สมควรหรือไม่ที่จะเปิดเจรจากับกลุ่มไอเอส
ปัจจุบันกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้แผ่ขยายอิทธิพลและเข้ายึดครองพื้นที่หลายส่วนในอิรัก และซีเรีย อีกทั้งยังมีเครือข่ายที่อ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีในหลายประเทศ อาทิ ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และไนจีเรีย ทำให้ทุกวันนี้ไอเอสทรงอิทธิพลกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ ขณะเดียวกันปฏิบัติการปรามปรามทางทหารของนานาชาติก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เสนอให้ลองหันหน้ามาเจรจากับกลุ่มไอเอส แต่บางคนกลับไม่เห็นด้วย ขณะที่อีกส่วนบอกว่าอย่างน้อยก็ควรลองดูว่าจะได้ผลหรือไม่
โจนาธาน พาเวลล์ อดีตผู้แทนเจรจาของรัฐบาลอังกฤษในเหตุความขัดแย้งทางการเมืองในไอร์แลนด์เหนือ เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้เจรจา เขาเห็นว่าการใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตีไอเอสไม่น่าจะได้ผล ขณะเดียวกันชาติตะวันตกก็ไม่มีใครแสดงท่าทีจะส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการภาคพื้นดิน นายพาเวลล์คิดว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอสในอิรักมีจุดประสงค์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งยังมีแรงสนับสนุนทางการเมืองด้วย ดังนั้นการแก้ปัญหานี้จึงต้องทำผ่านช่องทางการเจรจาทางการเมือง ไม่ใช่แค่การจับอาวุธขึ้นต่อสู้กัน
ส่วนกาอีส กาซิม ผู้สื่อข่าวที่อาศัยอยู่ในกรุงแบกแดด ติดตามรายงานข่าวไอเอส และได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กลับมีความเห็นต่างในเรื่องนี้ โดยชี้ว่า ไอเอสไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือกลุ่มเคลื่อนไหวมุสลิมนิกายซุนนีย์ ทว่าเป็นกลุ่มอาชญากรที่ใช้ความรุนแรงแทนการเจรจา อีกทั้งยังไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมือง กาซิมบอกว่า ไม่มีใครในกรุงแบกแดดต้องการเจรจาหรือยอมรับความชอบธรรมของไอเอสเพราะถือว่าไอเอสเป็นกลุ่มอาชญากร ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีการเจรจาขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่หากสิ่งนี้เกิดขึ้น คนอิรักก็จะมองเห็นว่าเป็นสัญญาณความอ่อนแอของกองทัพอิรัก
เช่นเดียวกับ มีนา อัล-โอไรบี ผู้ช่วยบรรณาธิการใหญ่หนังสือพิมพ์อัสชาร์ค อะลอว์ซัต หนังสือพิมพ์ภาษาอาหรับซึ่งมีสำนักงานในกรุงลอนดอน ที่ไม่เชื่อว่านี่เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเจรจากับผู้นำระดับสูงของ ไอเอส ที่สำคัญคนเหล่านี้แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการร่วมโต๊ะเจรจาใดๆ และว่าการเจรจายังจะสื่อให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับไอเอสมากเกินไป อีกทั้งยังหลงเชื่อว่าไอเอสเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่ง ทั้งที่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ไอเอสเองเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว
ด้านไมเคิล เซมเปิล เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ของสหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มานาน 18 ปี และเคยร่วมการเจรจากับผู้นำระดับสูงของกลุ่มตาลีบัน เห็นว่าน่าจะมีการพิจารณาเปิดการเจรจาเพื่อมนุษยธรรมเพื่อให้ทราบว่ามีสมาชิกไอเอสคนใดสนใจแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมให้ดีขึ้น แล้วสร้างความไว้วางใจผ่านการเจรจานี้ จากนั้นอาจค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การเจรจาทางการเมืองต่อไป