0
เรียนรู้จากปัญหา ‘ธรรมกาย’ ผ่านมุมมองประเวศ วะสี
Posted: 17 Jun 2016 12:39 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เมื่อเร็วๆนี้ คุณหมอประเวศ วะสี แสดงความเห็นต่อปัญหาธรรมกายว่า
“วิกฤติธรรมกาย”...เป็นวิกฤติชาวพุทธไทย ไม่ใช่วิกฤติพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาหมายถึง คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธไทยวิกฤติมากกว่าธรรมกาย และเพราะชาวพุทธไทยวิกฤติจึงเกิดวิกฤติธรรมกาย ...วิกฤติชาวพุทธไทยเกิดจากความไม่เข้าใจหลักพุทธธรรม และปฏิบัติตามหลักพุทธธรรม ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนต่างๆนานา...”
นอกจากนี้ คุณหมอประเวศยังพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างว่า “ในประเทศไทย โดยประวัติศาสตร์รัฐเข้ามาควบคุมคณะสงฆ์ จัดการปกครองคณะสงฆ์ แบบระบบราชการ พระสงฆ์จึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจ ลาภ ยศ สักการะ มีเสนาสนะโออ่าบริบูรณ์ด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคแบบวัตถุนิยม และสะสมเงินทองจนร่ำรวยก็มี”
ส่วนปัญหาธรรมกายคุณหมอประเวศมองว่า “ต้องแยกระหว่างผู้มีศรัทธาในวัดพระธรรมกายที่มาปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ กับผู้มีอำนาจกำหนดทิศทางของธรรมกาย...ผู้มาปฏิบัติธรรมก็คงไม่รู้อีโหน่อีเหน่โดยเห็นว่ามาปฏิบัติสมาธิภาวนาก็เป็นของดี แต่ที่เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นก็เพราะทิศทางของธรรมกายเป็นทิศทางแห่งอำนาจและเงิน ซึ่งไม่ต่างจากแนวคิดแนวทางของมหาอำนาจ” (คลิ้ก )
สรุปว่าวิกฤตธรรมกาย เกิดจาก 
(1) วิกฤตชาวพุทธที่ไม่เข้าใจหลักพุทธธรรมและปฏิบัติตามหลักพุทธธรรม ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนต่างๆนานา 
(2) โครงสร้างการปกครองสงฆ์แบบราชการที่ขึ้นต่อการควบคุมของอำนาจรัฐ และ 
(3) ทิศทางของธรรมกายที่เป็นทิศทางของอำนาจและเงิน 
ทางออกที่คุณหมอประเวศเสนอ คือการกลับไปหาคำสอนที่ถูกต้องของพุทธศาสนา “ชาวพุทธไทย ทั้งพระและฆราวาสทั้งสาวกของธรรมกายหรือมิใช่ ในยามวิกฤติธรรมกายและวิกฤติโลก ถือเป็นโอกาสที่จะทำความเข้าใจหลักพุทธธรรมที่แท้และปฏิปทา เพื่อปูไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”
แต่สิ่งที่คุณหมอประเวศไม่ได้อธิบายก็คือ ชาวพุทธจะกลับไปหาคำสอนที่แท้โดยทำให้วัดกว่า 30,000 วัดทั่วประเทศ เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างบุรณาการเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งได้อย่างไร ถ้าพุทธศาสนายังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐผ่านกลไกอำนาจคณะสงฆ์แบบราชการ ซึ่งคุณหมอมองว่ามีลักษณะขัดแย้งกับหลักพุทธธรรมที่ถูกต้อง
คุณหมอประเวศพูดมาตลอดเรื่องปัญหาของแนวทาง “อำนาจ” กับ “เงิน” พูดถึงความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมากจาความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและเศรษฐกิจ เสนอเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นถึงระดับชุมชน หมู่บ้าน แต่คำถามคือ ข้อเสนอเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานของการยืนยัน “วิถีทางประชาธิปไตย” อย่างคงเส้นคงวาหรือไม่ ถ้าคุณหมอประเวศยืนยันการพ้นจากแนวทางที่ยึดเงินกับอำนาจ ไปสู่การกระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำบนวิถีทางประชาธิปไตย ทำไมคุณหมอจึงไม่เคยวิพากษ์ “อำนาจนอกระบบเลือกตั้ง” ที่ทำลายวิถีทางประชาธิปไตย ขณะที่วิพากษ์อำนาจทุนและนักการเมืองมาอย่างยาวนานทั้งๆที่อำนาจทุนและนักการเมืองแม้จะเลวร้ายอย่างไร ก็ยังถูกกำกับตรวจสอบได้ภายใต้ระบบประชาธิปไตย แต่อำนาจนอกระบบเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับทุนมหาศาลเช่นกัน เป็นอุปสรรคของการกระจายอำนาจโดยตรง และไม่สามารถกำกับตรวจสอบได้ตามระบบประชาธิปไตย แต่คุณหมอประเวศกลับไม่วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาเลย
