0

ความเบี่ยงเบนของโรงเรียนต่อนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ

Posted: 03 Oct 2016 12:04 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีงานสัมมนาทางวิชาการด้านการศึกษาเปรียบเทียบและการศึกษาระหว่างประเทศ (The World Congress of Comparative and International Education Societies) ที่มหาวิทยาลัย Beijing Normal กรุงปักกิ่ง โดยงานสัมมนาด้านนี้จะจัดขึ้นทุกๆสามปีเพื่อเป็นเวทีหลักสำหรับนักวิชาการ นักวิจัย และผู้วางนโยบายด้านการศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ ได้พบปะแลกเปลี่ยนมุมมองทางงานวิจัยใหม่ๆ หัวขอหนึ่งที่เป็นประเด็นร้อนแรงในงานสัมมนาคือเรื่อง นโยบายทางการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนทีมีความหลากหลายทางเพศ หรือ Lesbian Gay Bisexual and Transgender (LGBT) students เนื่องจากมีผลวิจัยที่น่าสนใจจากอาร์เจนตินา โคลอมเบีย ออสเตรเลีย และ สหรัฐอเมริกา

งานวิจัยจากสี่ประเทศยืนยันไปในทิศทางเดียวกันคือ พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการอ่อนด้อยของการนำนโยบายในระบบโรงเรียนที่มีต่อกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ และ การเรียนรู้ในระบบโรงเรียน และ การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของนักเรียนกลุ่มนี้

แม้ว่าเราจะอยูในปี คศ. 2016 ทว่า งานวิจัยทุกฉบับรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า เด็กนักเรียนที่ประกาศตัวว่าเป็นนักเรียนในกลุ่มหลากหลายทางเพศมักจะประสบกับปัญหาการถูกเหยียดหยามทั้งทางกายและวาจาไม่ว่าจะโดยเพื่อนนักเรียนบางกลุ่ม หรือ แม้กระทั่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้ปกครองของตนเองในบางกรณี


ผลจากงานวิจัยในโครงการณ์ Free2Be project ของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ จากประเทศออสเตรเลีย (http://researchdirect.westernsydney.edu.au/islandora/object/uws:32727) พบว่า ประมาณร้อยละ 60 ของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศในซิดนีย์จะได้รับการเหยียดหยามและดูถูกในเชิงวาจาโดยภาษาเช่น เกย์ กะเทย พวกเบี่ยงเบน จากเพื่อนๆ ในโรงเรียนและทำให้นักเรียนกลุ่มนี้มีผลสัมฤทธิทางการเรียนที่ด้อยลงไปเพราะไม่รู้สึกมีความสุขในการเรียน ไม่อยากเรียนและพบปะผู้คน และ รู้สึกลบต่อบรรยากาศในโรงเรียน ผลงานวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงเรื่องที่น่าตกใจว่า ร้อยละ 57 ของนักเรียนที่เปิดเผยต่อเพศสภาพของตนไม่ว่าจะเป็น เกย์ ผู้หญิงหรือผู้ชายข้ามเพศ หรือไบเซ็กช่วล จะโดนทำร้ายร่างกายในสถานศึกษาโดยเพื่อนร่วมชั้นเรียน เมื่อทีมนักวิจัยได้ลงลึกไปศึกษาต่อว่าทำไมนักเรียนที่ทำร้ายเพื่อนที่มีความหลากหลายทางเพศจึงรังเกียจเดียดฉันท์เพื่อนที่มีรสนิยมทางเพศต่างกับตน จนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย พบว่า สาเหตุหลักประการหนึ่งคือ เด็กนักเรียนที่เติบโตและถูกสอนมาในระบบครอบครัว และ โรงเรียนที่ไม่ได้รับการปลูกฝังถึง ความหลากหลาย [diversity] มักจะมี “มุมมอง” และ “ความเชื่อ” ในเชิงลบต่อทุกอย่างที่ต่างจากตน ซ้ำร้าย โรงเรียนเองยังเป็นแหล่งบ่มเพาะ ความคิดที่ว่า การรักต่างเพศ เป็นรูปแบบเดียวของความรักที่มนุษย์ควรปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหา วิธีการเรียนการสอน และ วัตรปฏิบัติในโรงเรียน

