ญี่ปุ่นเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกภายใต้กฎความปลอดภัยชุดใหม่ที่เข้มงวด
ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้ปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หมดทุกแห่งหลังจากที่มีปัญหากับโรงงานที่ฟูกูชิมาซึ่งเตาปฏิกรณ์ในโรงงานหลอมละลายเมื่อปี 2554 อันเป็นผลกระทบมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ
บริษัทเคียวชู อิเลคทริก พาวเวอร์ได้เริ่มเปิดเตาปฏิกรณ์ที่ 1 ที่โรงงานเซนไดขึ้นมาใหม่อีกครั้งเช้าวันอังคารที่ 11 ส.ค. หลังจากที่ได้ทดสอบความปลอดภัยกันอย่างหนัก คาดว่าโรงงานจะเริ่มผลิตและจ่ายไฟได้ในวันศุกร์นี้ และจะเดินเครื่องเต็มกำลังในเดือนหน้า ก่อนหน้านี้บริษัทได้รับอนุญาตจากองค์กรควบคุมโรงงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้วให้เปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์สองเตาที่เซนไดขึ้นมาอีกภายใต้กฎใหม่ที่เข้มงวด สำหรับเตาที่สองบริษัทจะเปิดในเดือนต.ค.นี้
รายงานข่าวระบุว่า บริษัทที่บริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างๆ ได้ยื่นขออนุญาตเปิดทำการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้งจำนวน 25 แห่งทั้งๆที่มีเสียงต่อต้านอย่างมากจากสาธารณะ ซึ่งมองเห็นผลกระทบตั้งแต่เหตุการณ์ที่โรงงานฟูกูชิมา ในครั้งนั้นผลกระทบจากแผ่นดินไหวบวกสึนามิทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์ปิดตัวเอง แต่การปิดระบบกะทันหันทำให้มีปัญหาในการลดความร้อนของเตาปฏิกรณ์ที่สะสม เมื่อบวกกับความยากลำบากของการเดินทางในภาวะที่พื้นที่รอบข้างได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวทำให้การคลี่คลายปัญหาเต็มไปด้วยความล่าช้า จนในที่สุดเกิดระเบิดขึ้นมาในโรงงานและต้องอพยพคนจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีอาเบะของญี่ปุ่นบอกว่า ญี่ปุ่นจะเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ใหม่อีกครั้งก็ต่อเมื่อได้ผ่านการทดสอบที่เรียกว่าหนักที่สุดของโลกเสียก่อน รัฐบาลญี่ปุ่นบอกว่าญี่ปุ่นต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากที่ต้องนำเข้าพลังงาน อีกประการหนึ่งคือต้องการลดมลพิษ ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่กรุงโตเกียว คือโรเพิร์ต วิงฟิลด์-เฮยส์บอกว่าญี่ปุ่นทุ่มเงินไปนับร้อยล้านดอลลาร์เพื่อติดตั้งระบบความปลอดภัยใหม่ที่โรงงานเซนได แต่มีผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเปิดใช้เตาปฏิกรณ์ขึ้นมาใหม่หลังจากไม่ได้ใช้มานานหลายปีอาจจะทำให้มีปัญหาในเรื่องเครื่องจักร และเรื่องแบบนี้ไม่เคยทำกันมาก่อน
แต่การเปิดเตาปฏิกรณ์ปรมาณูขึ้นมาใหม่ถูกต่อต้านจากสาธารณะ มีประชาชนจำนวนหนึ่งไปประท้วงที่หน้าโรงงานเซนไดทั้งเมื่อวันจันทร์และวันอังคารคือวันนี้ ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า เป็นห่วงผลกระทบที่จะมีต่อโรงงานที่มาจากภูเขาไฟในย่านใกล้เคียงซึ่งยังไม่มอด นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่บริหารประเทศในช่วงที่เกิดวิกฤติที่ฟูกูชิมาเป็นผู้นำการประท้วงเอง เขาบอกกับผู้ชุมนุมว่า ญี่ปุ่นไม่ต้องการโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะ เหตุการณ์ที่ฟูกุชิมาทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้ถูกและปลอดภัยอย่างที่เคยเชื่อกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วแพงและอันตรายมากกว่า
ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ที่ฟูกูชิมา ญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวตามมาด้วยสึนามิซึ่งทำให้มีคนตายเกือบ 16,000 คน และมีที่สูญหายอีกกว่า 2,500 คน แต่ในเรื่องสาเหตุการตายของพวกเขา ไม่มีรายใดที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ส่วนในภาพคือกลุ่มผู้ที่ไปชุมนุมประท้วงหน้าโรงงาน