ้าหน้าที่ชี้ว่า การจัดเก็บดีเอ็นเอไม่เพียงแต่เป็นการพึ่งวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถขจัดความไม่เชื่อมั่นต่อการทำงานเท่านั้น แต่ยังมีข้อดีด้วยคือ เป็นการกันผู้บริสุทธิ์ออกไป
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานว่า ปัจจุบันการเก็บตัวอย่างตรวจดีเอ็นเอในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มีสองหน่วยงานที่ทำ หน่วยงานหนึ่งเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจคือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ที่ยะลา อีกหน่วยงานหนึ่งคือสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร กองทัพภาคที่ 4 แต่ตามกระบวนการยุติธรรม การตรวจเก็บดีเอ็นเอเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนซึ่งคือตำรวจ หรือไม่ก็โดยคำสั่งศาล แต่เจ้าหน้าที่ที่ใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอ้างว่าที่สามารถตรวจเก็บได้เพราะได้รับการยินยอม มูลนิธิฯยังระบุอีกว่า ปัจจุบันนอกจากการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอแล้ว ยังมีการเก็บตัวอย่างลายนิ้วมือทั้งสิบนิ้วเหมือนผู้ต้องหาในคดีอาญา พร้อมกับระบุว่า ไทยยังมีพันธะค้างคาที่จะต้องชี้แจงเรื่องการคุ้มครองสิทธิตามที่คณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติของสหประชาชาติได้ขอมา นอกจากนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้มีคำแนะนำในเรื่องของการจัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอมาแล้วว่าการกระทำดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกเป็นเรื่องผิดหลักสิทธิมนุษยชนขอให้ทบทวน
ในที่ประชุมกลุ่มนักรณรงค์เรื่องสิทธิในพื้นที่ยังหยิบยกปัญหาอีกหลายเรื่องเช่นตัวแทนจากกลุ่มด้วยใจที่ทำงานกับเยาวชน ได้สอบถามกรณีที่มีการตรวจค้นเก็บดีเอ็นเอและลายนิ้วมือนักเรียนในโรงเรียนธรรมวิทยาและนำตัวเยาวชนบางส่วนไปสอบปากคำในค่ายทหาร แต่ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า ที่นำตัวเยาวชนออกไปนั้นเพื่อแยกให้ออกห่างจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำความผิดมากกว่าและทำไปด้วยความเป็นห่วง
นอกจากนั้นยังมีผู้สอบถามกรณีที่มีการข่มขู่คุกคามกลุ่มนักศึกษากิจกรรมในพื้นที่ และตัวแทนจากกลุ่มนักกิจกรรมยังสอบถามเรื่องที่บางกรณีเจ้าหน้าที่ให้เยาวชนเดินนำหน้าในการตรวจค้นราวกับเป็นเกราะกำบัง เกรงว่าพวกเขาเหล่านั้นจะได้รับอันตรายหากมีการใช้กำลัง อย่างไรก็ตามหลายเรื่องไม่มีคำตอบโดยตรงนอกจากในเรื่องของหลักการ และนายสมชาย หอมละออ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ไม่ให้มีการดำเนินการในกรณีต่างๆเช่นที่ผ่านมาอีก
ผู้แทนกลุ่มนักกิจกรรมที่เข้าพบรายหนึ่งให้ความเห็นว่า แม้ในการเข้าพบจะไม่สามารถขอข้อมูลหรือทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่องใดๆได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการดีที่เจ้าหน้าที่ได้รับทราบว่า ในการทำงานนั้นมีผู้จับตามองซึ่งคาดว่าจะทำให้ทำงานอย่างระมัดระวังมากขึ้น


 
Top