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่ม GLSEN (Gay, Lesbian and Straight Education Network) พบว่าครู หรือ ผู้บริหารสถานศึกษา ในหลายโรงเรียนยังมีแนวคิดและการปฏิบัตรที่แสดงถึงการรังเกียจเดียดฉันท์นักเรียนของตนเองที่มีความหลากหลายทางเพศ ตัวอย่าง เช่น

· ห้ามไม่ให้มีการแสดงถึงความรักระหว่างนักเรียนเพศเดียวกัน ในขณะที่นักเรียนชายหญิงสามารถแสดงความรักกันได้เปิดเผยและไม่โดนตำหนิ

· ไม่สนับสนุนให้นักเรียนสร้างกลุ่มสังคมของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ

· ไม่สามารถเลือกใช้ห้องน้ำ หรือ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ตรงกับเพศสภาพของตน ในกรณีของนักเรียนข้ามเพศ

· ได้รับการเพิกเฉยเมื่อมีการรายงานต่อครูหรือ ผู้บริหารสถานศึกษาต่อการถูกทำร้ายหรือดูถูก

งานวิจัยชิ้นนี้ยังรายงานผลว่า นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติจะมีผลการเรียนที่ต่ำกว่านักเรียนที่ไม่ถูกละเมิดโดยเพื่อนหรือครู นอกจากนี้นักเรียนกลุ่มนี้ยังมีระดับความกังวลสูงและมีแนวโน้มที่จะเลิกเรียนกลางคันและไม่ศึกษาต่อในระดับสูง และรวมไปถึงมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตนเองและสังคมรอบข้าง เนื่องจากพวกเข ไม่สามารถรับความกดดันจากการถูกเหยียดหยามที่มีอย่างต่อเนื่องได้ (ข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้ที่ [www.glsen.org]


การประท้วงรัฐบาลโคลอมเบียในปี คศ 2013 โดยกลุ่ม GLBT ณ กรุงโบโกตา

ในประเทศโคลอมเบียและอาร์เจนตินา กระแสการถูกกดดันของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกจุดขึ้นมาหลังจากนักเรียนหนุ่มน้อยวัยเพียงสิบหกปีชาวโคลอมเบีย Sergio Urrego ได้ทำอัตวินิบาตกรรมโดยการกระโดษตึกและเขียนจดหมายลาโลกผ่านเฟสบุ๊ค เนื่องจากเขาไม่สามารถทนการทำร้าย ทั้งทางวาจาและกาย โดยเพื่อนนักเรียนที่รังเกียจที่เขาเป็นเกย์ ซำร้ายโรงเรียนก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือและเหลียวแลเด็กแบบเขา ทุกวันที่เขาไปโรงเรียนจึงเหมือนการไปนรกทั้งเป็น ความตายของเขาสร้างกระแสให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศลุกขึ้นมาประท้วงต่อการเพิกเฉยของรัฐบาลที่มีต่อนโยบายด้านความหลากหลายทางเพศ ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลของประเทศโคลอมเบียจะมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อต่อต้านการกลั่นแกล้งในโรงเรียน (2013 anti-bullying law) ทว่า งานวิจัยของกลุ่ม Colombiadiversa (www.colombiadiversa.org) เปิดเผยว่า รากฐานของความเป็นแคธอลิกในโคลอมเบียส่งผลให้การนำกฏหมายไปปฏิบัติเพื่อสร้างโรงเรียนที่เป็นมิตรต่อเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและท้าทายผู้บริหารสถานศึกษา ที่สำคัญ จากงานวิจัยพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการวิจัยส่วนใหญ่ การสร้างโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่น่าเรียนสำหรับนักเรียนยังเน้นเรื่องวิชาการมากกว่าเรื่องการเข้าอกเข้าใจนักเรียน

