0
สมศักดิ์ ชี้ 'บอยคอต' ประชามติร่าง รธน. ก็เป็นการสู้อย่างหนึ่งแน่นอน
Posted: 05 Jun 2016 11:43 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)    
6 มิ.ย.2559 กระแสการถกเถียงของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงท่าทีต่อการทำประชามติรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก ว่าจะเลือกสู้อย่างไหนระหว่าง โหวตโน กับ บอยคอต
ล่าสุดวันนี้ (6 มิ.ย.59) อานนท์ นำภา นักกิจกรรมจากกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะ ว่า "มันไม่มีหรอกครับที่จะสู้กับเผด็จการด้วยกติกาที่ชอบธรรม การต่อสู้กับเผด็จมีเพียงสู้กับไม่สู้เท่านั้น และการเอาชนะเผด็จในกติกาของเผด็จการนี่แหละที่จะตอกหน้าเผด็จการอย่างสาสมและเจ็บแสบถึงทรวง"
 

สมศักดิ์ ชี้ 'บอยคอต' ก็เป็นการสู้อย่างหนึ่งแน่นอน

ซึ่งในโพสต์ดังกล่าวของ อานนท์ นั้น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศ ได้เขามาแสดงความคิดเห็น ว่า ขึ้นอยู่กับกรณีรูปธรรมแต่ละกรณี และยังขึ้นอยู่กับว่า อะไรคือ "สู้" อะไรคือ "ชนะ" ด้วย เช่น ถ้าบอกว่า บอยคอตคือ "ไม่สู้" นี่ก็ไม่ใช่หรอกครับ เป็นการสู้อย่างหนึ่งแน่นอน
สมศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างด้วยว่า สมมุติเผด็จการต้องการให้มี "สภา" เพื่อสร้างภาพว่า "ฉันเป็นประชาธิปไตยมีสภา มีการเลือกตั้งแล้วนะ" แต่ว่าก็กำหนดว่า ในการเลือกตั้งทีว่าให้ส่งผู้รายชื่อผู้สมัครเฉยๆ ห้ามมีการหาเสียง รณรงค์เลือกตั้งใดๆ ทั้งสิ้น แบบนี้ จะบอกว่าวิธีสู้คือเราก็ส่งผู้สมัครไปเฉยๆ ถ้าได้รับเลือกก็ดี ถือว่า "ชนะ" อะไรแบบนั้น นี่ก็ไม่จำเป็นเลยว่านี่เป็นวิธีสู้ ทีดี เพราะมองได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่การเลือกตั้งแต่อย่างใดทั้งสิ้น การที่เราส่งรายชื่อผู้สมัครของเราไป เท่ากับเป็นการไปร่วมสังฆกรรมกับปาหี่หลอกคนด้วยซ้ำให้ปาหี่นั้น มีภาพเป็นการเลือกตั้งขึ้นมา ทั่งๆ ที่มันไมใช่การเลือกตั้งเลย และการที่สมมุติเราบอยคอตไม่ส่งคนเลย "เรา" ในทีนี้สมมุติว่าหมายถึงพรรคการเมืองทั้่งหมด อันนี้ต่างหากที่จะบอกว่าเป็นการสู้ที่ดีกว่า คือไม่เข้าร่วมเลย เพราะไม่เอากติกาแบบนี้
 

ลบวาทกรรม "โนโหวต" คือ "ไม่สู้" หรือ "ไม่ทำอะไร"

สมศักดิ์ แสดงความเห็นด้วยว่า ผู้ที่เสนอให้บอยคอต คือเสนอให้ รณรงค์บอยคอต ซึงเป็นการรณรงค์ที่ยากกว่ารณรงค์ให้ โหวตโน ที่ทำอยู่ตอนนี้ด้วยซ้ำ นอกจากในแง่ต้องทำความเข้าใจ สู้กับความเข้าใจที่ผิดๆ ตัวอย่างความเข้าใจผิดๆ เรื่อง "โนโหวต" คือ "ไม่สู้" หรือ "ไม่ทำอะไร" ที่กระทู้นี้พูดเป็นนัยเป็นต้น หรือกระทั่ง "วาทกรรม" เรื่อง "นอนหลับทับสิทธิ์" ซึงแม้แต่ฝ่ายประชาธิปไตย ก็ซื้อกัน ทั้งที่ความจริงการไม่ไปเลือกตั้งหรือไม่ไปลงประชามติคือการใช้สิทธิ์อย่างหนึ่ง ไม่ใช่ "นอนหลับ"  
 
แต่ทีสำคัญอีกอย่าง คือในการรณรงค์นั้น จะต้องตั้งเป้าหมายที่พรรคการเมืองด้วย คือเรียกร้องให้พรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหญ่ แสดงจุดยืนที่กล้าหาญกว่านั้น คือออกมาแสดงท่าทีว่าไม่เอา ไม่ร่วมสังฆกรรมกับ ระบอบทีคณะรัฐประหารจะสร้างขึ้น เช่น ถ้า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ผ่านจะไม่ลงเลือกตั้ง หรือไม่เอาตั้งแต่สิ่งทีเรียกว่าประชามติที่ว่านั้น
 
สมศักดิ์ ระบุว่า ทุกวันนี้ พรรคการเมืองใช้วิธีดันประชาชนให้ออกหน้าไปแสดงประชามติก่อน แล้วตัวเองค่อยอาศัยการออกหน้าของประชาชนนั้นไปต่อรอง อ้างกับคสช. ว่า เห็นไหมประชาชน "ไม่เอา รัฐธรรมนูญ ไม่เอา คสช."  แต่ถ้าเกิดผ่านขึ้นมา ก็ลงเลือกตั้ง อ้างว่าประชาชนยอมรับร่างรัฐธรรมนูญอะไรแบบนั้น แต่ไม่ยอมออกมาแสดงท่าทีปฏิเสธระบอบใดๆ ที คสช. จะสร้างขึ้นโดยชัดเจน ดังนั้นการรณรงค์บอยคอต ถ้าทำกันจริงๆ พรรคการเมืองต้องเป็นเป้าหมายหนึ่งของการรณรงค์ด้วย คือเรียกร้องให้เขาเข้าร่วมการบอยคอต เรียกร้องให้เขาออกนำการไม่เอาระบอบรัฐประหาร เป็นต้น
 
"โดยสรุปคือ จะเห็นว่า วิธี "สู้" แบบนี้ รณรงค์บอยคอตที่จริง ยากกว่าทีรณรงค์เรื่อง "โหวตโน" เยอะ อันทีจริง เหตุผลสำคัญมาก ทีคนส่วนใหญ่แอ๊คติวิสต์ส่วนใหญ่รู้สึก โหวตโน ดีกว่า เพราะมัน "ง่าย" กว่า มันเหมือนเป็นการแสดงออกแบบง่ายๆ ว่า นี่ "ไม่เอารัฐระหาร" อะไรแบบนั้น การรณรงค์ให้บอยคอต และให้รู้สึกกันว่า "เห็นผล" เป็นอะไรทีเกี่ยวถึงการทำความเข้าใจ เกี่ยวถึงการเปลี่ยนวิธีการมอง เช่นเรื่อง "นอนหลับทับสิทธิ์" อะไรทีว่า ฯลฯ มันเป็นวิธีสู้ที่ยากกว่ากันเยอะครับ" สมศักดิ์ กล่าว
 
 

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top