0
27 ปีเทียนอันเหมิน: ฮ่องกงจุดเทียนรำลึกเรือนแสน แม้เกิดแตกแยก 2 แนวทาง
Posted: 04 Jun 2016 04:39 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)     
ฮ่องกงรำลึก 27 ปีสลายชุมนุมเทียนอันเหมิน - ขณะที่คนรุ่นใหม่ในขบวน 'โลคัลลิสต์' และสหภาพนักศึกษาหลายแห่ง หันหลังให้งานรำลึกเพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับฮ่องกงและเสนอให้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยฮ่องกงดีกว่า ขณะที่ผู้จัดงานรำลึกยืนยันว่าต้องการให้ฮ่องกงเป็นอิสระและมีประชาธิปไตยเช่นกัน และหากไม่ต้องการถูกข่มเหงจากจีน ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนจีนด้วย
(ซ้าย) Pu Zhiqiang นักศึกษาจีนที่เข้าร่วมประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ภาพถ่ายเมื่อ 10 พฤษภาคม 2532 (ที่มา:  蔡淑芳@sfchoi8964/Wikipedia) (ขวา) แฟ้มภาพงานรำลึกเหตุสลายการชุมนุมเทียนอันเหมิน เมื่อ 4 มิถุนายน 2557 ที่สวนสาธารณะวิคตอเรียปาร์ก ฮ่องกง (ที่มา: melanie_ko/flickr.com)
 
4 มิ.ย. 2559 ที่ฮ่องกงบรรยากาศรำลึก 27 ปีเหตุสลายชุมนุมผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอันเหมิน มีความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากนักกิจกรรมมีความเห็น 2 กลุ่ม โดยมีคำถามเกิดขึ้นว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยบนจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยฮ่องกงด้วยหรือไม่
ทั้งนี้แม้จะกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีนในฐานะ "เขตบริหารพิเศษ" ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2540 แต่ที่ฮ่องกงยังคงเป็นดินแดนเดียวของจีนที่มีการชุมนุมจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ปราบปรามเทียนอันเหมินอย่างต่อเนื่องทุกปี และนักกิจกรรมในฮ่องกงเองก็มีส่วนช่วยพาตัวแกนนำนักศึกษาจีนในเวลานั้นให้หนีออกจากจีนเพื่อลี้ภัยประเทศที่สาม อย่างไรก็ตาม ในปีนี้หลายกลุ่มที่อยู่ในขบวนการ "โลคัลลิสต์" (localist) ซึ่งส่วนมากเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวในฮ่องกง เริ่มเสนอให้ฮ่องกงต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพมากขึ้น แทนที่จะต่อสู้เพื่อมุ่งปฏิรูปจีนแผ่นดินใหญ่

'localist' เสนอให้เลิกจุดเทียนรำลึกเพราะทำอะไรจีนไม่ได้ โฟกัสประชาธิไตยฮ่องกงพอ

ทั้งนี้ขบวนการ localist ก่อตัวขึ้น ภายหลังการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ/การเมืองของจีนเข้ามาในดินแดนซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินการธนาคารแห่งนี้ และความล้มเหลวหลังการชุมนุม 79 วันของขบวนการปฏิวัติร่มเมื่อปี 2557 ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเสรีในฮ่องกง นอกจากนี้การลิดรอนเสรีภาพในฮ่องกงก็ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อแผ่นดินใหญ่ และทำให้หลายกลุ่มในฮ่องกงต้องการเรียกร้องเอกราช
โดยหนึ่งใน "localist" อย่างกลุ่ม Youngspiration เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อนได้ออกถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับ "พันธมิตรฮ่องกงเพื่อสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในจีน" (Hong Kong Alliance in Support of Patriotic Democratic Movement of China) ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดกิจกรรมรำลึกเหตุสลายการชุมนุมเทียนอันเหมินอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีที่ฮ่องกง โดยกลุ่ม  Youngspiration ระบุว่า รูปแบบการจุดเทียนรำลึกที่วิคตอเรียปาร์คเป็นประจำทุกปีนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ในปัจจุบันของฮ่องกงอีกแล้ว โดยทางกลุ่มจะไม่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 4 มิถุนายนอีก และจะมุ่งต่อสู้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยของฮ่องกงมากกว่า
ในรายงานของบลูมเบิร์ก เคนนี หว่อง โฆษกของกลุ่ม Youngspiration ผู้ซึ่งในปีที่มีการสลายการชุมนุมที่เทียนอันเหมินนั้นเขาอายุได้ 2 ขวบ เขาให้สัมภาษณ์ว่า "เราไม่สามารถทำอะไรเกี่ยวกับจีนได้มากนัก สิ่งที่เรามุ่งโฟกัสมีเพียงฮ่องกง ผมไม่คิดว่าการไปนั่งที่สวนวิคตอเรียปาร์กจะทำอะไรได้"

กลุ่มจุดเทียนรำลึกยืนยันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงจีนด้วย