เมื่อนำผลการวิจัยจากทั้งสี่ประเทศมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย เราอาจจะเข้าใจถึงสถานการณ์ด้านนโยบายในด้านความหลากหลายของผู้เรียนในบ้านเราว่า ไม่ได้มีความแตกต่างในเรื่องของการขาดแคลนการนำแนวคิดหรือนโยบายทางการศึกษาที่ส่งเสริมเรื่องความหลากหลายของนักเรียน รวมไปถึง การเสริมสร้างความเข้าใจเรื่อง ความแตกต่าง ระหว่างนักเรียนในโรงเรียนได้อย่างชัดเจนมากนัก ภาพจำของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศในโรงเรียนไทยก็ยังคงเป็นไปในแนวเสียดสี ตลกขบขัน ทำนอง ทอมเด็ก หรือ ตุ๊ดหัวโปก ที่ทำอะไรได้ไม่มากนอกจากการเต้นเชียร์หลีดเดอร์ในกีฬาสี นี่คือ ภาพจำลองที่น่าเศร้าของสังคมไทยที่บอกว่า เราเปิดใจกว้างต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่เราไม่เคยมี สถานศึกษาแห่งใดที่กล้าเป็นผู้สร้างนโยบายสาธารณะ ในการมองนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศในมุมมองที่มีความเป็นมนุษย์ปรกติ หรือ มีการสร้างและดำเนินนโยบายทางการศึกษาที่สร้งสถานศึกษาที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน น่าแปลกใจที่โรงเรียนที่คัดนักเรียนระดับหัวกะทีเข้าไปเรียนและมีความพร้อมในแง่บุคลากร ทรัพยากร และ การเข้าถึงข้อมูล หลายๆแห่งในเมืองไทย กลับเพิกเฉยต่อการสร้างมุมมองทางด้านสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน งานวิจัยทางการศึกษาระหว่างประเทศที่นำเสนอล้วนเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ บาดแผลจากการโดนทำร้ายในสถานศึกษาจากครูหรือเพื่อนของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นแผลใหญ่ที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ ทัศนคติต่อสังคม และ การใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของพวกเขา

ประเด็นสุดท้ายที่เป็นข้อสรุปร่วมจากนักวิจัยทางนโยบายการศึกษาทั่งสี่ประเทศซึ่งน่าจะนำมาประยุกต์ได้กับสถานศึกษาในเมืองไทย (และ กระทรวงศึกษาธิการ) ในการสร้างนโยบายในการสร้างโรงเรียนที่มีความปลอดภัยต่อนักเรียนทุกกลุ่มมีสามขั้นตอนคือ การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบจากนักเรียนและสถานศึกษาโดยวิเคราะห์ถึงปัญหาที่พวกเขาพบเจอในโรงเรียน ข้อมูลคือสิ่งที่จำเป็นในการสร้างนโยบายสาธารณะ เช่น การศึกษา ขั้นต่อมาคือ การร่วมกันสร้างนโยบายทางการจัดการทางการศึกษาที่เปิดกว้างให้กับความหลากหลายในสังคมไทย และ ประการสุดท้ายคือการพัฒนาครูให้เข้าใจถึงการจัดการการศึกษาที่มีความหลากหลายและสร้างทัศนคติที่ทำให้ครูเข้าใจถึงความหลากหลายของผู้เรียนโดยไม่ใช้กรอบศิลธรรมหรือจารีตแบบที่ครูเชื่อมาตัดสินตัวตนของนักเรียน



เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ดร. ณัฐวุฒิ พิมพา (nattavud.pimpa@rmit.edu.au) เป็นอาจารย์และนักวิจัยด้านการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (Royal Melbourne Institute of Technology) ประเทศออสเตรเลีย โดยเน้นงานวิจัยเรื่องธุรกิจระหว่างประเทศและความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top