วิกฤตการเมืองและศาสนาที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เราเผชิญอยู่ภายใต้ “กติกา” ทางสังคมแบบไหนกัน คือกติกาที่ “ถ้าฝ่าย ก.ทำผิดกฎหมายและหลักการประชาธิปไตยแปลว่าผิด แต่ฝ่าย ข.ทำผิดกฎหมายและหลักการประชาธิปไตยเพื่อจัดการกับฝ่าย ก.แปลว่าจำเป็น” ใช่หรือไม่ ภายใต้กติกาแบบนี้ศีลธรรมพุทธศาสนาแบบที่คุณหมอประเวศชอบนำมาอ้างและกลุ่มชาวพุทธอื่นๆชอบนำมามาอ้างทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับฝ่าย ข. ใช่หรือไม่
พูดตรงๆคือบรรดาชาวพุทธที่แสดงออกว่าพวกตัวเองเป็น “พุทธแท้” ปกป้องธรรมวินัยที่ถูกต้อง เคร่งครัดปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมที่ถูกต้อง ต่างเสนอและสนับสนุน “ความจำเป็น” ในการใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจัดการกับนักการเมือง พรรคการเมือง ประชาชน กลุ่มศาสนาที่พวกตนกล่าวหาว่าผิดกฎหมาย ผิดหลักการประชาธิปไตย และกลุ่มศาสนาอย่างธรรมกายที่พวกตนกล่าวหาว่าเป็น “สัทธรรมปฏิรูป” สอนและปฏิบัติผิดเพี้ยนใช่หรือไม่
ถ้ายึดหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษย์ชนอย่างคงเส้นคงวา ใครหรือฝ่ายไหนก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย เขาย่อมมี “สิทธิ” ที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางภายใต้ระบบประชาธิปไตย การปกป้องระบบประชาธิปไตยจึงไม่ใช่การเข้าข้างหรือเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเลว แต่เป็นการปกป้อง “กติกาที่ free and fair” สำหรับ “ทุกคน” ให้คงอยู่
แต่บรรดาปัญญาชนชาวพุทธ และกระบวนการอ้างพุทธศาสนาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเอาผิดนักการเมืองและเอาผิดธรรมกาย มีใครบ้างไหมที่ยืนยันให้ใช้ “กติกาที่ free and fair” ภายใต้ระบบประชาธิปไตยในการจัดการกับฝ่ายที่พวกตนกล่าวหาว่าผิด เปล่าเลย มีแต่การอ้างพุทธศาสนาและศีลธรรมสนับสนุนอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจัดการกับคนอื่น และคนเหล่านี้ก็มักจะอ้างเช่นนี้ในนามของพุทธแท้ หรือในนามชาวพุทธที่ปฏิบัติตามและปกป้องคำสอนที่ถูกต้อง (เช่น สมณะโพธิรักษ์เคยเสนอให้ใช้ ม.44 จัดการกับข้อกล่าวหาเรื่องอาบัติปาราชิกของพระธัมมชโย เป็นต้น)
แปลว่า การอ้างศีลธรรมพุทธศาสนาในการแก้ปัญหาทางการเมือง และการอ้างเรื่องปกป้องธรรมวินัยที่บริสุทธิ์ถูกต้องในการแก้ปัญหาทางพุทธศาสนา ไม่จำเป็นต้องเคารพหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนเลยก็ได้ แต่จำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ปรากฏการณ์ที่พุทธบริสุทธิ์ พุทธแท้ไปกันได้ดีกับเผด็จการที่เห็นชัดแจ้งเช่นนี้ คุณหมอประเวศกลับไม่เคยมองว่าเป็น “วิกฤติ” แต่อย่างใด
ฉะนั้น สิ่งที่เราเรียนรู้จากปัญหาธรรมกายผ่านมุมมองแบบคุณหมอประเวศ ก็คือ ได้เรียนรู้ว่าการอ้างคำสอนที่แท้ การกลับไปหาพุทธธรรมที่แท้ จะแก้ปัญหาทางการเมืองและศาสนาได้โดยไม่จำเป็นต้องยืนยันการเดินตามหลักการและกติกาประชาธิปไตยอย่างคงเส้นคงวา ซึ่งมองไม่เห็น “แนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม” ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร
นึกถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบ “เพนกวิน”  (พริษฐ์ ชิวารักษ์) เด็กมัธยมปลายที่เสนอให้รัฐรับรองสิทธิการเรียนฟรี 15 ปี ในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐใช้ ม.44 ให้เรียนฟรี 15 ปี เขาก็ยังออกมาคัดค้าน ซึ่งแปลว่า ถ้าเราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจริงๆ เราต้องยืนยัน “วิถีที่ชอบธรรมตามระบบประชาธิปไตยเท่านั้น” ต้องปฏิเสธ “วิถีที่ผิด” เสมอไป แม้ว่าวิถีเช่นนั้นอาจจะแสดงออกว่าทำให้ข้อเรียกร้องของเราบรรลุผลก็ตาม
ผมคิดว่าวิกฤตชาวพุทธไทย เกิดจากการอ้างพุทธศาสนาสนับสนุนวิถีที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เราจะออกจากวิกฤตนี้ได้ เมื่อปัญญาชนชาวพุทธ และนักปกป้องพุทธศาสนามีพัฒนาการทางความคิดถึงระดับที่สามารถอ้างศีลธรรมพุทธศาสนาอย่างเคารพหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษย์ชนได้อย่างคงเส้นคงวาแบบเพนกวินแล้วเท่านั้น


แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top