ทั้งนี้การจุดเทียนรำลึกเหตุสลายชุมนุมเทียนอันเหมินที่สวนวิคตอเรียปาร์ก ริเริ่มโดย "พันธมิตรฮ่องกงเพื่อสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในจีน" ซึ่งจัดการรำลึกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2530 ในสมัยที่ฮ่องกงยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ก่อนที่จะกลับคืนสู่จีนในปี พ.ศ. 2540
ลี ชุกยัน เลขาธิการของกลุ่มพันธมิตรฮ่องกงฯ กล่าวว่า "พวกเราต้องการให้ฮ่องกงมีสิทธิปกครองตนเองมากกว่านี้และเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์" "และในเวลาเดียวกัน เราก็ไม่ต้องการถูกข่มเหงจากจีน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนจีนด้วย"
อย่างไรก็ตาม นักศึกษาฮ่องกงที่เคยร่วมการชุมนุมรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ในสมัยหลังๆ ก็เริ่มปฏิเสธแนวทางของลี ชุกยัน มากขึ้น โดยปีนี้สหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้เรียกร้องให้ยุติพิธีรำลึกดังกล่าว ขณะที่สหพันธ์นักศึกษาฮ่องกงก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเนื่องจากพันธมิตรฮ่องกงฯ ต้องการสร้างประชาธิปไตยในจีน ในขณะที่นักศึกษา 11 กลุ่มจะจัดกิจกรรมแยกต่างหากเพื่ออภิปรายกรณีปัญหาฮ่องกงมากกว่าเรื่องเทียนอันเหมิน

อาจารย์กฎหมายชี้ว่าเป็นการสะท้อนความกังขาต่อจีนแผ่นดินใหญ่

ไมเคิล เดวิส ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนของมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นรูปแบบหนึ่งของความกังขาต่อจีนแผ่นดินใหญ่และต่อพันธะสัญญาที่มีสำหรับฮ่องกง คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือที่เรียกกันว่า 'localist' พยายามที่จะเลี่ยงการมีส่วนร่วมในเวทีที่จะส่งสัญญาณรักชาติไปยังจีน เนื่องจากพวกเขาต้องการให้ความสนใจกับฮ่องกงมากกว่า
อย่างไรก็ตามแม้จะมีคนเรียกร้องให้ยุติการจุดเทียนรำลึก แต่นั่นทำให้บุคคลราว 300 คน ซึ่งรวมทั้งผู้นำนักศึกษา สมาชิกสภาท้องถิ่น และสื่อมวลชนได้ร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้จัดพิธีรำลึกต่อไป โดยในแถลงการณ์ระบุว่า "การต่อสู้ของคนที่ต่อต้านอำนาจ เป็นการต่อสู้ของความทรงจำเพื่อต่อต้านการถูกทำให้หลงลืม"
อนึ่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้จัดทำแบบสอบถาม ซึ่งเผยแพร่ผลสำรวจเมื่อวันศุกร์นี้ (3 มิ.ย.) โดยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 62 เห็นด้วยว่าประชาชนฮ่องกงมีความรับผิดชอบที่จะรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในจีน ในขณะที่ผลสำรวจเมื่อปี 2558 พบว่ามีผู้ตอบเช่นเดียวนี้ร้อยละ 66

แม้มีกระแสเลิกยุ่งกับจีน แต่คนยังร่วมรำลึกเทียนอันเหมินเรือนแสน

ทั้งนี้หนึ่งในการชุมนุมรำลึกการสลายการชุมนุมเทียนอันเหมินที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ในการรำลึก 25 ปีเหตุการณ์เทียนอันเหมินโดยผู้จัดงานคาดว่ามีผู้เข้าร่วม 180,000 คน ขณะที่ตำรวจให้ตัวเลขผู้เข้าร่วมครึ่งหนึ่ง ในขณะที่การเดินรณรงค์เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนร่วมงานรำลึก เมื่อ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมราว 1,500 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดในรอบ 10 ปีมานี้
ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมา HKFP รายงานว่า แม้ปีนี้กลุ่ม localist ประกาศไม่เข้าร่วม แต่ก็มีผู้เข้าร่วมชุมนุมรำลึกเหตุสลายชุมนุมเทียนอันเหมินกว่า 125,000 คน ทั้งนี้จากการประเมินของผู้จัดงาน
หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมปีนี้อย่าง เอวา หว่อง อายุ 36 ปี จดจำได้ว่าครูของเธอร้องให้ต่อหน้านักเรียน หลังเหตุปราบปราม 4 มิถุนายน 2532 "วันหนึ่งสิ่งนี้อาจเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ต่อสู้กับมัน" เอวา หว่องกล่าว
ทั้งนี้เมื่อ 27 ปีก่อนในปี 2532 เกิดการชุมนุมของนักศึกษาและกรรมกรจีนเรียกร้องให้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิรูปประเทศให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น โดยชนวนของการชุมนุมเริ่มขึ้นตั้งแต่การเสียชีวิตของ หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นนักการเมืองสายปฏิรูป โดยมีนักศึกษาชุมนุมเพื่อไว้อาลัยแก่ "สหายหู" และประณามฝ่ายกรมการเมืองในพรรคที่ชะลอการปฏิรูป โดยการชุมนุมค่อยๆ ขยายตัว มีผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในวันที่ 20 พ.ค. รัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึก และเคลื่อนกำลังทหารเข้ามาในกรุงปักกิ่ง
แต่แล้วระหว่างวันที่ 3-4 มิถุนายน 2532 กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ได้เข้าสลายการชุมนุมทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปราบปราม นับเป็นจุดสิ้นสุดของการประท้วงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครองอำนาจในปี 2492 โดยประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนไปจนถึงหลักพัน นอกจากนี้ยังมีนักโทษการเมืองจำนวนมาก

แปลและเรียบเรียงจาก
Organisers say 125,000 attended Victoria Park Tiananmen vigil, despite boycott, HKFP, 5 June 2016 00.50
Remembering Tiananmen Divides Hong Kong’s Pro-Democracy Camp, Selina Wang, Bloomberg, 11:00 PM ICT Updated on June 3, 2016 — 2:44 PM

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 
Top