ยุคแห่งการเซลฟี่ในจุดวินาศกรรม
เหตุระเบิดราชประสงค์ผ่านไปได้เกือบสัปดาห์แล้ว และชีวิตของผู้คนบริเวณดังกล่าวก็เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ประชาชนและนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาสักการะบูชาและกราบไหว้ศาลท้าวมหาพรหม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือบรรดาผู้คนที่เริ่มมาถ่ายภาพเซลฟี่คู่กับบริเวณเกิดเหตุ
สตีเฟน เอแวนส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี แสดงความรู้สึกว่า เขาไม่ค่อยเข้าใจเท่าใดนักถึงวัฒนธรรมการเซลฟี่ในจุดวินาศกรรม และได้ยกตัวอย่างไปถึงการถกเถียงในหมู่ชาวยิว ถึงการถ่ายภาพเซลฟี่ในค่ายกักกันเอาชวิทซ์ โดยด้านหนึ่งเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เห็นใจผู้อื่น แต่อีกด้านอ้างว่าอย่างน้อยพวกที่ถ่ายเซลฟี่ก็ได้ไปเยือนสถานที่และระลึกถึงความโหดร้ายที่เคยเกิดขึ้น
เอแวนส์ยังได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อหลายสิบปีก่อน ว่าเขาเคยได้ไปเยี่ยมค่ายกักกันเอาชวิทซ์-เบียร์เคเนาระหว่างเดินทางเที่ยวในประเทศโปแลนด์ และประเทศเชโกสโลวาเกีย (เมื่อครั้งที่ยังไม่แยกประเทศ) ในขณะที่เขากำลังยืนสงบนิ่งในบริเวณดังกล่าวเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต มีนักท่องเที่ยว 2 คนลงมาจากแท็กซี่ และผลัดกันถ่ายภาพคู่กับทางรถไฟซึ่งเป็นทางเข้าไปยังค่ายกักกันดังกล่าวและกลับขึ้นรถไปอย่างรวดเร็ว เขาแสดงความเห็นว่าคงจะดีไม่น้อยที่นักท่องเที่ยว 2 คนนั้นจะนำภาพไประลึกถึงความโหดร้ายของเหตุการณ์
ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีการถ่ายภาพนั้นง่ายขึ้นมาก โดยไม่ต้องมีคนช่วยถ่ายด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นคือการเซลฟี่
แต่เทคโนโลยีจะช่วยเราได้แค่ไหนกัน ภาพจากเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดเผยให้เราเห็นช่วงเวลาที่ผู้ต้องสงสัยวางระเบิดทิ้งไว้ที่เกิดเหตุ แม้เราจะได้เห็นจังหวะการลงมือก่อวินาศกรรม แต่เราไม่สามารถหยั่งลึกลงไปในจิตใจของผู้ก่อเหตุได้เลย
เช่นเดียวกัน การบูรณะซ่อมแซมศาลท้าวมหาพรหมแสดงให้เห็นถึงความพยายามดึงเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ แต่การบูรณะดังกล่าวจะสามารถเยียวยารอยแผลและความเจ็บปวดของผู้สูญเสียได้หรือ





 
Top