อนาคตที่ดูไม่สดใสสำหรับตลาดเกิดใหม่
เงินตราของประเทศในตลาดเกิดใหม่กำลังอ่อนค่าลง ขณะที่ตลาดหุ้นในประเทศกำลังพัฒนากำลังซบเซา ทำให้มีฝ่ายที่เป็นห่วงว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียเมื่อปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งกำลังจะหวนกลับคืนมาอีกรอบหรือไม่
ดังเคิน เวลดอน ผู้สื่อข่าวด้านเศรษฐกิจของรายการนิวส์ไนท์ของบีบีซีชี้ว่า สถานการณ์ในขณะนี้ไม่ใช่วิกฤตต้มยำกุ้งรอบสอง แต่ไม่ได้หมายความสถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง
เมื่อปี 2540 หลายประเทศในเอเชียเผชิญกับวิกฤตทางการเงิน ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ต่างต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านการเงินจากหน่วยงานระหว่างประเทศ หลังจากที่ค่าเงินอ่อนลงอย่างมาก ทั้งเศรษฐกิจทรุดหนักและคนตกงานเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังมีการพูดถึงการล้มละลายของระบบการเงินโลก อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในตอนนี้ต่างไปจากวิกฤตครั้งก่อน ผู้สื่อข่าวชี้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ดูจะเป็นจุดผกผันของการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างที่ลึกกว่าในระบบเศรษฐกิจโลก
ขณะนี้ เงินตราของประเทศตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี โดยหนังสือพิมพ์ไฟแนลเชียลไทมส์ ได้รายงานเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ในช่วง 13 เดือนที่ผ่านมา มีเงินเกือบหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลออกจากระบบเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ทางด้านสหรัฐฯ ธนาคารกลางกำลังจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี หลังจากที่ได้นำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงินมาใช้และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ศูนย์มาหลายปี แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่
ผู้สื่อข่าวชี้ว่าการปรับนโยบายด้านการเงินของสหรัฐฯ มีขึ้นในช่วงที่ปัจจัยหลัก 3 ปัจจัยที่หนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของประเทศตลาดเกิดใหม่มาเป็นเวลาหลายปี กำลังอยู่ในช่วงขาลง ปัจจัยแรกคือกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ผ่านทางการค้าระหว่างประเทศ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักกำลังประสบปัญหา
ปัจจัยที่สองมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ เช่น ราคาน้ำมันที่เมื่อราวกลางปีที่แล้วอยู่ที่บาร์เรลละ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะนี้ตกมาอยู่ที่ราวบาร์เรลละ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่เพียงแต่ราคาน้ำมันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงราคาสินค้าโลหะในภาคอุตสาหกรรมก็ตกลงเช่นกัน ส่งผลให้ประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลักกำลังตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างไปกับการเผชิญกับภัยพิบัติ
ปัจจัยสุดท้ายมาจากเงื่อนไขในตลาดเงินที่มีความซับซ้อนกว่าสมัยก่อน ผู้สื่อข่าวชี้ว่าเมื่อมองในภาพกว้าง อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว โดยเมื่อปี 2524 อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในสหรัฐฯ อยู่ที่ 14.5% ขณะที่ทุกวันนี้อยู่ที่ 2.2% และตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ได้เพิ่มขึ้นจาก 900 จุด เป็น 17,500 จุด ซึ่งหมายความว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาเป็นช่วงขาขึ้นของนักลงทุน ที่ยังได้แรงหนุนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง ซึ่งเอื้อให้ตลาดหุ้นในโลกตะวันตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่าตลาดกระทิง คือราคาหลักทรัพย์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าสถานการณ์แบบนี้คงจะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยง่าย ๆ ซึ่งเมื่อรวมปัจจัยทั้ง 3 นี้เข้าด้วยกัน จะเห็นว่าเป็นตัวแปรที่ทำให้ตลาดเกิดใหม่เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งแม้ไม่จำเป็นจะต้องซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวและนักลงทุนมีรายได้ลดลง
ผู้สื่อข่าวชี้ว่าตัวแปรหลักที่มองข้ามไม่ได้คือเศรษฐกิจจีนที่เคยร้อนแรงแต่ตอนนี้กำลังชะลอตัว โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีนเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ การที่จีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดลงและการกู้ยืมมีค่าใช้จ่ายน้อยลง โดยสินค้าจากจีนที่มีราคาถูก ช่วยคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศตะวันตกไว้ได้ และเอื้อให้ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำไว้ได้
ไม่มีประเทศไหนที่จะคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 10% ไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่การชะลอตัวนั้นอาจส่งผลกระทบกว้างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่




 
Top